NBC คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาจะกลับมาเติบโตร้อยละ 4 ในปี 2021

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2021 ตามรายงานด้านเศรษฐกิจและการธนาคารของ NBC ฉบับปรับปรุงประจำปี 2020 โดยการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวกนั้นขึ้นอยู่กับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ซึ่ง NBC กล่าวเพิ่มเติมว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยสนับสนุนและบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งยังส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน ในการเสริมสร้างกิจกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นร่วมด้วย ซึ่งรัฐบาลได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศว่าจะหดตัวร้อยละ 1.9 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50799755/nbc-kingdoms-economy-to-grow-by-4-percent/

สปป.ลาวสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลไทยหลังการระบาดของ COVID -19 ครั้งใหม่

สปป.ลาวสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยชั่วคราวหลังพบ COVID -19 ระบาดครั้งใหม่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสปป.ลาวกังวลว่าอาหารทะเลอาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส ดังนั้นการนำเข้าจึงถูกระงับโดยมีผลทันที คำสั่งห้ามดังกล่าวมีผลหลังจากที่อำเภอสมุทรสาครของไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดของ COVID -19 ครั้งใหม่โดยมีพบผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน ส่งผลโดยตรงต่อผู้นำเข้าอาหารทะเลในสปป.ลาวได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถนำเข้าได้ สมุทรสาครถือเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมประมงใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีมูลค่าในปี 2562 กว่า 5.8 พันล้านบาท ดังนั้นการเกิดการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียเงินจากการส่งออกอาหารทะเลไปยังสปป.ลาวกว่า 100 ล้านบาท

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos251.php

ททท.คาดปีใหม่เงินสะพัดท่องเที่ยวแค่หมื่นล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2564 คาดว่าหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของนักท่องเที่ยวเกิดความหวั่นวิตกกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ทั้งนี้ ททท.ประเมินว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวปีใหม่ 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วัน ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.63 – 3 ม.ค. 64 คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางภายในประเทศ 2.75 ล้านคน-ครั้ง และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากว่า 10,742 ล้านบาท โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 37% ซึ่งลดลงจากปีก่อนมาก เพราะปีที่ผ่านมามีวันหยุดยาวถึง 5 วัน และมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เพราะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสร้างรายได้หมุนเวียนมากถึง 23,800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเกิดล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็ยังไม่นำไปสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ดังนั้น บางพื้นที่จึงยังจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 64 ที่ ททท. เป็นผู้จัด หรือร่วมสนับสนุนการจัดงานใน 4 พื้นที่ทั้งเมืองหลักและเมืองรองตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ราชบุรี และร้อยเอ็ด แต่การจัดงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ยกระดับความปลอดภัยตามมาตรการควบคุมโรค คาดว่ามีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่ประมาณ 4.71 แสนคน-ครั้ง และมีรายได้หมุนเวียน 1,800 ล้านบาท

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/814874

กัมพูชาร่วมมือกับเวียดนามในการรับมือโควิด-19

กัมพูชาและเวียดนามได้ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชากล่าวในแถลงการณ์ โดยคำปฏิญาณดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างกัมพูชา-เวียดนามด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 18 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเป็นประธาน โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการป้องกันและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่การค้าสินค้าข้ามพรมแดนและการลงทุนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กัมพูชามีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้วทั้งสิ้น 363 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเป็น 0 พร้อมกับได้รับการรักษาฟื้นตัวแล้ว 349 ราย ในขณะที่เวียดนามมีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 1,420 ราย จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 35 ราย และได้รับการฟื้นตัวแล้วทั้งสิ้น 1,281 ราย ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของทั้งทั้งสอง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50796851/cambodia-vietnam-vow-close-cooperation-to-fight-covid-19/

การค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชายังคงดำเนินต่อแม้มีการติดเชื้อภายในประเทศไทย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยพุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดในเขตจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อเกือบ 1,000 คน ทำให้รัฐบาลกัมพูชากังวลเป็นอย่างมากจากการระบาดรอบใหม่นี้ แต่อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรการพิเศษด้านศุลกากรโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศกล่าวว่ายังคงสามารถทำการค้าระหว่างกันได้ตามปกติ ณ ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายใต้มาตรการที่ได้ทำการกำหนด โดยรองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่าจนถึงขณะนี้การค้าชายแดนกัมพูชา-ไทยยังคงปกติและไม่มีปัญหาความแออัดหรือความล้มเหลวในการเคลียร์สินค้าเนื่องจากมาตรการความปลอดภัย โควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นจากทั้งสองรัฐบาล ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารแช่แข็ง และวัตถุดิบแปรรูปจำนวนมาก ที่ขายในตลาดกัมพูชาที่ทำการนำเข้าจากประเทศไทย จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นว่าปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยอยู่ที่ 5.569 พันล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการส่งออกของกัมพูชาอยู่ที่ 958 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 48 ในขณะที่การส่งออกไปกัมพูชาของไทยอยู่ที่ 4.611 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9 ซึ่งการลดลงของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเกี่ยวข้องกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคระบาดในปีนี้เป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50796894/business-as-usual-despite-recent-thai-virus-outbreak/

เมียนมาจับมืออินเดียร่วมผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19

เมียนมาอยู่ระหว่างการหารือเพื่อซื้อและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด -19 ร่วมกับบริษัทยาของอินเดียในประเทศ จากการหารือระหว่างนาย Saurabh Kumar เอกอัครราชทูตอินเดียประจำเมียนมาและกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา (MOHS) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 63 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีตัวเลือกผลิตวัคซีน 13 ชนิด แต่กำลังพิจารณาผลิตวัคซีนบางชนิดในประเทศโดยร่วมมือกับอินเดียและร่วมมือกันจัดตั้งหน่วยงานด้านเภสัชกรรมในการผลิตยา ปัจจุบันอินเดียมีการลงทุนมูลค่า 773 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 35 ภาคธุรกิจในเมียนมา ซึ่งเมียนมากำลังสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่น่าดึงดูดและยืดหยุ่นเพื่อต้อนรับนักลงทุนจากอินเดีย ขณะนี้กำลังขอทุนจากธนาคารโลก, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย, สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อผลิตวัคซีน ในปีงบ 63-64 แต่ละกระทรวงอาจถูกขอให้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งใหม่เพื่อจ่ายค่าวัคซีนหากจำเป็น ซึ่งเมื่อปีที่แล้วกระทรวงต่างๆ ได้รับการร้องขอให้จัดสรรงบประมาณอีก 10% ให้กับแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 ทั้งนี้ MOHS กำลังหารือกับจีนและรัสเซียเพื่อขอรับวัคซีนเพิ่มเติม เมียนมาคาดว่าจะสามารถใช้ฉีดวัคซีนได้ในเดือนเมษายน 64 ประมาณ 20% จากจำนวนประชากร 54.4 ล้านคน ภายในสิ้นปีหน้าคาดว่า 40% ของจำนวนประชากรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 และจะต้องได้รับการรับรองจาก WHO

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-talks-india-buy-make-covid-19-vaccines.html

เวียดนามขาดดุลการค้าในช่วงครึ่งเดือนแรกธันวาคม

กรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าเวียดนามขาดดุลการค้า 883 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของเดือนธันวาคม หลังจากเกินดุลการค้ามาหลายเดือน โดยยอดส่งออกลดลงร้อยละ 8.3 จากครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน คิดเป็นมูลค่า 12.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน เครื่องจักร เหล็กและยานยนต์ที่ลดลงเป็นตัวเลข 2 หลัก ในขณะเดียวกัน การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คิดเป็นมูลค่า 13.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม เวียดนามยังคงเกินดุลการค้าอยู่ที่ 19.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ  517 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกของเวียดนามที่มีตัวเลขอยู่ในระดับสูง ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรปและอาเซียน

  ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-posts-trade-deficit-halfway-into-december-4211443.html

เวียดนามเผยการเติบโตของสินเชื่อ 10.14%

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อ ณ วันที่ 21 ธันวาคม อยู่ที่ร้อยละ 10.14 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นายดาว มินห์ ทู รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม เปิดเผยการเติบโตของสินเชื่อเวียดนาม แตะร้อยละ 13 ขณะที่ ธนาคารกลางตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 14 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย นับเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงมากถึงร้อยละ 0.5 เป็นต้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 4, ปรับอัตราดอกเบี้ย rediscount rate ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5, อัตราดอกเบี้ยข้ามคืน ลงจากร้อยละ 5.5 สู่ระดับร้อยละ 5 และอัตราดอกเบี้ยผ่าน OMO ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5 นอกจากนี้ สถาบันสินเชื่อได้ปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้กับลูกค้ากว่า 270,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 15.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-credit-growth-hits-1014-as-of-december-21-315538.html