ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมถึง 377 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งข้อมูลรายงานโดย Korea International Trade Cambodia (KITA) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่าอยู่ที่ 139 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในทางกลับกันกัมพูชานำเข้าสินค้ามูลค่า 237 ล้านดอลลาร์ จากเกาหลีใต้ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าท่องเที่ยว เครื่องดื่ม ยาง ยา ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และส่วนประกอบสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ครัว และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879943/cambodia-south-korea-trade-reaches-377-million-january-may/

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชา

ธนาคารโลกคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชากำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในระดับปานกลางในระยะสั้น ซึ่งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาหดตัวร้อยละ 3.1 ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ความพยายามในการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นทางการคลังจากทางรัฐบาล ซึ่งปกติแล้วเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รวมถึงทางด้านธนาคารโลกระบุว่างบประมาณในปี 2021 ของกัมพูชาก็มีส่วนในการกระตุ้นการลงทุนจากทางภาครัฐที่ได้รับทุนสนับสนุนในประเทศ เพื่อชดเชยการสูญเสียจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยธนาคารโลกระบุเพิ่มเติมอีกว่ากัมพูชาจำเป็นต้องเสริมและเพิ่มข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและประเทศในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879999/world-bank-optimistic-about-economy/

กิจการเวียดนาม ก้าวลงทุนโครงการต่างประเทศ ทั้งสิ้น 21.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามทุ่มเงินรวมทั้งสิ้น 21.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวน 1,420 โครงการ โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนในโครงการภาคเหมืองแร่และภาคเกษตรกรรม และจุดหมายทางการลงทุนยอดนิยมของเวียดนาม อาทิ ประเทศสปป.ลาว กัมพูชาและรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 23.7%, 13.1% และ 12.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนเงินลงทุนใหม่และเงินลงทุนเพิ่มเติมในต่างประเทศ ทั้งสิ้น 546.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ทั้งหมด 15 ประเทศที่ได้รับการลงทุนจากเวียดนาม ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ 302.8 ล้านเหรียญสหัฐ ตามมาด้วยกัมพูชา 89.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดา 32.08 ล้านเหรียญสหรัฐ และฝรั่งเศส 32 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-firms-invest-us2181-billion-in-overseas-projects-868290.vov

เวียดนามเผยเดือน มิ.ย. ทำสถิติขาดดุลการค้า 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตามข้อมูลกรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เวียดนามขาดดุลการค้า 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกเหลืออยู่ที่ 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม ในบรรดาสินค้าที่มียอดขายดิ่งลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ 1.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเครื่องจักร โทรศัพท์และชิ้นส่วน เป็นต้น ตั้งแต่ต้นปีนนี้ เวียดนามมียอดการค้ารวม 288.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็นการส่งออก 143.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 145.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทางผู้เชี่ยวชาญการค้า มองว่าการขาดดุลการค้าดังกล่าวคงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก เนื่องจากบริษัทต่างๆ เพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตามความต้องการ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-records-135-billion-usd-trade-deficit-in-first-half-of-june/203486.vnp

เพียง 3 สัปดาห์ ราคาส่งออกงาเมียนมา พุ่ง 20,000 จัต

ผู้นำเข้าชาวจีนล้วนจับตาราคางาดำที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ (พันธุ์ซาโมน) เนื่องจากมีคุณภาพสูง และมีความต้องการสูงราคาพุ่งถึง 160,000 จัตต่อกระสอบ (45 viss ต่อกระสอบ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 20,000 ต่อกระสอบในสามสัปดาห์ที่ตลาดค้าส่งมัณฑะเลย์ ขณะที่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีราคาเพียง 130,000-143,000 จัตต่อกระสอบ โดยปกติประมาณร้อยละ 80  เมียนมาส่งออกงาไปยังตลาดต่างประเทศ จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่รองลงมาเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน สหราชอาณาจักร เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ กรีซ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยเขตมะกเวเป็นผู้ผลิตเมล็ดงารายใหญ่และยังมีบางส่วนในเขตมัณฑะเลย์และเขตซะไกง์ ในช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2563-2564 (ตุลาคม-มีนาคม) การส่งออกเมล็ดงาทำเงินได้ 284.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลการส่งออกงาของ Central Statistical Organisation มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปีงบประมาณ 2561-2562 มีการส่งออกมูลค่า 212.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีงบประมาณ 2562-2563  มีมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sesame-prices-up-by-k20000-in-three-weeks/

ทางด่วนเชื่อมต่อสปป.ลาว-จีน จะแล้วเสร็จภายใน 10 ปี

โครงการทางด่วนรถไฟสปป.ลาว-จีน คาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 10 ปีในการสร้าง เชื่อมต่อระหว่างเวียงจันทน์และบ่อเต็นที่ชายแดนจีนในแขวงหลวงน้ำทา มูลค่าโครงการกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทางด่วนจะครอบคลุมระยะทางทั้งหมด 440 กม. และประกอบด้วยสี่ส่วนโดยปัจจุบันรัฐบบาลได้อนุญาติให้เปิดใช้งานเพียงส่วนที่สองที่เชื่อมต่อระหว่างแขวงวังเวียงและแขวงหลวงพระบาง ในส่วนอื่นๆยังไม่มีการเปิดใช้ ทางด่วนสปป.ลาว-จีนเป็นโครงการหนึ่งภายใต้โครงการ One Belt, One Road Initiative ของจีน และเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างสปป.ลาวและจีน ทางด่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพยายามของรัฐบาลสปป.ลาว ในการปรับปรุงการขนส่งสินค้าและผู้คนเพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้า ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos121.php

ปริมาณการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นมายังกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวถึง Global Trade Atlas ที่ระบุว่าการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนเพิ่มขึ้นเป็น 204.046 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สู่ 639.475 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยหอการค้ากัมพูชารายงานตัวเลขการส่งออกที่สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี รวมมูลค่า 643 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่ได้ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องหนัง เครื่องสำอาง กระดาษ และเหล็กกล้า ส่วนสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมายังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879441/japanese-exports-to-cambodia-surge/

กัมพูชาร่วมมือกับจีน ส่งเสริมพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

กัมพูชาและจีนเห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาการขนส่ง โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดขึ้นในการประชุมเสมือนจริงที่จัดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมขนส่งกัมพูชา ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของจีน ซึ่งตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศกัมพูชา ไปจนถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกัมพูชาให้มีทักษะความสามารถ เป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานโลก นอกจากนี้ทางการกัมพูชายังได้ทบทวนความคืบหน้าในการก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่ดำเนินการสร้างโดย China Road and Bridge Corp. รวมถึงยังร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกระแจะและกำปงธม ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้สัมปทานจากประเทศจีนอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879451/cambodia-china-agree-to-boost-transport-development-cooperation/

‘ศักดิ์สยาม’ เร่งลงทุนขนส่งบูม ศก.ไทย ปักธงฮับอาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ในงานสัมมนาเรื่อง “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2019 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6 เนื่องจากมีวัคซีนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้การคมนาคมขนส่งของประเทศมีความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ และการเตรียมความพร้อมการคมนาคมขนส่งทางอากาศรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox)

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/656301