เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น

ธุรกิจในเวียดนามจำนวนมากได้รับคำแนะนำให้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อคว้าโอกาสในการรับกระแสการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 2,000 ราย เข้ามาลงทุนในเวียดนามช่วงสิ้นปี 2562 รองลงมากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 59.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.6 ของเงินทุนรวม โดยข้อมูลข้างต้น เกิดหลังจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยรายชื่อบริษัท 15 รายที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทยและสปป.ลาว ทั้งนี้ ตามการสำรวจของเจโทร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่าธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 ดำเนินกิจการในเวียดนาม สิ่งนี้เป็นโอกาสอันดีแก่ธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือและเชื่อมต่อกับธุรกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนและสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/24421-vietnam-regarded-as-top-investment-destination-for-japan-businesses.html\

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังจีน อยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ยอดมูลค่ารวมนับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ราว 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนเป็นตลาดสำคัญของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดในปีนี้ อยู่ที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่ามีสัญญาเชิงบวกหลายด้าน แต่ความตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) จึงอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังจีน ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ปฏิรูปสถาบันและลดขั้นตอนการจัดการ เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุนธุรกิจ นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ได้ไปเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในเมืองหางโจวและเจ้อเจียง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจในจีนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ที่มา : https://vnexplorer.net/china-retains-vietnams-largest-trade-partner-a2020128284.html

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ (CBU) จำนวน 86,000 คัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์อยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อยู่ที่ราว 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.3 พันล้านดอลลาราสหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 350 ล้านด่อง (15,000 ดอลลาร์สหรัฐ) – 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (51,700 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญ มองว่าขนาดของการผลิต, การยกเว้นภาษี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดใหญ่

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnamese-spend-1-9-bln-on-imported-cars-4195897.html

แบงก์ชาติเวียดนามหั่นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 หวังบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP

จากการที่อัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลงในอีกไม่กีปีข้างหน้า เนื่องมาจากราคาเนื้อหมูลดลง ราคาน้ำมันและราคาก๊าซอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.5-3 ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ทางธนาคารกลางเวียดนาม ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงมาถึงร้อยละ 0.5 ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 4 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย rediscount rate ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5 เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยังสั่งให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดสำหรับระยะสั้น ลงเหลือร้อยละ 4.5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและการส่งออก เป็นต้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-set-for-5th-policy-rate-cut-to-realize-gdp-growth-target-314966.html

เวียดนามเผยข้อตกลง RCEP จะไม่ทำให้ขาดดุลการค้ามากขึ้น

จากตัวเลขสถิติ ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามขาดดุลการค้ากับจีน เกาหลีใต้และอาเซียน อยู่ที่ 27.71, 21.37 และ 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าพุ่งขึ้น ในขณะที่ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าเวียดนามได้เข้าร่วมความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) และเขตการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนและกลุ่มประเทศคู่ค้า ซึ่งหมายความว่าได้เปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง “RCEP” มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุน ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลงดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขาดดุลการค้าในระยะยาวของเวียดนาม ทั้งนี้ นาย Nguyen Thi Quynh Nga รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการค้าพหุภาคีของกระทรวงฯ เร่งให้ธุรกิจในประเทศศึกษาถึงข้อตกลงดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและฝ่าอุปสรรคทางการค้าที่รุนแรงได้ในตลาดในประเทศ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rcep-will-not-worsen-trade-deficit-ministry/190918.vnp

บ.น้ำมัน “PetroVietnam” ยังคงท็อป 3 บริษัทรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน

ตามรายงานของ Vietnam Assessment Report (Vietnam Report) ร่วมกับ VietNamNet เปิดเผยการจัดอันดับอย่างเป็นทางการ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม (VNR500) พิจารณาจากรายได้, กำไร, อัตราการเติบโต, แรงงาน, ส่วนของเจ้าของและสินทรัพย์รวม ซึ่งถือเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวียดนาม (PetroVietnam) ติดอันดับที่ 3 จากจำนวน 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม รองจากซัมซุงเวียดนามที่อยู่ในอันดับที่ 1 และการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) อันดับที่ 2 ทั้งนี้ บริษัท PetroVietnam  นับติดอันดับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าธุรกิจได้ทำผลงานที่โดดเด่นในด้านการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงกำไรสูง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/petrovietnam-remains-in-vietnams-top-3-largest-firms-for-10th-consecutive-year/190897.vnp

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของเวียดนาม พยายามหาทางออกจากวิกฤติที่คาดไม่ถึง

ในการประชุม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นาย Hoang Quang Phong รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่าบริษัทเครื่องดื่มอย่าง Sabeco, Habeco, Carlsberg Vietnam และ Heineken Vietnam มีส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเวียดนาม รวมกันร้อยละ 90 แต่ด้วยปัจจัยลบจากการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวล้มเหลวไปสู่อุตสาหกรรมโดยรวมในไม่กี่ปีข้างหน้า และอีกปัจจัยหนึ่ง คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงนโยบายของภาครัฐฯ ในปัจจุบัน ที่ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศเข้าสู่วิกฤติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า คาดว่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปี 2562 มีสัดส่วนร้อยละ 15 ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม “Sabeco” ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีกำไรลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 44 ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่ผลการดำเนินงานเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 มีกำไรอยู่ที่ 63.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประเด็นของทางออกจากวิกฤต นาย Nguyen Van Viet กล่าวว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจในท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีส่วนน้อยร้อยละ 2 ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐฯ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-beverage-industry-struggles-to-find-way-out-of-unprecedented-crisis-314924.html

ผลการดำเนินงานของธนาคารเวียดนามดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ในรายงานฉบับใหม่ เปิดเผยว่าผลประกอบการดำเนินงานของธนาคารเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ฟื้นตัวและความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าว คาดการณ์ว่าผลประกอบการของธนาคารจะฟื้นตัวในปี 2564 จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในไตรมาสที่ 3

ที่มา : https://www.vir.com.vn/vietnamese-banks-performance-improves-with-economic-recovery-80916.html


เวียดนามนำเข้ารถยนต์จำนวนมากจากไทย อินโดนีเซีย

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศมากที่สุด (CBU) จากไทย จำนวน 38,800 คันและอินโดนีเซีย จำนวน 28,900 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของการนำเข้ารวม ทั้งนี้ ในภาพรวม มูลค่าการนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ อยู่ที่ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนมากกว่า 80,000 คัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 33.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม เวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศทั้งหมด อยู่ที่ 13,650 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-imports-most-cars-from-thailand-indonesia-818105.vov

เวียดนามเกินดุลการค้า แตะ 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. ปี 63

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดเกินดุลการค้าในเดือนต.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลักดันให้ยอดเกินดุลการค้าในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. อยู่ที่ระดับ 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามอยู่ที่ 440.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 229.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า 210.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ โทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. อยู่ที่ 42.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.3 ของยอดการส่งออกรวม รองลงมาคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน, เสื้อผ้า, อุปกรณ์และชิ้นส่วน, รองเท้า, ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ ตามลำดับ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดในช่วงดังกล่าว ด้วยมูลค่า 62.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รองลงมาจีนและสหภาพยุโรป ในขณะที่ จีนยังคงเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 65.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รองลงมาเกาหลีใต้และอาเซียน

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-trade-surplus-hits-us195-billion-in-jan-oct-314851.html