“คนเวียดนาม” มองการจัดการการเงินส่วนบุคคลไปในทิศทางที่ดี

“แมนูไลฟ์” เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่าคนเวียดนามมองเรื่องการบริหารทางการเงินส่วนบุคคลไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่คนส่วนใหญ่ยังกังวลว่าจะจัดการกับสุขภาพของตนเองได้อย่างไร โดยจากการสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่ารายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2566 และเมื่อถามถึงวิธีการในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40% ทำการออมเงินเพื่อการเกษียณ รองลงมาออมเงินเพื่อค่ารักษาพยายาล 37% ค่าเล่าเรียนของลูกหลาน 32% และออมเงินสำหรับการซื้อบ้านใหม่ 30% ตามลำดับ ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินส่วนบุคคล รวมถึงการออมเงินเพื่อการเกษียณ พบว่าคนส่วนใหญ่ 80% ต้องการถือเงินสด รองลงมาการสนับสนุนทางครอบครัวและมรดก (42%) และการประกันสุขภาพส่วนบุคคลและโรคร้ายแรง (37%) ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดเอเชีย ในขณะเดียวกัน คนเวียดนามมองว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (62%), ภาวะเงินเฟ้อ (60%), สุขภาพที่ย่ำแย่ (51%), การสูญเสียรายได้ (48%) และค่ารักษาพยายาล (38%)

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-people-optimistic-about-personal-finances-post1026170.vov

“เวียดนาม” ลงนามข้อตกลง FTA กับประเทศคู่ค้า 15 ฉบับ

เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักรและรัสเซีย และจนถึงในปัจจุบัน เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ และอยู่ในช่วงขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงการค้าอีก 4 ฉบับ โดยข้อตกลงการค้าหรือเขตการค้าเสรีมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากที่จะส่งเสริมการค้า ความเชื่อมโยงทางธุรกิจและนำเสนอสินค้าเวียดนามไปสู่ผู้บริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลในปีที่แล้ว ระบุว่ายอดการส่งออกที่ใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี มีมูลค่าอยู่ที่ 78.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 33.61% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเวียดนามไปยังตลาดที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี (233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม รายงานว่าอัตราการใช้หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแบบพิเศษ อยู่ที่ 33.61% และอัตราการเติบโตที่ 13.18% แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกของเวียดนามในตลาด FTA ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-signs-15-ftas-with-foreign-partners-2153890.html

“เมียนมา” เผยราคาน้ำตาลพุ่งทะยาน

ราคาน้ำตาลมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดภายในประเทศ และอยู่ในระดับจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ประมาณ 3,300 จ๊าดต่อ Viss เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 680 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ประกอบกับสต๊อกสินค้าในประเทศอยู่ในระดับต่ำและการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศน้อยลง ทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น สาเหตุมาจากการส่งเสริมผู้ปลูกอ้อย นอกจากนี้ คุณ อูวินเท (U Win Htay) รองประธานสมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา กล่าวว่าก่อนหน้านี้ เมียนมาส่งออกน้ำตาลไปยังจีนและเวียดนาม ซึ่งเกินกว่าที่บริโภคไว้ในประเทศ แต่ในปัจจุบันเมียนมาส่งออกเพียงแค่ประเทศเวียดนาม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sugar-price-on-upward-spiral/#article-title

คาด สปป.ลาว ได้รับประโยชน์จาก RCEP

คาด สปป.ลาว จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หลังมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลของ สปป.ลาวและจีน กำลังเร่งเจรจาถึงสัดส่วนที่จะทำการลดหย่อนภาษีศุลกากรระหว่างกัน นำโดย Mr.Chanthavong Seneamatmontry รองประธาน แนวลาวส้างซาด (Lao Front for National Development) ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม RCEP Local Governments and Friendship Cities Cooperation (Huangshan) ประจำปี 2023 ณ เวียงจันทน์ โดยนโยบายการลดภาษีจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง สปป.ลาวและจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งยังคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP อีกด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตลาดยอมรับ โดยปัจจุบัน สปป.ลาว พร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีนเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านธรรมาภิบาลและยกระดับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร รวมทั้งเพื่อประโยชน์สูงสุดของเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Laos_tobenefit_y23.php

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง แม้การส่งออกโดยรวมจะลดลง

กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี ที่สัดส่วนร้อยละ 43.4 จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.99 พันล้านดอลลาร์ ลดลงที่ร้อยละ 23.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 5.18 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการปิดโรงงานและการสูญเสียการจ้างงานที่มีการจ้างมากถึง 850,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุว่าการส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง และการที่มีสินค้าคงคลังมากเกินไปหลังการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ที่ลดลง ตามรายงานของ Tassilo Brinzer ประธานหอการค้ายุโรปในกัมพูชา (EuroCham) ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 20-25 ในกัมพูชาปิดตัวลงส่งผลทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มโครงการร่วมกับเจ้าของโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ตกงานหลังจากการปิดโรงงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306694/cambodias-gft-woes-unabated-as-exports-decline-23/

กัมพูชาเล็งทำข้อตกลงด้านการค้าเสรีร่วมกับญี่ปุ่น

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายหน่วยงานในการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น หลังจากในช่วงปีนี้การส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวข้อความดังกล่าวไว้ในงานสัมมนาที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในยุคดิจิทัลระหว่างญี่ปุ่นและกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) โดยกล่าวเสริมว่าทั้งสองประเทศควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะถัดไปทางการกัมพูชาคาดหวังถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นโดยตรง และกำลังเร่งศึกษา รวมถึงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับสินค้าส่งออกของกัมพูชา ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 442 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306688/cambodia-eyes-free-trade-agreement-with-japan/

นายกฯ พอใจ เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค. เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำที่สุดในอาเซียน

วันที่ 14 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7-2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/politic/2701703