บริษัทญี่ปุ่นจับมือสหกรณ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา

สหกรณ์การเกษตร 12 แห่ง ในกัมพูชา ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท Top Planning และ Kamya เพื่อจัดหาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 100 ตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรกัมพูชาที่กำลังประสบกับปัญหาราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตกต่ำ ภายใต้สัญญาดังกล่าวมีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า โดยในข้อกำหนดเน้นย้ำถึงด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากว่าการลงนามดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้บริษัทญี่ปุ่นตั้งราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดหนึ่งตันไว้ที่ราคา 1,625 ดอลลาร์ต่อตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 670,000 ตัน ไปยังเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501140414/japanese-firms-tie-up-with-cambodia-cashew-cooperatives/

โควิด-19 กระทบแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศ ส่งเงินกลับลดลง 16.6%

โควิด-19 กระทบแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศ ลงเงินกลับประเทศลดลงกว่าร้อยละ 16.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,272 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับในช่วงปี 2014-2019 ที่มีการเติบโตกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี โดยข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยผ่านรายงาน “Asean Migration Outlook” ฉบับแรก ซึ่งปัจจุบันแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศประมาณ 260,000 คน ตกงานหลังจากเกิดการแพร่ระบาดและได้เดินทางกลับมายังกัมพูชา โดยส่วนใหญ่กลับมาจากประเทศไทย ซึ่งในรายงานยังระบุเสริมอีกว่าการตกงานของแรงงานกัมพูชาในต่างชาติส่งผลทำให้ความยากจนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2019 ช่วงก่อนโควิด-19 แรงงานกัมพูชาในต่างประเทศมีมากกว่า 1 ล้านคน โดยกว่า 719,000 คน ทำงานในประเทศไทย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของแรงงานกัมพูชาในต่างชาติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501140226/covid-19-hit-cambodian-migrants-hard-remittances-fell-by-16-6/

“ไทย-เวียดนาม” จับมือดันราคาข้าวตลาดโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยว่าไทยและเวียดนามเห็นด้วยที่จะร่วมมือกันในการยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านับว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยและเวียดนาม ตกลงร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก โดยไทยและเวียดนามได้ริเริ่มในการเจรจาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเป้าหมายตรงกันว่าเรื่องการปรับขึ้นราคาส่งออกข้าว เพื่อยกระดับอำนาจในตลาดโลกและเพิ่มรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ชี้ว่าทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการผลิตข้าวประมาณ 10% ของผลผลิตทั่วโลก และราว 26% ของการส่งออกโลก

ที่มา : https://www.nasdaq.com/articles/thailand-vietnam-to-cooperate-in-raising-rice-price-in-global-

ราคาน้ำมันปาล์มเมียนมา พุ่งแตะ 5,000 จัตต่อ viss

คณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจำหน่ายน้ำมันพืช เผย ราคาน้ำมันปาล์มขายส่งในตลาดย่างกุ้งพุ่งขึ้นเกือบ 5,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม โดยราคากลางได้กำหนด ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. ถึง 4 ก.ย.2565 อยู่ที่ 4,910 จัตต่อ viss ซึ่งเพิ่มขึ้น 50 จัต จากสัปดาห์ก่อนที่ 4,860 จัตต่อ viss ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ติดตามราคา FOB ในตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงค่าขนส่ง ภาษี และบริการด้านการธนาคาร และออกอย่างไรก็ตาม ราคาตลาดปัจจุบันสูงกว่าราคากลางเป็นอย่างมาก โดยจากรายงานพบว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดพุ่งไปถึง 10,000 จัตต่อ viss เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ภาครัฐจึงร่วมมือกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันเพื่อการบริโภคของเมียนมา ได้จัดรถโมบายออกจำหน่ายน้ำมันปาล์มราคาประหยัด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน -ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาย้ำว่าน้ำมันปาล์มมีเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ทั้งนี้เมียนมาสามารถผลิตน้ำมันปรุงอาหารได้ประมาณ 400,000 ตันต่อปี แต่มีการบริโภคในประเทศถึง 1 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียปีละประมาณ 700,000 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-wholesale-reference-price-rebounds-to-nearly-k5000-per-viss/

ชาวสปป.ลาว หลายพันคนได้รับผลกระทบจาก น้ำท่วมฉับพลัน

ประชาชนนับพันคนในจังหวัดภาคเหนือของสปป.ลาว (อุดมไซ บ่อแก้ว หัวพัน พงษ์สาลี) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดจากฝนตกหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยจังหวัดอุดมไซ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ถนนถูกน้ำท่วมและเข้าไม่ได้ บ้านเรือนเสียหาย และไฟฟ้ารวมถึงน้ำประปาถูกตัดขาด ทำให้ประชาชนผู้คนต้องการเสื้อผ้า อาหาร และน้ำดื่มอย่างเร่งด่วน แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากถนนถูกตัดขาด จึงต้องใช้เรือในการอพยพประชาชนออกมา ในขณะเดียวกัน 97 ครัวเรือนในจังหวัดพงสาลีต้องไร้ที่อยู่ ประเมินว่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 5.6 พันล้านกีบ (ประมาณ 363,000 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ อำเภอหินหุบในเวียงจันทน์ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลังจากแม่น้ำล้นตลิ่งฉับพลัน ส่วนจังหวัดหัวพันกำลังเตรียมสถานที่เพื่อรองรับให้กับประชาชนที่ไร้ที่อยู่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-wholesale-reference-price-rebounds-to-nearly-k5000-per-viss/

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีทุนสำรองหนา-เศรษฐกิจแกร่ง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.65 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตาม “เดือน ก.ค. 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยรวม 1.12 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ขณะที่คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 16.7 ล้านคน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค.65 สูงขึ้น 7.61% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 อยู่ที่ 61.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นเดือน ก.ค.65 สูงถึง 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 8.101 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 36.82 บาทต่อเหรียญฯ) แต่ต้องติดตามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และชาติอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงความกังวลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2485840

YRIC รับรอง 4 บริษัทต่างชาติลงทุนในอุตสาหกรรม “CMP” คาด สร้างงานให้ชาวเมียนมาได้ถึง 2,369 ตำแหน่ง

คณะกรรมการการลงทุนเขตย่างกุ้ง (YRIC) ของเมียนมา ให้การรับรองบริษัทต่างชาติ 4 ราย เข้ามาลงทุนในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเน้นไปที่การผลิตสินค้าแบบตัดเย็บ หรือ CMP (Cut, manufacture and produce) ซึ่งได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้วยเงินลงทุนประมาณ 5.143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ถึง 2,369 ตำแหน่ง ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (เดือนม.ค.- เดือนมิ.ย.) มีการลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็น จีน 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ฮ่องกง 59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สิงคโปร์ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เกาหลีใต้ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ไต้หวัน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/yric-endorses-4-foreign-manufacturing-projects-on-cmp-basis-with-2369-jobs/

ญี่ปุ่นบริจาครถยนต์และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ให้สปป.ลาว

นาย. เคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสปป.ลาว ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ได้มอบรถยนต์โตโยต้า เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์ช่วยค้นหาและกู้ภัยสำหรับปัญหาน้ำท่วม ให้กับสปป.ลาว โดยมีน.ส. บัยคำ คัตติยา รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับมอบ ซึ่งการช่วยเหลือของญี่ปุ่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีมูลค่ารวม 1 พันล้านเยน (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/08/29/japan-donates-vehicles-and-rescue-equipment-to-help-flood-stricken-laos/