Chevron พร้อมขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา

บริษัท Chevron ซึ่งมีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา ภายใต้ บริษัท Chevron (Cambodia) จำกัด โดยได้เปิดเผยแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมถึงคำนึงถึงความพยายามของประเทศในการร่วมสำรวจแหล่งน้ำมันสำรองกับประเทศไทยในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ซึ่งพื้นที่ OCA ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะกักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดย Keo Ratanak รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา (MME) ภายหลังการประชุมกับ Frank Cassulo รองประธานใหญ่ บริษัท Chevron ในกรุงพนมเปญ ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าลงทุนในกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2021 มีสถานีบริการในปัจจุบันรวม 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชาอีก 100 สถานี เพื่อรองรับกับอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้เปิดเผยว่ากัมพูชานำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปีก่อนมูลค่ารวมอยู่ที่ 849 ล้านดอลลาร์ และน้ำมันดีเซลอีกราว 1.32 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440827/chevron-to-expand-service-station-network-in-cambodia/

‘นายกฯ เวียดนาม’ สั่งสำรองน้ำมันให้เพียงพอในช่วงเทศกาลเต็ด

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เพิ่งลงนามในคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยสั่งให้กระทรววง หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการที่จะใช้อำนาจตามมาตรการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ปริมาณน้ำมันเพียงพอต่อการผลิต การดำเนินธุรกิจและการบริโภคในช่วงเทศกาลเต๊ด (ตรุษจีน) เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 – 14 ก.พ. รวมถึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เกาะติดสถานการณ์ราคาน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และเร่งตรวจสอบทิศทางของตลาดน้ำมัน เพื่อรับมือกับการจัดสรรน้ำมันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดได้อย่างทันที

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/pm-orders-sufficient-petrol-supply-during-tet-post1073806.vov

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือน นำเข้าน้ำมัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมทุกประเภทในช่วง 8 เดือนของปี 2566 อยู่ที่ 7.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้น 22.2% แต่มูลค่าลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซล อยู่ที่ราว 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.5% หรือคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 55% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-spent-nearly-1-billion-on-gasoline-imports-in-8-months-2194858.html

8 เดือนแรกของปี กัมพูชานำเข้า น้ำมันและก๊าซ มูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ปีนี้ กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซมูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคาดว่าความต้องการในการใช้ผลิตภัณณ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 จากปริมาณ 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 100% ซึ่งมีแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย เวียดนาม และสิงคโปร์

ด้าน OPEC, สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ล้วนคาดการณ์ถึงการขาดดุลของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสหน้า เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ควบคุมอุปทานการผลิตและการส่งออกทั่วโลก โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันจ่อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันในกัมพูชาล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) อยู่ที่ 1.12 ดอลลาร์ ต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 1.15 ดอลลาร์ ต่อลิตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362703/cambodia-imports-oil-and-gas-products-worth-2-28-billion-in-the-first-eight-months-of-the-year/

กลุ่มทุนยักษ์ซาอุฯ เตรียมทุ่ม 2 แสนล้านตั้งคลังน้ำมันภาคใต้ของไทยฮับอาเซียน เทียบเท่าสิงคโปร์

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้เข้าร่วมคณะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ในการเร่งผลักดันการค้า การลงทุน

ทั้งนี้ ทางซาอุฯ สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทยโดยพร้อมลงทุน 200,000 ล้านบาท ในการตั้งศูนย์กลางในการกระจายน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นแหล่งใหม่ในการกระจายน้ำมันในภูมิภาคนี้ และจะมีขนาดใหญ่ไม่น้อยไปกว่าที่สิงคโปร์ และมีแนวโน้มที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านน้ำมัน และปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ คาดว่าในระยะสั้นจะชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสิงคโปร์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวหากไทยรักษาลูกค้าได้ดีกว่ามีโอกาสที่จะแซงหน้าสิงคโปร์ได้ในอนาคต

ที่มา : https://thailandnews.asia/28631/

นายกฯ ฮุนเซน เรียกร้องเร่งศึกษาแหล่งน้ำมันดิบใต้ก้นทะเลกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวว่า กัมพูชามีแหล่งน้ำมันที่มีศักยภาพใต้ก้นทะเลที่รอการสำรวจและการลงทุน ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีเปิดโรงงานบำบัดน้ำ Bakheng ในกรุงพนมเปญ โดยสนับสนุนให้ทำการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำมันใต้ก้นทะเลกัมพูชา เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุน ซึ่งหวังว่าในอนาคตกัมพูชาอาจมีการลงทุนในอุตสาหกรรทการผลิตน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันอยู่ใต้พื้นที่โตนเลสาบที่ยังไม่ได้ศึกษาและสำรวจ ในอดีตกัมพูชาเคยมีการผลิตน้ำมันครั้งแรกดำเนินการโดย บริษัท KrisEnergy เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020 และบริษัทได้ยื่นฟ้องล้มละลายประมาณหกเดือนหลังจากดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 ส่งผลทำให้บริษัทต้องปิดกิจการลง แต่ในปัจจุบันกระทรวงและบริษัทพลังงานสัญชาติแคนาดา ได้ร่วมพูดคุยและหารือเกี่ยวกับการศึกษาร่วมกันเพื่อเริ่มต้นการทำงานใหม่ โดยอุปกรณ์ที่มีอยู่จะกลับมาทำงานในบล็อกน้ำมันในไม่ช้า ขณะที่การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของกัมพูชาอยู่ที่ 1.15 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020 เป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310756/pm-calls-for-study-on-cambodias-untapped-oil-reserves/

4 เดือนแรกของปี 2023 กัมพูชานำเข้า น้ำมัน-ก๊าซ แตะ 1.15 พันล้านดอลลาร์

การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2023 อยู่ที่มูลค่า 1.15 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ปัจจุบันกัมพูชานำเข้าน้ำมันและก๊าซทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ เนื่องจากน้ำมันและก๊าซสำรองนอกชายฝั่งยังอยู่ในขั้นของการพัฒนา  นับตั้งแต่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในกัมพูชาพุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้าง ด้านนาย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุก่อนหน้านี้ แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้น แต่กัมพูชามีน้ำมันคงคลังเพียงพอต่อการบริโภคภายในท้องถิ่นอยู่ที่ 15 ถึง 20 วัน โดยไม่ต้องนำเข้า  ส่วนความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 เป็น 4.8 ล้านตัน ในปี 2030

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290819/oil-and-gas-imports-reach-1-15b-in-four-months/

กัมพูชานำเข้าน้ำมันและก๊าซมูลค่าแตะ 2.84 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชานำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมูลค่ากว่า 2.84 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 66 จากมูลค่า 1.71 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยในปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากแหล่งผลิตภายในประเทศยังอยู่ในขั้นของการสำรวจก่อนที่จะเริ่มทำการผลิต ด้านรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน Suy Sem กล่าวเสริมว่า ความต้องการน้ำมันภายในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันทางการกัมพูชาเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซภายในประเทศ รวมถึงเห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติมในภาคส่วนนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501166331/cambodia-imports-oil-gas-products-worth-2-84-billion-in-first-9-months/

รัฐบาลกัมพูชาออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนสำรวจและผลิตเชื้อเพลิงภายในประเทศ

Angkor Resources Corp ประกาศว่า EnerCam Resources Corp. (Cambodia) Co., Ltd. (EnerCam) บริษัทย่อยสาขาพลังงานของบริษัท ได้รับใบอนุญาตขั้นสุดท้ายสำหรับการสำรวจ พัฒนา และผลิตบน Block VIII มีขนาดพื้นที่สำรวจมากถึง 7,300 ตารางกิโลเมตร บนชายฝั่งของกัมพูชา ด้าน Mike Weeks ประธานของ EnerCam กล่าวว่า การได้รับอนุญาตในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทและของประเทศกัมพูชา ซึ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในอนาคตของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชา และเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกัมพูชา รวมไปถึงการใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างพลังงานด้วยไฮโดรคาร์บอนนำมาซึ่งการพัฒนาในเชิงบวกและแผ่นแม่บทสำหรับทั้งประเทศ ด้านข้อมูล Angkor Resources Corp เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนใน TSX-Venture Exchange และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทรัพยากรในกัมพูชา โดยมีใบอนุญาตในการสำรวจและผลิตแร่หลายแห่งในตอนเหนือของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501162922/onshore-exploration-and-production-license-for-cambodias-oil-gas-granted-to-angkor-resources-energy-subsidiary/

ราคาน้ำมันในเมียนมา พุ่งขึ้น 3%

ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของเมียนมาร์พุ่งขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ธนาคารกลางเมียนมาจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนของจัตกับค่าเงินต่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1,850 จัตเป็น 2,100 จัตต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินจัตต่อเงินยูโรจาก 1,884.3 จัตเป็น 2,148 จัตต่อยูโร และเงินจัตต่อเงินหยวนจาก 273.81 จัตเป็น 311.13 จัตต่อหยวน โดยในเมืองการค้าสำคัญอย่างย่างกุ้ง ราคาดีเซลเพิ่มขึ้น 2.58% เป็น 2,185 จัตต่อลิตร, ราคาเบ็นซิน RON 92 เพิ่มขึ้น 4.2% เป็น 1,860 จัตต่อลิตร และราคาเบ็นซิน RON 95 เพิ่มขึ้น 3.78% เป็น 1,920 จัตต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันของประเทศที่นำเข้า เนื่องจากเมียนมานำเข้าน้ำมันถึง 90% เพื่อมาใช้ในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://english.news.cn/20220810/3611c70ec1e5438e9e7abc19ce0be15f/c.html