NBC เปิด 10 นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) เสนอ 10 นโยบาย สนับสนุนการเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของกัมพูชาภายในกรอบปี 2022 กล่าวโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งกล่าวในพิธีปิดการประชุมประจำปีของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ประจำปี 2021 และ 2022 โดยกล่าวเสริมว่าความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในกัมพูชายังคงมีโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ตามแนววิถีปกติใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 10 นโยบาย ได้แก่ 1.การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน 2.การส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียล 3.ดำเนินมาตรการสนับสนุนตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้ 4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงินและความรู้ 5.ช่วยเหลือภาคประชาชนชน ผ่านสาขาธนาคารแห่งประเทศทุกสาขาทั่วประเทศ 6.ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ 7.การเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ 8.เสริมสร้างประสิทธิผลของการต่อต้านการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย 9.การสนับสนุนการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 10.สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มทางด้านการเงินในระดับภูมิภาค

ที่มา:https://www.khmertimeskh.com/501007788/national-bank-of-cambodia-launches-10-policies-to-support-cambodias-economic-growth-in-2022/

เมียนมาส่งออกกาแฟ 450-500 ตันในฤดูกาลนี้

ศูนย์วิจัยและเผยแพร่เทคโนโลยีกาแฟแห่งเมืองปยีนอู้ลวีน เผย เมียนมาจะส่งออกกาแฟประมาณ 450 หรือ 500 ตันในฤดูการนี้ โดยจะถูกส่งออกไปยัง เช่น อเมริกา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ไทย และจีน ปัจจุบันมีการปลูกและผลิตกาแฟคุณภาพสูงและจำหน่ายในเดือนธันวาคมและมีนาคมเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันกาแฟเป็นที่ต้องการอย่างมากและมีการแข่งขันสูง โดยราคาจะอยู่ระหว่าง 4 – 5 จัตล้านต่อตัน ขณะที่ราคาในตลาดต่างประเทศสูงกว่า 5 ล้านจัตต่อตัน ทั้งนี้ไร่กาแฟในจีนและบราซิลถูกภัยพายุพัดถล่ม คาดว่าราคากาแฟเมียนมาน่าจะปรับขึ้นมากที่สุดในรอบสามปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-450-500-tonnes-of-coffee-this-coffee-season/#article-title

‘ตลาดยานยนต์เวียดนาม’ ปี 64 พุ่งทะยาน

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยรายงานพบว่าสมาชิกฯ ทำยอดขายได้ 304,149 คัน ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งออกเป็นยอดขายยานยนต์นั่งส่วนบุคคล ลดลง 3%, ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 17% และยานยนต์เฉพาะทาง เพิ่มขึ้น 50% โดยในบรรดายานยนต์ที่จำหน่ายนั้น มีรถยนต์ประกอบในประเทศ 168,357 คัน รองลงมายานยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ 135,792 คัน ลดลง 10% และเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ฮุนได (Hyundai) ยังคงเป็นแบรนด์ยานยนต์เพียงค่ายเดียวที่มียอดขายสูงสุดในปี 2564 ด้วยยอดขาย 70,518 คัน รองลงมาโตโยต้า (67,533 คัน), เกีย (45,532 คัน), วินฟาสต์ (35,723 คัน), มาสด้า (27,286 คัน), มิตซูบิชิ (27,243 คัน), ฟอร์ด (23,708 คัน) และฮอนด้า (21,698 คัน)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1115045/vn-automobile-market-inched-up-in-2021.html

‘เวียดนาม’ ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียนด้านผลิตไฟฟ้า

หลังจากเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,420 เมกะวัตต์ในปีที่แล้ว ปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านผลิตไฟฟ้า ด้วยกำลังการผลิต 76,620 เมกะวัตต์ นาย Tran Dinh Nhan ผู้อำนวยการการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) กล่าวว่าระดับความสามารถในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มขึ้น 9.8% อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลว่าแหล่งพลังงาน 27% มาจากพลังงานหมุนเวียน และสัดส่วนดังกล่าวที่อยู่ในระดับสูงนั้น ทำให้เกิดอุปสรรคของการจัดจำหน่ายไฟฟ้า อีกทั้ง เมื่อปีที่แล้ว การผลิตไฟฟ้า 60% มาจากพลังงานหมุนเวียดนาม แต่เนื่องจากความต้องการลดลง สาเหตุจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ทั้งนี้ นาย Nguyen Quoc Trung รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนาม กล่าวว่าการผลิตและนำเข้าพลังงานในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 275.5 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าเวียดนามจะเล็งซื้อพลังงานจากจีนราว 380 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ภายในเดือน พ.ย. และ มิ.ย. 2565

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-leads-asean-in-power-production-39389.html

ไทยแฉ‘อินเดีย’ตั้งกำแพง กีดกันนำเข้าแอร์/ร้อง‘WTO’ช่วย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น ออกกฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ของไทย จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อไป จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการที่ต้องจ้างโรงงานในประเทศอินเดียบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่การผลิตในอินเดียสามารถบรรจุสารทำความเย็นและจำหน่ายได้ทันที

ที่มา: https://www.naewna.com/business/629075

นายกฯชื่นชมทุกหน่วยงานผลักดัน FTA ส่งผลให้มูลค่าส่งออกกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.67 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 63,104 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึงร้อยละ 78.51 นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงาน และขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่าจะส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539 ล้านเหรียญสหรัฐ)  นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และนอร์เวย์ ช่วง 10 เดือนแรก มูลค่ารวม 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยสามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.11 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ  2,808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตลาดมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ที่ร้อยละ 67.47

ที่มา : https://www.js100.com/en/site/news/view/113721

ผลสำรวจชี้ ‘คนเวียดนาม’ 76% เล็งท่องเที่ยวในประเทศ ปี 65

วีซ่า (Visa) ผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค (Voice of the Consumer) พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 76% วางแผนที่จะเดินทางเพื่อพักผ่อนในประเทศ และ 38% เดินทางไปต่างประเทศ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเดินทาง สุขภาพและความปลอดภัย กลุ่มตัวอย่าง 63% คำนึงว่าจุดหมายปลายทางรับมือกับโควิด-19 ได้ รองลงมา 48% การฉีดวัคซีน และ 40% จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลดลง ตามลำดับ ทั้งนี้ จุดหมายปลายทางในประเทศของคนเวียดนามส่วนใหญ่จะพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดระยะสั้น ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว ด้วยการรับรองในเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ตลอดจนระบบการชำระเงินดิจิทัลในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาด นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามต้องยกเลิกแผนการเดินทางและหาทางเลือกอื่นสำหรับการท่องเที่ยว จากข้อมูลพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 53% ดูวิดีโอการเดินทางผ่าน Youtube รองลงมา 40% ใช้เว็บไซต์ท่องเที่ยวบนโซเชียลมีเดีย และ 38% ทัวร์เสมือนจริงทางออนไลน์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/76-percent-of-vietnamese-plan-domestic-travel-in-2022/220628.vnp

 

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาด GDP ‘เวียดนาม’ ปี 65 โต 6.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดและเติบโตได้ราว (GDP) 6.7% ปี 2565 และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7% เนื่องจากเห็นสัญญาแนวโน้มระยะกลางเชิงบวก โดยเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ในขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ทั้งนี้ เงินเฟ้อจะกลายเป็นความกังวลมากขึ้นต่อเวียดนามในปีนี้ ปัจจัยทางฝั่งอุปทาน (ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในระยะกลาง และแรงกดดันด้านอุปสงค์จะสร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4% ในปี 2565 เพื่อรองรับกับการขยายตัวของสินเชื่อและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1114426/standard-chartered-forecasts-viet-nam-2022-gdp-growth-at-67-per-cent.html

 

MEODA เริ่มทยอยขายน้ำมันปาล์มให้ร้านค้าปลีก

กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันพืชแห่งเมียนมา (MEODA) จะเริ่มทยอยขายน้ำมันปาล์มในราคาถูกให้กับผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้ประกอบการรถโมบายขายสินค้าและสมาคมต่างๆ ในภูมิภาคและรัฐต่างๆ โดยผู้มีสิทธิซื้อน้ำมันปาล์มต้องปฏิบัติตามกฎที่กำหนดเพื่อชำระเงินเพื่อซื้อน้ำมันพืช ถ้าไม่ชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถซื้อน้ำมันผ่านสมาคมฯ ได้อีก ปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4,800 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) การบริโภคน้ำมันพืชภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี การผลิตน้ำมันเพื่อประกอบอาหารมีประมาณ 400,000 ตัน เพื่อความเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ เมียนมาต้องนำเข้าน้ำมันปรุงอาหารจากมาเลเซียและอินโดนีเซียประมาณ 700,000 ตันต่อปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/meoda-to-sequentially-sell-palm-oil-to-retailers/

 

รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณ

รัฐบาลสปป.ลาวได้ประกาศว่าจะพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลงเหลือเพียง 3,098 พันล้านกีบในปี 2565 ซึ่งเท่ากับ 1.61 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คำมั่นสัญญาดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลพยายามย่างมากในการลดภาระหนี้สาธารณะในช่วงเวลาที่ประสบปัญหาในการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติ รัฐบาลจะปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย ​​และพิจารณาเกณฑ์ในการเก็บภาษีที่จ่ายสำหรับเชื้อเพลิงนำเข้า อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้านำเข้าอื่นๆ ตลอดจนภาษีและค่าธรรมเนียมที่มาจากการทำเหมืองและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะแก้ไขค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับที่ดินและจำนวนภาษีเงินได้จากการโอนสิทธิการถือครองที่ดินตามมูลค่าที่ดินที่คาดการณ์ไว้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ในส่วนของรายจ่าย รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับโครงการที่มีลำดับความสำคัญสูง และคำนึงถึงความประหยัดและประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน รัฐบาลจะลดการใช้จ่ายในกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ การประชุม สัมมนา และกิจกรรมทางสังคม รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณลงต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินรอบด้าน และลดภาระหนี้ของประเทศในอนาคตอันใกล้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt09.php