“เวียดนาม” ประเมินปี 66 ส่งออกข้าวลดลง

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. 66 เวียดนามส่งออกข้าวเพียง 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 203 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20.9% และ 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยตลาดฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเวียดนาม และในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านตัน เป็นสัดส่วน 45% ของยอดการส่งออกรวม และมากกว่า 80% ของการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม หากฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณการนำเข้าชะลอตัวลง ยิ่งไปกว่านั้น การสต็อกข้าวของเวียดนามมีทิศทางที่ลดลงในช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มการส่งออกข้าวของเวียดนาม คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านตันในปี 2566 ต่ำกว่าตัวเลขของปีที่แล้ว เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านอุปทานและสินค้าคงคลัง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-rice-exports-predicted-to-drop-in-2023-2109005.html

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสาร 1 ล้านตัน ในปี 2025

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวสารไว้ที่ 750,000 ตัน ภายในปี 2023 และ ตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวสารให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออกในปี 2022 Chan Sokheang ประธาน CRF กล่าวว่าสหพันธ์ได้ตั้งเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว ภายใต้แนวคิด ทำกำไร ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน CRF จะยังคงร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และเพิ่มจำนวนการส่งออกข้าวสารไปยังจีนตามเป้าหมาย 400,000 ตัน ในปีนี้ ซึ่งในปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกข้าวสาร 637,004 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จาก 617,069 ตันในปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 414 ล้านดอลลาร์ จากการส่งออกไปยัง 59 ประเทศทั่วโลก โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237171/2025-target-for-cambodia-to-export-1-million-tonnes-of-rice/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าแตะ 4 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรป (EU) ในปีที่แล้ว (2022) มีมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 812 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรปสูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรปที่มูลค่า 3.23 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เยอรมนีถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีมูลค่าการค้ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ตามมาด้วยเบลเยียมมูลค่า 731 ล้านดอลลาร์, เนเธอร์แลนด์มูลค่า 596 ล้านดอลลาร์, ฝรั่งเศสมูลค่า 542 ล้านดอลลาร์ และสเปนมูลค่า 503 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) กัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501236859/cambodias-exports-to-eu-surge-25-percent-to-4-billion-in-2022/

ปี 2565 สปป.ลาว นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากเวียดนาม พุ่งไปถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของ AEC CONNECT พบว่าในปีที่ผ่านมาการนำเข้าเชื้อเพลิงของสปป.ลาวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 439% มีมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนการส่งออกจากสปป.ลาวไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 34.6% มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้น เช่น ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และยางมะตอย   เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่าสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ในปี 2566 เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น    โดยที่ผ่านมา สปป.ลาว  ได้นำเข้าเชื้อเพลิงจากไทยเป็นหลัก  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า สปป.ลาว จะนำเข้าเชื้อเพลิงจากไทยเท่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ในทางกลับกัน สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินกีบ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันมีความผันผวน จึงกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้นำเข้าเชื้อเพลิงในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/02/10/laos-fuel-imports-from-vietnam-reaches-over-usd-120-million-in-2022/

เร่งเอฟทีเอ “อาเซียน-จีน” เสร็จปีหน้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เป็นประธานฝ่ายอาเซียน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม โครงสร้างข้อบทที่จะอยู่ในความตกลง และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 67 ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายให้เติบโต ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงให้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับความตกลง ACFTA ฉบับเดิม เริ่มมีผลใช้บังคับด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตั้งแต่ปี 2548 2550 และ 2553 ตามลำดับ อาเซียนและจีนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 530,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.68% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 โดยอาเซียนส่งออก 210,928 ล้านเหรียญฯ และอาเซียนนำเข้า 319,399 ล้านเหรียญฯ.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2628191

10 เดือน ของปีงบฯ 65-66 เมียนมาโกยเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกถั่วพัลส์

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2566 ของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ จำนวน 1.4 ล้านตัน มูลค่า 1.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกทางทะเลจำนวน 1,252,818 ตัน มูลค่า 982.588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งออกผ่านชายแดนจำนวน 181,268 ตัน มูลค่า 128.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกถั่วดำและถั่วแระเป็นหลัก โดยตลาดนำเข้าสำคัญคือ อินเดีย ส่วนถั่วเขียวจะถูกส่งออกไปยังจีนและยุโรป ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกถั่วพัลส์ของเมียนมามีมากกว่า 1.1 ล้านเอเคอร์ พบว่า ถั่วดำและถั่วแระคิดเป็น 35% ของพื้นที่ปลูกถั่วพัลส์ทั้งหมดของประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pockets-over-1-bln-from-pulses-exports-over-past-ten-months/

 

“ตลาดการบินเวียดนาม” ส่งสัญญาฟื้นตัวเต็มที่ในสิ้นปี 2566

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่าตลาดการบินเวียดนามมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายในสิ้นปีนี้ และในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินคาดว่าจะขนส่งผู้โดยสารประมาณ 80 ล้านคน และขนส่งสินค้า 1.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 45.4% และ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอุตฯ การบินเวียดนามยังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานการบิน ราคาเชื้อเพลิง การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ระบุว่าในเดือน ม.ค. สนามบินในประเทศให้บริการผู้โดยสาร 9.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.8% จากเดือนก่อน และรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-aviation-market-predicted-to-fully-recover-by-year-end-post1000559.vov

ผลสำรวจ JETRO เผยธุรกิจญี่ปุ่นเล็งขยายกิจการในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ 60% วางแผนที่จะขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม อีก 2 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นอัตราผลการสำรวจที่สูงที่สุดในอาเซียน รองจากอินเดีย (72.5%) และบังกลาเทศ (71.6%) ทั้งนี้ นางนากาจิมะ ทาเคโอะ หัวหน้าผู้แทนองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นในกรุงฮานอย ได้ประชุมกับกระทรวงการวางแผนและการลงทุน โดยอธิบายถึงผลการสำรวจในครั้งนี้ให้เห็นถึงความคาดหวังของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มองว่าตลาดเวียดนามในปัจจุบันมีศักยภาพที่จะเติบโตและการขยายตัวของการส่งออก ในขณะเดียวกัน นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน ได้เน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลเวียดนามในการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/many-japanese-firms-plan-expansion-in-vietnam-jetro-poll-2108251.html

ปี 65 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเมียนมา ทะลุ! 233,487 คน

กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา เผย ในปี 2565 เมียนมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจำนวน 233,487 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 78.3%  โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจีน ไทย และอินเดีย  ในปี 2562 ก่อนการระบาดของ COVID-19  มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเมียนมามากกว่า 4.36 ล้านคน ในปี 2563 นักท่องลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 900,000 คน และในปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 130,947 คน  เมียนมาพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงจัดงานท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อเดือนที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง  และจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเมียนมา พบว่า ณ วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566  เมียนมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 633,850 ราย  ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 19,490 ราย และรักษาหายแล้ว 614,321 ราย

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230209/300e06fdb9ac4a688dccb9aadd7a039f/c.html

ADB กล่าวถึงกุญแจสำคัญด้านการค้าและการลงทุนในอนาคตของ สปป.ลาว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก รวมถึง สปป.ลาว ซึ่งจะข้อความร่วมมือไปยังรัฐบาลระดับภูมิภาคทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ตามรายงานฉบับล่าสุดของ ADB โดยรายงานการบูรณาการเศรษฐกิจในเอเชีย (AEIR) ประจำปี 2023 ระบุว่า แม้ว่าการค้าและการลงทุนจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในเอเชียในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็นำไปสู่การเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาค ซึ่งมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพอากาศโลก โดย ADB มุ่งหวังว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ เช่น การส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลธุรกิจสีเขียว การพัฒนากลไกการกำหนดราคาคาร์บอน และการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงการค้าและการลงทุน เพื่อเป็นการผลักดันการลดคาร์บอนในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Greener28.php