อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 15.05.2563

เวียดนามมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 24 ราย – นายกรัฐมนตรีเวียดนามหารือกับ 5 ประเทศ แนวทางการการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชน (Local Transmission) เป็นวันที่ 29 แต่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กลับจากต่างประเทศ 24 ราย
  • วันนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามแถลงผลการประชุมคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนี้
    • ที่ประชุมได้หารือแนวทางการรับมือชาวเวียดนามที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นคนกลุ่มดังกล่าว
    • ขอให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับชุมชน และหากมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศและชายแดนทางบกในอนาคต
    • ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเวียดนามจะอำนวยความสะดวกการเดินทางกลับเข้าเวียดนาม สำหรับผู้เชี่ยวชาญ แรงงานที่มีทักษะสูง และนักลงทุน

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับใช้

  • ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • บุคคลที่เดินทางเข้าเวียดนามจะถูกกักตัว 14 วัน

ประเด็นอื่นๆ

  • ผู้นำเวียดนามได้หารือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อแสดงหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยร่วมมือกับอาเซียน สหประชาชาติ และกลไกต่างๆ

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 06.05.2563

เวียดนามไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในระดับชุมชน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สถานทูตไทยเตรียมส่งคนไทยกลับวันเสาร์นี้

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามยังไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชนติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว (Local Transmission)
  • นายกรัฐมนตรีเวียดนามสั่งการให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ร้อยละ 5 (ซึ่งมากกว่าที่ IMF คาดการณ์ว่า วน.ไว้ที่ร้อยละ 2.7) เพื่อลดแรงกดดันจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มุ่งสร้างงาน ขจัดความยากจน และสนับสนุนประกันสังคม
  • บริษัท VABIOTECH ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Bristol สหราชอาณาจักรเพาะ antigen ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตวัคซีนได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้ทดลองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหนูและอยู่ระหว่างประเมินผล

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับ

  • รัฐบาลเวียดนามขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมมือ มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • รักษาระยะห่างทางสังคม 1 เมตร
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามยังจะถูกกักตัว 14 วัน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

สภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขผลกระทบของมาตรการสกัดกั้นโรค โควิด 19 ต่อภาคเอกชน

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 28.04.2563

สอท. ณ กรุงฮานอย สถานะ ณ วันที่ 28 เมษายน 2563 ระบุว่าผู้ติดเชื้อ 270 (+2) ราย, รักษาหาย 222 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชนติดต่อกัน 11 วันแล้ว (Local Transmission)
  • รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้เปิดบริการการค้าส่งการค้าปลีก การขายสลากกินแบ่ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ และเมืองหลักต่างๆแล้ว โดยปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย
  • อนุญาตการให้บริการคมนาคมขนส่ง ทั้งนี้ คนขับรถและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัย
  • เวียดนามร่วมมือกับ National Institute of Hygiene and Epidemiology และ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นในการพัฒนาชุดตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 95 และราคาถูกกว่าชุดตรวจจากต่างประเทศ

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับใช้

  • รัฐบาลเวียดนามขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมมือ มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • รักษาระยะห่างทางสังคม 1 เมตร
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • ยังไม่อนุญาตให้ธุรกิจอื่นที่ไม่จำเป็น (สถานบันเทิง ร้านทำผม ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด บาร์และไนท์คลับ) เปิดให้บริการ
  • ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามยังจะถูกกักตัว 14 วัน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก      

  • กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
  • เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
  •  เมียนมา  เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
  • สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 23.04.2563

พัฒนาการที่สำคัญดังนี้

  • เวียดนามยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
  • เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 นายกรัฐมนตรีเวียดนามเห็นชอบให้ลดระดับกรุงฮานอยนครโฮจิมินห์ จ.บั๊กนิงห์ จ.เหิ่วซาง จากกลุ่มเมืองจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมาก เป็น ความเสี่ยงปานกลาง และผ่อนผันมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม
  • กระทรวงคมนาคมอนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ และเปิดเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างจังหวัดอื่นๆ
  • โรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยในกรุงฮานอยเตรียมจะเปิดเรียนในวันที่ 4 พ.ค. 2563 สำหรับโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมจะเปิดเรียนในวันที่ 11 พ.ค. 2563
  • รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบแผนงานที่จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีเงินได้และค่าเช่าที่ดินเป็นเงิน 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ที่ 20/2563 เรื่อง การขออนุญาตอยู่ต่อของคนต่างประเทศใน สปป. ลาว ในระยะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (เพิ่มเติม)

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ มาตรการของภาครัฐและประมาณการเศรษฐกิจเวียดนาม