ไทยผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติระหว่างอาเซียนและจีน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงวันที่ 6-8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าประเทศสมาชิกอาเซียน ชื่นชมการสนับสนุนของจีนแก่อาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เช่น การสนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการสนับสนุนวัคซีนแก่ประเทศต่างๆ อีกทั้งจีนยังเป็นภาคีภายนอกของอาเซียนประเทศแรก ที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อปี 2564 ตลอดจนร่วมยินดีที่อาเซียนและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของกันและกันในปัจจุบัน โดยที่ประชุมฯ ยังร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต เช่นการฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาดและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ปี 2564 – 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ในส่วนของไทยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210609155346278

ปลื้มค้าไทย-เวียดนามโต ‘จุรินทร์’ยัน4เดือนแรกขยายตัว20%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ได้ให้การต้อนรับนายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr.Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ และการค้าในยุคโควิด-19 พร้อมผลักดันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสินค้าไทยและเตรียมฉลองครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม ใน 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. – เม.ย.) ขยายตัวถึง 20% แม้ในปี 2563 การค้าสองฝ่ายจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มูลค่า 600,000 ล้านบาททำได้ 517,524 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทั้งนี้ การหารือดังกล่าว มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-เวียดนาม (Joint Trade Committee: JTC) และ ประเด็นที่ 2 เวียดนามได้สนับสนุนความเห็นของไทยในการประชุมเอเปกที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.naewna.com/business/578555

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดที่สดใสของนักลงทุนต่างชาติ

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เผยเวียดนามได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับคาดว่าเวียดนามจะมีจำนวนประชากรสูงถึง 106 ล้านคนในปี 2593 ด้วยจำนวนคนชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อภาคธุรกิจค้าปลีก ทั้งนี้ Torben Minko รองประธานหอการค้ายุโรปในเวียดนาม กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมีความมั่นใจถึงความพยายามและมาตรการรับมือต่างๆในการต่อสู่กับโควิด-19 ของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดของหอการค้ายุโรป เผยว่าดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (BCI) พุ่งแตะระดับ 73.9 จุด ในไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ก่อนเกิดการระบาด เมื่อถามถึงแนวโน้มสภาพแวดล้องทางธุรกิจเวียดนามในไตรมาสหน้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน นอกจากนี้ หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง Moody’s, S&P และ Fitch ปรับมุมมองในทิศทางที่เป็นบวกต่อเวียดนาม

องค์กรระหว่างประเทศ มีมุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เวียดนามในเชิงบวก ด้วยอัตราการขยายตัว 6.7% ปีนี้ และ 7.3% ในปี 2565 อีกทั้ง ตามรายงานของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.5% ในปี 2564 ในขณะที่ บริษัทฟิทช์ Fitch Ratings (Fitch) ตั้งเป้าขยายตัวไว้ที่ 7% ทั้งนี้ คุณทิม อีแวนส์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท HSBC ได้เน้นย้ำถึงผลประโยชน์อันมหาศาสจากการทำธุรกิจในเวียดนาม ภายในการสัมมนาผ่านเว็บที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่างธนาคารและสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ คุณมิเชล วี ผู้อำนวยการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประจำเวียดนาม กล่าวว่าความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/international-organizations-hold-optimistic-view-on-vietnam-economic-outlook-317653.html

สปป.ลาวรับทุนจากสหรัฐฯ สนับสนุนการวิจัยด้านโภชนาการในสปป.ลาว

บริการบรรเทาทุกข์คาทอลิก (CRS) และกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจสำหรับโครงการสร้างขีดความสามารถในการวิจัยโภชนาการประยุกต์ (ANRCB) โครงการนี้ได้รับทุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ผ่านโครงการ LASER PULSE ที่นำโดยมหาวิทยาลัย Purdue ซึ่งจะทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการใน สปป. ลาว สปป.ลาวยังคงมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงโภชนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และโครงการใหม่นี้จะระบุแนวทางใหม่ในการปรับปรุงชีวิตของผู้คนให้ความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและความท้าทายของรัฐบาลสปป.ลาวในปัจจุบันและอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_109.php

กัมพูชาเร่งการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังญี่ปุ่น

เม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปจำนวนกว่า 7.6 ตัน ที่ผ่านการแปรรูปในจังหวัดกำปงธม ได้ทำการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดแรกที่ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นภายใต้สัญญาระหว่างทางกัมพูชาร่วมกับ Top Planning Japan Co Ltd. ซึ่งผู้ประกอบการในกัมพูชาวางแผนที่จะส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชุดที่สองอีกกว่า 9 ตัน โดยจะผลิตในปลายเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาดในต่างประเทศจากการที่ญี่ปุ่นทำการนำเข้า ซึ่งในปัจจุบันตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาคือเวียดนาม ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์รวม 801,732 ตัน ไปยังเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 321 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนอื่นๆจะจัดส่งไปยังจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50870058/cashew-nuts-bound-for-japan/