เวียดนามเผยบริษัทอสังหาฯ พร้อมฟื้นตัวหลังหมดโควิด-19

บริษัทอสังหาริมทรัพย์เริ่มมองถึงก้าวต่อไป เล็งเห็นโอกาสหลังจากวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดฟื้นตัวในไม่ช้า จากรายงานทางสถิติของกระทรวงก่อสร้าง เผยว่าร้อยละ 80 ของตัวแทนขายอสังหาฯ หยุดการดำเนินงานชั่วคราวในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ยังคงสามารถดำเนินงานได้อยู่ในระดับปานกลาง โดยจำนวนบริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสแรก ลดลงร้อยละ 12 ขณะที่ บริษัทที่หยุดดำเนินงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 อย่างไรก็ตาม คนในวงในส่วนใหญ่เชื่อว่าผลกระทบจะเป็นเพียงระยะสั้นและตลาดจะกลับมาแข็งแกร่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คุณ Nguyen Quoc Bao รองผู้อำนวยการบริษัทอสังหาฯแห่งหนึ่ง กล่าวว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงฝ่าวิกฤติโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมต่อวงจรการเติบโตใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทที่มีกำลังการผลิตต่ำ แต่สำหรับธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินและการดำเนินงานอย่างมืออาชีพที่จะนำฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้ ผลกระทบเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ‘วิกฤติสร้างโอกาส’ นอกจากนี้ ตลาดอสังหาฯเวียดนาม ยังคงมีข้อได้เปรียบอย่างมากและเป็นที่สนใจแก่นักลงทุน เพราะว่าด้วยจำนวนประชากรราว 100 ล้านคน และร้อยละ 55 อยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี ที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการที่อยู่อาศัย ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมั่งคง ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว (Rapid Urbanization)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/real-estate-firms-gear-up-for-race-after-pandemic/173808.vnp

เวียดนาม คาดสินเชื่อปี 63 โต 9-10%

การเติบโตสินเชื่ออาจโตเพียงร้อยละ 9-10 ในปีนี้ หากเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 13 ถึงแม้ว่ามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปได้ในทิศทางที่ดี ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ โดยอัตราการเติบโตจะต่ำกว่าที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ร้อยละ 11-14 ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางเวียดนามไว้ที่ระดับ 0.5 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจไม่ช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของธุรกิจ ซึ่งการลดลงดังกล่าวจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อระบบธนาคารและอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าเมื่อเทียบกับการตัดดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ลดต้นทุนแก่ธนาคารอย่างมีนัยสำคัญและสนับสนุนให้ธุรกิจขยายการชำระหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็คาม อัตราดอกเบี้ยข้างต้นปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคยังคงอยู่ในวงจำกัด ทำให้ธุรกิจไม่กู้ยืมแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

ที่มา :https://en.vietnamplus.vn/credit-growth-forecast-to-slow-to-910-percent-in-2020/173671.vnp

‘สนามบินเถาะซวน’ วางแผนในการรองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินเถาะซวนในจังหวัดทัญฮว้าให้เป็น 5 ล้านคนในปี 2573 โดยทางสำนักงานอนุมิติการวางแผนเพื่อพัฒนาสนามบินในปี 2573 ด้วยการวางเป้าหมายไปสู่ปี 2593 รวมถึงยื่นแผนโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่ออนุมัติแผน ทั้งนี้ ตามข้อมูลรายงานใหม่ปี 2573 สนามบินเถาะซวนจะก้าวไปสู่สนามบินนานาชาติ ในขณะเดียวกัน ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและสินค้า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5 ล้านคน และ 25,000 ตันต่อปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/tho-xuan-airport-plans-to-serve-5-million-passengers-per-year/173655.vnp

เวียดนามเผยอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ท่าอากาศยานเตินเซินเญิ้ต

รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม อนุมัติแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ต ในนครโฮจิมินห์ โดยอาคารผู้โดยสารดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุด 20 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะช่วยลดภาระการใช้งานที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ T1 ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 470.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัท Airports Corporation of Vietnam (ACV) ในระยะเวลา 37 เดือน นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา อาคารผู้โดยสาร 2 แห่ง (T1-T2) สามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 40 ล้านคน ขยายตัวมากกว่า 1.6 เท่า จากที่รองรับผู้โดยสารไว้ 28 ล้านคนต่อปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/construction-plan-for-tan-son-nhat-airports-third-terminal-approved/173605.vnp

เวียดนามเร่งส่งออกลิ้นจี่สดไปยังญี่ปุ่นในช่วงปลายปีนี้

รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเข้าร่วมการประชุมเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเวียดนาม เปิดเผยว่าทางกระทรวงฯ เรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นหาแนวทางแก้ปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกลิ้นจี่สดไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ขอความร่วมมือต่อหน่วยงานญี่ปุ่นในการปฏิบัติงานที่มีความยืดหยุ่น เมื่อทดสอบการรมควันฆ่าเชื้อลิ้นจี่และอำนวยความสะดวกในการส่งออกลิ้นจี่สดชุดแรกไปยังญี่ปุ่นช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงฯ แสดงความขอบคุณถึงรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สำหรับการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเวียดนาม ด้วยความร่วมมือระหว่างอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดีย เพื่อเร่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-gears-up-to-export-fresh-lychee-to-japan-later-this-year-413914.vov

สายการบินแบมบูเวียดนามเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาส 4

สายการบินแบมบูแอร์เวย์ส (Bamboo Airways) คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ (HOSE) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเส้นทางสายการบินในประเทศมากเป็นสองเท่า รวมทั้งเปิดเส้นทางการบินใหม่ไปยังสหรัฐอเมริกา ภายในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565 ซึ่งการเคลื่อนไหวของบริษัทดังกล่าว มาจากแผนแรกเริ่มอยู่แล้วที่จะนำไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการจดทะเบียนออกไป ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สายการบินแบมบูแอร์เวย์สกำลังวางแผนที่จะซื้อเครื่องยนต์ คิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากบ.เจเนอรัลอิเล็กทริก (GE) สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ และจะขยายธุรกิจต่อไปเมื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ นอกจากนี้ สายการบินมีแนวโน้มให้เช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากต้องการขยายการดำเนินงาน โดยจริงๆแล้ว ปัจจุบันสายการบินขยายการดำเนินงานในประเทศ 45-50 เที่ยวบิน/วัน และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 100 เที่ยวบิน/วัน ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของเที่ยวบินทั้งหมดก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดไวรัส

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/bamboo-airways-to-go-public-on-stock-market-in-q4-413869.vov

เวียดนามเผยส่งออกเหล็กฉุดรุนแรง รับพิษโควิด-19

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) คาดว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะยังได้รับผลกระทบหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงไป เนื่องจากยอดส่งออกเหล็กไปยังตลาดต่างประเทศลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งการลดลงข้างต้น ส่วนใหญ่มาจากการผลิตอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ กิจกรรมการก่อสร้าง รถยนต์ รถจักรยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการผลิตเหล็กสำเร็จรูปที่มีทุกประเภท ในช่วง 4 เดือนของปีนี้ มีปริมาณการผลิต 7.5 ล้านตัน ในขณะที่ การบริโภคเหล็ก 6.75 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.4 และ 13.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้ยอดส่งออกเหล็กดิ่งลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นปริมาณ 1.28 ล้านตัน  ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ คาดการณ์ส่งออกกลับมาเป็นบวกในไตรมาสสอง เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของตลาดในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำมาตรการ/นโยบายของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมตลาดให้กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/steel-exports-suffer-severe-drops-due-to-covid19-413868.vov

ส่องภาคเกษตรในฮานอย ส่งสัญญาฟื้นตัวหลังโควิด-19

ภาคเกษตรกรรมในเมืองฮานอย เผชิญกับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปรับโครงสร้างใหม่และหันไปเพาะปลูกพันธุ์พืชใหม่ ผู้อำนวยการสำนักเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ การเติบโตของภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา สำหรับปริมาณสุกรมีเพียง 1.1 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 31.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน พืชฤดูหนาวลดลงร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงอยู่ที่ 27,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 ในขณะเดียวกัน จำนวนสัตว์ปีกรวมอยู่ที่ 33.5 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.54 ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการพรรคฯ เรียกร้องให้จำนวนฝูงผสมพันธุ์สุกร เพิ่มขึ้นแตะอยู่ที่ 1.8 ล้านตัว เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI และยังได้เสนอแนวทางในการผลิตอุตสาหกรรมและไม่ใช้ที่ดินเพาะปลูก เพื่อดึงดูดความต้องการอาหาร อีกทั้ง ประเด็นการใช้กลไกเครื่องจักรในการผลิตและการออกนโยบาย เพื่อปรับปรุงการใช้ที่ดินทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanois-agriculture-sector-looks-to-grow-postcovid19/173482.vnp

เวียดนามเผยมูลค่านำเข้ากว่า 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้

สำนักงานศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.3 โดยจีนยังคงเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ ขณะที่ ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่าเอเชียเป็นตลาดเศรษฐกิจและการค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้าสูงถึง 103.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.2 ของการส่งออกและนำเข้ารวม ทั้งนี้ สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ซึ่งในปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าของกลุ่มสินค้าดังกล่าว ประมาณ 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่เผชิญกับความยากลำบาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ดิ่งลงร้อยละ 41.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้ยังคงเป็นผู้นำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมา จีน ไต้หวันและสหรัฐฯ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/hanoi-retail-space-rentals-down-30-due-to-covid19-413778.vov

เวียดนามนำเข้าตุ๊กตาล้มลุกจากรัสเซีย มูลค่ากว่า 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัท Au Viet My Import-Export Trading Company เปิดเผยว่ายอดนำเข้าตุ๊กตาล้มลุกจากรัสเซีย ด้วยมูลค่าอยู่ที่ 100 ล้านรูเบิลรัสเซีย (ประมาณ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยตกลงสัญญากับบริษัทสัญชาติรัสเซีย Kotovsky Tumblers นับว่าเป็นการทำสัญญาส่งออกครั้งแรกที่เกี่ยวกับสินค้าอย่างตุ๊กตารัสเซียแบบดั้งเดิมไปยังตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ สำนักข่าวรัสเซีย ‘Interfax’ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว คุณ Dmitry Fedorov ผู้อำนวยการทั่วไปบริษัทฯ กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวจะดำเนินการออกเป็นช่วงๆ และทำจนเสร็จในเดือนมิ.ย.2564 ซึ่งเฟสแรกจะส่งตุ๊กตาล้มลุก 308 ตัว ไปยังเวียดนามในเดือนหน้า นอกจากนี้ ความร่วมมือทางการค้าระหว่างรัสเซียและเวียดนาม ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยธุรกิจเวียดนามส่วนใหญ่กำลังมองหาซัพพลายเออร์ชาวรัสเซียในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอาหาร กระดาษ โลหะและปิโตรเคมี

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/russia-to-ship-tumblers-worth-over-13-million-usd-to-vietnam-413785.vov