“ตลาดรองเท้าเวียดนาม” โตแรง 2 เท่าในปี 2574

ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด ระบุว่าตลาดรองเท้าในเวียดนาม คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 38.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2574 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของตัวเลขที่คาดการณ์ในปีนี้ โดยปัจจุบันเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกในแง่การส่งออกรองเท้า รองจากประเทศจีนเท่านั้น อีกทั้ง เวียดนามยังมีโรงงานผลิตรองเท้าราว 2,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองโฮจิมินห์ และเป็นที่น่าสังเกตว่าแบรนด์ระดับโลกหลายแห่ง อาทิเช่น ไนกี้ (Nike) และ อาดิดาส (Adidas) ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานผลิตหลักอยู่ในเวียดนาม เนื่องจากความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง บรรยากาศการลงทุนและแรงงานที่มีอายุน้อยและค่าจ้างถูก นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการจูงใจด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญ (FTA) รวมถึงข้อตกลง CPTPP ทำให้ยกระดับการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก รวมทั้งแคนาดาและเม็กซิโก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-footwear-market-to-boom-by-2031-value-to-rise-double-to-us387-bln-post977804.vov

คนวงในเผยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าในเวียดนาม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

นายเหงียน มาย ประธานสมาคมกลุ่มวิสาหกิจผู้ลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม กล่าวว่าการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการเวียดนามอยู่ในทิศทางที่กำลังจะเติบโตและมีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในอนาคตข้างหน้า จากเดิมในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม ระบุว่าในปัจจุบันเวียดนามลงทุนไปยังต่างประเทศมากกว่า 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยจำนวน 1,584 โครงการ ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ประกอบการทุ่มเงินกว่า 347.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังโครงการใหม่จำนวน 80 โครงการ โดยส่วนใหญ่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป นอกจากนี้ นาย Tran Du Lich ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ กล่าวว่าในขณะที่ธุรกิจต่างชาติกำลังเข้าซื้อกิจการบริษัทเวียดนาม องค์กรหลายแห่งในเวียดนามก็ย้ายไปซื้อบริษัทต่างชาติเพื่อขยายการเข้าถึงตลาดไปทั่วโลก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-overseas-investment-can-top-1-billion-usd-annually-insider/240166.vnp

“สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 7.5%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 เป็น 7.5% (เดิม 6.7%) และขยายตัวได้ 7.2% ในปี 2566 ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดย GDP ไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 13.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะขยายตัว 4% ถึงแม้ว่าทางธนาคารจะปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้ เหลือ 3.3% (เดิม 4.2%) แต่จะเร่งปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 5% ซึ่งภาวะเงินเฟ้อเป็นอุสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนาม ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว และคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1345133/standard-chartered-raises-viet-nam-s-2022-gdp-growth-forecast-to-7-5.html

“เวียดนาม” คาดดัชนี CPI ปีนี้ ขยายตัว 3.27-3.51%

กระทรวงการคลัง และ คุณ Le Minh Khai รองนายกฯ กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.27%-3.51% ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) คาดว่าดัชนี CPI ในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้น 3.94% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 2.73% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากเศรษฐกิจเวียดนามเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของประเทศ ดังนั้นราคาสินค้าจำเป็นและบริการจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาเสื้อผ้า อาหารและเครื่องดื่มก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูมักจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสูงในช่วงเทศกาลเทด (Tet)

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/cpi-in-2022-forecast-to-expand-at-3-27-3-51-2070206.html

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.8 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ ด้าน GDCE รายงานเสริมว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกมีมูลค่ารวมกว่า 17.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 22.1

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/1168743/cambodia-earns-7-billion-from-goods-export-to-us/

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปพุ่งแตะ 10.25 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดโลกเติบโตกว่าร้อยละ 24 คิดเป็นมูลค่า 10.25 พันล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นกลุ่มรายได้หลักของภาคการส่งออกของกัมพูชาคิดเป็นเกือบร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศที่ 17.25 พันล้านดอลลาร์ แต่ถึงอย่างไรในไตรมาสสุดท้ายของปี ทางการกัมพูชาได้คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะได้รับผลกระทบในแง่ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับความกังวลของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) ด้านอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงงานภายประเทศเกือบ 1,300 แห่ง สร้างการจ้างงานโดยภาพรวมถึง 830,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501168112/cambodia-garment-exports-rise-24-to-10-25-billion/

IMF คาด เศรษฐกิจสปป. ลาวในปีนี้ เติบโตเพียง 2.2%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจสปป.ลาว ในปีนี้จะเติบโตเพียง 2.2% ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในปี 2566 และ 4.3% ในปี 2570 การเติบโตที่ลดลงมาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตลดลงจาก 6.0% ในปี 2564 ลดลงเหลือ 3.2% ในปี 2565 และ 2.7% ในปี 2566 นี่คือเติบโตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 การหดตัวของ GDP ของสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังถดถอยของสหภาพยุโรป การแพร่ระบาดของ Covid-19 และการล็อกดาวน์ในจีนที่ยืดเยื้อออกไปฉุดให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเติบโตต้องสะดุดลง ในขณะที่สปป.ลาว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและการขาดแคลนน้ำมันในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 มีผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตรและการผลิต ในขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของสปป.ลาวในปี 2565 ลงเหลือ 2.5% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4%  ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา Lao Academy of Social and Economic Science (LASES) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของลดลงเหลือ 3% ในปีนี้ จาก 4% ที่คาดการณ์ไว้

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten201_Lao_Y22.php

พาณิชย์สั่ง sacit เร่งพัฒนางาน ศิลปหัตถกรรม รับนักท่องเที่ยว

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่าโควิด-19 ที่ดีขึ้น ส่งผลให้การค้าการลงทุนดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4/2565 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานศิลปหัตถกรรม ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ซึ่งจากตัวเลขของสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน ก่อนที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแต่ละปีตลาดของที่ระลึกที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวมีมูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท ทั้งนี้จึงได้มอบหมายให้ sacit เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับ Gift Economy นอกจากทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนแล้ว สินค้าของที่ระลึกยังเป็นสิ่งเตือนความทรงจำของนักท่องเที่ยวให้ระลึกถึงสถานท่องเที่ยวที่เคยมาเยือน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นกลับมาเที่ยวซ้ำอีกในโอกาสต่อไป

ที่มา: https://www.naewna.com/business/686860

ครึ่งปีแรกของงบฯ 65 – 66 เมียนมาจัดออกมะพร้าว 319 ตัน ไปบังกลาเทศผ่านชายแดนมองดอ

ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 เมียนมาส่งออกมะพร้าว 319 ตัน มูลค่าประมาณ 0.128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปบังกลาเทศผ่านชายแดนมองดอ ส่วนใหญ่แล้วบังคลาเทศจะใช้มะพร้าวในการประกอบพิธีทางศาสนานอกเหนือจากการใช้บริโภค ซึ่งมะพร้าวที่ส่งออกมี 3 ประเภทที่ปลูกในรัฐยะไข่ตอนใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและบริเวณชายฝั่งของเมียนมา ได้แก่ พันธ์ต้นสูง พันธ์ต้นเตี้ย และมะพร้าวไฟ (มะพร้าวสีส้ม)  โดยพันธ์ต้นสูงจะใช้เวลาปลูกและเก็บเกี่ยวได้ภายใน 7 – 10 ปี พันธุ์ต้นเตี้ย 3 – 5 ปี และมะพร้าวไฟ 5 – 7 ปี ซึ่งมะพร้าว 1 ต้นสามารถให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ลูก ส่วนใหญ่แล้วมะพร้าวที่ส่งออกไปยังบังคลาเทศ จะปลูกในภูมิภาคย่างกุ้ง และรัฐยะไข่ได้แก่ เมีองมะนัง เมืองเจาะพยู และเมืองตาน-ดแว โดยทำการส่งออกผ่านชายแดนมองดอของรัฐยะไข่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-319-tonnes-of-coconut-to-bangladesh-via-maungtaw-trade-post-in-h1/

 

รถไฟไทยในฝันเชื่อม4ประเทศ ลาว-จีน(คุนหมิง)-มาเลย์-สิงคโปร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) รวมทั้งร่วมทดลองนั่งรถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. ทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เริ่มงานก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 แต่เดิมวางเป้าหมายเปิดบริการในปี 66 จนถึงขณะนี้ได้ผลงานก่อสร้าง 15.49% ทั้งนี้ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/1562449/