CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 แห่ง มูลค่ารวม 15 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เพิ่งอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการมูลค่าเกือบ 15 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานมากกว่า 4,000 ตำแหน่ง ภายในท้องถิ่น โดย CDC ได้ออกใบรับรองการลงทะเบียนขั้นสุดท้ายให้กับ Shining Fashion Industrial Co., Ltd. เพื่อตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในจังหวัดกันดาล ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะลงทุนรวม 3.4 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานในท้องถิ่นรวม 947 ตำแหน่ง โครงการที่ 2 คือของบริษัท Kicyn (Cambodia) Co., Ltd. วางแผนตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ามูลค่าการลงทุนรวม 6.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างการจ้างจำนวน 2,947 ตำแหน่ง ในเขตจังหวัดตาแก้ว และโครงการที่ 3 เป็นของบริษัท Melyo Plastic Technology Co., Ltd. วางแผนสร้างโรงงานเพื่อผลิตถังน้ำแข็งและภาชนะพลาสติกอื่นๆ ในจังหวัดกำปงชนัง มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 4.7 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสร้างงานให้กับท้องถิ่นรวม 167 ตำแหน่ง โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานในประเทศทั้งหมด 800,000 ตำแหน่ง ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มแพร่กระจายในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50925298/cdc-approves-three-factory-investments-valued-at-15-mn/

การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำบาเค็งในกัมพูชา แล้วเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 38

การประปาส่วนภูมิภาคพนมเปญ (PWSA) กล่าวว่าโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำบาเค็ง เฟสที่ 1 ตอนนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 38 หลังจากเร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำดื่มที่เพิ่มขึ้นในเมืองพนมเปญและเมืองตาแก้วของจังหวัดกันดาล โดยโครงการประกอบด้วยงานหลัก 4 งาน ได้แก่ โรงบำบัดน้ำ สถานีสูบน้ำ การติดตั้งท่อส่งหลัก และติดตั้งท่อขนาดเล็กใต้แม่น้ำ ซึ่งขณะนี้โรงบำบัดน้ำเสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 10 และการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 15 ด้านความคืบหน้าของท่อส่งหลักและท่อย่อยในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ร้อยละ 53 และร้อยละ 30 ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เฟสที่ 1 มีมูลค่าอยู่ที่ 190 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการก่อสร้างเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 195,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2022 ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำสะอาดในเมืองหลวงและเมืองตาเขมา มีมากกว่า 700,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปัจจุบันผลิตน้ำสะอาดเพียง 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50924129/bakheng-water-treatment-plant-construction-38-percent-complete/

ผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา 9 รายการ ถูกยกขึ้นเป็นพืชมูลค่าสูง

รัฐบาลออสเตรเลียได้จัดทำรายการพืชผลมูลค่าสูงของกัมพูชาจำนวน 9 รายการ โดยได้ศึกษาห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า มะม่วง ถั่วเลนทิล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริก มันเทศ อะโวคาโด งา น้ำตาลปี๊บ และกล้วยตาก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ โดยเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายให้กับเกษตรกร ผู้แปรรูป และผู้ที่มีส่วนได้เสียในภาคการเกษตรของกัมพูชาในการวางแผนการผลิตพืชผล ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาหวังว่าจะเพิ่มความต้องการในตลาดสำคัญๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป จีน และอาเซียน และหาผู้ซื้อรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งภาคเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา ส่วนการจ้างงานคิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 65 ของประชากรภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50924268/nine-agricultural-products-listed-as-high-value-crops/

กัมพูชาเร่งหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อรองรับผลผลิตลำไยภายในประเทศ

เกษตรกรชาวกัมพูชาคาดการว่าจะเก็บเกี่ยวลำไยในฤดูได้จำนวน 111,000 ตัน ในปีนี้ โดยกัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 13,600 เฮกตาร์ ในพื้นที่ 14 จังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เพราะปลูกพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งกัมพูชาจะส่งออกลำไยในรูปแบบอบแห้งหรือบรรจุกระป๋องในน้ำเชื่อมเป็นสำคัญ โดยกระทรวงเกษตรพยายามเพิ่มยอดขายด้วยการเปิดตลาดส่งออกใหม่มากขึ้น ซึ่งลำไยถูกกำหนดให้เป็นผลไม้กัมพูชาชนิดที่ 3 ที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนหลังจากก่อนหน้าได้ทำการส่งออก กล้วยและมะม่วง ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไปแล้ว โดยจีนตกลงที่จะเริ่มนำเข้ามะม่วงของกัมพูชาจากโรงงานแปรรูป 5 แห่ง และจากสวน 37 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชที่ทางการกำหนดไว้สำหรับการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50923413/new-export-markets-will-be-needed-to-absorb-the-looming-longan-surplus-from-new-yield-forecast/

กัมพูชาเล็งปรับใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาบริหารงบประมาณแผ่นดิน

ทางการกัมพูชามุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการจัดการงบประมาณแผ่นดิน ผ่านระบบการจัดการทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (FMIS) โดยความคืบหน้านี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในระหว่างการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการการเงินสาธารณะ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่ง FMIS ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการปฏิรูปการจัดการการเงินสาธารณะที่ริเริ่มโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการจัดการงบประมาณแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านรายจ่ายงบประมาณของประเทศ ด้วยการปรับปรุงมาตรฐานการจัดการและความรับผิดชอบในการระดมทรัพยากรปัจจุบันและทุนของรัฐบาลทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50922444/cambodia-to-change-to-electronic-system-to-manage-national-budget/

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา กำหนดนโยบายรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ตัดสินใจกำหนดนโยบายที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาสถัดไป โดยการตัดสินใจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 56 ที่จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึง NBC จะยังคงเสริมสภาพคล่องในระบบต่อไปผ่าน Liquidity-providing collateralized operations (LPCO) เพื่ออัดฉีดเงินเรียลเข้าสู่ระบบตามความต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น  โดยผู้ว่าการกล่าวว่าในปี 2020 มูลค่าของเรียลต่อดอลลาร์มีเสถียรภาพค่อนข้างดีแม้จะอ่อนค่าลงเล็กน้อย (น้อยกว่าร้อยละ 1) ซึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน NBC พยายามลดหรือจำกัดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อดูดซับหรืออัดฉีดสภาพคล่องภายในระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50922563/cambodian-monetary-policy-to-maintain-exchange-rate-stability/

เวียดนามถูกจัดเป็นนำเข้ามะม่วงรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกมะม่วงรวม 140,000 ตัน หรือร้อยละ 86.8 ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมดไปยังเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา ระบุว่า ทางการเวียดนามรายงานถึงปริมาณการส่งออกมะม่วง ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 248 หรือคิดเป็นปริมาณ 161,228 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนอกจากมะม่วงสดแล้วกัมพูชายังส่งออกแยมมะม่วงเกือบ 13,525 ตัน คิดเป็นการส่งออกไปยังเวียดนาม 77 ตัน, ไปยังประเทศไทย 1,000 ตัน และ ไปยังจีน 11,000 ตัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี โดยในปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงราว 126,668 เฮกตาร์ ส่งออกมะม่วงไปแล้ว 845,274 ตัน มูลค่ากว่า 473.2 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รัสเซีย และฝรั่งเศส เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50921620/vietnam-biggest-buyer-of-cambodias-mangoes/

ภาคเอกชนไทยสนับสนุนการเข้าร่วมประชุม ATF 2022 ณ กัมพูชา

กัมพูชาได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน “ASEAN Tourism Forum 2022” ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางการกัมพูชาได้นำเสนอเกี่ยวกับความพยายามในการควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 รวมถึงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เชิงนิเวศและชายฝั่ง เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทวิภาคี ผ่านการส่งเสริมแพคเกจทัวร์รวมกัน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50921510/thai-private-sector-encouraged-to-attend-atf-2022-in-cambodia/

CDC อนุมัติโครงการโรงงานผลิตกระเป๋ามูลค่า 2.4 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล เงินลงทุนราว 2.4 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะสร้างงานจำนวน 380 ตำแหน่ง สำหรับคนในท้องถิ่น โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา CDC ได้อนุมัติโครงการใหม่ 10 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมเกือบ 80 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเน้นไปที่โรงงานผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง และรองเท้า เป็นสำคัญ โดยปีที่แล้วมีโรงงานมากกว่า 101 แห่ง ปิดตัวลง ตามกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศไว้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ โดยถือเป็นปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50920851/2-4-million-bag-and-shoe-factory-gets-cdcs-nod/

นักวิจัยกัมพูชาเตรียมเปิดตัวพันธุ์ข้าวใหม่เร็วๆนี้

นักวิจัยข้าวของกัมพูชาเตรียมจะเปิดตัวพันธุ์ข้าวใหม่ ที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตสูง ซึ่งให้ผลผลิตได้ดีกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา (CARDI) กล่าวว่าพันธุ์ใหม่นี้เป็นข้าวลูกผสมระหว่างข้าวหอมที่พัฒนาโดยทีมวิจัยตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งยังไม่ถูกกำหนดตั้งชื่อ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรภายในประเทศ และเป็นการค้นหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา CARDI ได้พัฒนาและเผยแพร่พันธุ์ข้าวมากกว่า 40 สายพันธุ์ ให้กับเกษตรกร ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 มีการส่งออกข้าวสาร 280,450 ตัน ลดลงร้อยละ 29.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 โดยการส่งออกข้าวเปลือกแตะระดับ 1,692,813 ตัน ในปี 2020 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50920852/cambodian-researchers-to-launch-new-rice-variety-shortly/