“เวียดนาม” เผยรายได้อีคอมเมิร์ซแบบ B2C พุ่งแตะ 16 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

เวียดนาม อยู่ที่ราว 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นปีแรกที่มีมูลค่าอยู่ในระดับสูงสุด และจากตัวแทนของสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม กล่าวว่าตามรายงานข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะที่สร้างความรุนแรงต่อภาคการค้าและบริการของเวียดนามและทั่วโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ยอดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซและบริการ เพิ่มจากเดิม 7% มาอยู่ที่ 27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามจะก้าวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-b2c-retail-e-commerce-revenue-to-exceed-16-billion-this-year-2060814.html

รัฐบาลเผยเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูง มากเป็นอันดับ 12 ของโลก

18 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ พร้อมเน้นย้ำไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และประเทศไทยยังมีฐานะทางการเงินที่ดี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเงินสำรองฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเมื่อเทียบเงินสำรองฯ ต่อ GDP จะคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมถึงยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า

ที่มา: https://www.naewna.com/business/680815

 

อุตสาหกรรมอะโวคาโดของเมียนมาเตรียมส่งออกไปดูไบ สิงคโปร์

นาย U Myo Nyunt รองประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกอะโวคาโดของเมียนมา เผย กำลังเตรียมการส่งออกอะโวคาโดพันธุ์แฮส (Hass) ซึ่งจะถูกเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม ตามคำสั่งซื้อของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ ซึ่งอะโวคาโดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา  นอกจากนี้ยังหาตลาดใหม่ๆ เพื่อการส่งออก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-avocado-industry-gearing-up-for-exports-to-dubai-singapore/#article-title

ณ สิงหาคม ปริมาณผู้โดยสารทางอากาศของกัมพูชาพุ่งแตะ 1.13 ล้านคน

สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา รายงานถึงปริมาณผู้โดยสารทางอากาศขาเข้า ตั้งแต่ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. พุ่งแตะ 1.13 ล้านคน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 600% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลง 76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยปัจจุบันมีสายการบิน 25 แห่ง ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศมายังกัมพูชา ซึ่งมีประมาณเที่ยวบินในช่วงเวลาข้างต้นกว่า 15,521 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากการเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501152369/air-passengers-soar-to-1-13-million-by-end-august/

กัมพูชาส่งออกเครื่องนุ่งห่มขยายตัวกว่า 28.77% ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.

กัมพูชาส่งออกเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นกว่า 28.77% หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 52.20% ของการส่งออกทั้งหมด รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย (แบบถัก) มีมูลค่ามากที่สุดจำนวน 4.60 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายของประเทศ (ไม่ถักนิตติ้ง) เพิ่มขึ้น 32.8% เป็น 1.87 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชา ซึ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.58 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25%

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501152418/apparel-exports-from-cambodia-rise-28-77-to-6-466-bn-in-jan-aug-2022/

“ธนาคารโลก” ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี

ตามรายงานทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าปลีก มีอัตราการขยายตัวในเดือนสิงหาคม 15.6% และ 50.2% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกและการนำเข้าในเดือนสิงหาคม ขยายตัว 22.6% และ 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังตลาดเวียดนามลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุน จากความไม่แน่นอนทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ยอดการลงทุนจริงยังคงขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อทิศทางในเชิงบวก 11 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงจาก 3.1% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 2.9% ในเดือนสิงหาคม เป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นจาก 2.6% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากได้รับผลกระทบระลอกที่สองของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-upbeat-about-vietnams-continued-economic-recovery-post118037.html

“ค่าแรงต่ำ แรงงานจำนวนมาก” ขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในเวียดนาม

หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท์ส ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานว่าจำนวนพนักงานมาก ค่าแรงงานอยู่ในระดับต่ำและตลาดที่มีขนาดใหญ่ของเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) สิงคโปร์

ทั้งนี้ คุณ James Tan พาร์ทเนอร์ของบริษัทกองทุน “Quest Ventures” กล่าวว่ากำลังแรงงานของเวียดนาม มีการศึกษาที่ดีขึ้นและค่าแรงงานยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ประกอบกับเวียดนามมีประชากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ทำให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1315198/low-labour-costs-large-workforce-drive-singapore-start-ups-in-viet-nam.html

5 เดือน ของปีงบ 65-66 MIC ไฟเขียวให้ต่างชาติมาลงทุน 35 โครงการ เม็ดเงินทะลุ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-เดือนสิงหาคม 2565) ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 สำนักงานคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) ให้ไฟเขียวโครงการต่างประเทศ 35 โครงการจาก 6 ประเทศ มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เป็นการลงทุนในภาคเกษตรกรรม การผลิต พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และบริการตามลำดับ โดยมีสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา มีมูลค่าการลงทุน 1.089 พันล้านดอลลาร์ รองลงมา คือ ฮ่องกง 70.239 ล้านดอลลาร์จากโครงการ 7 โครงการ ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่สาม 56.7 ล้านดอลลาร์จาก 15 โครงการ ที่ผ่านมาเมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 647 ล้านดอลลาร์ในช่วงงบประมาณย่อยปี 2564-2565 (เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนมีนาคม 2565)

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mic-nods-35-foreign-projects-worth-1-2-bln-in-5-months/

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณกว่า 389,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยระบุว่าจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊า จำนวนรวม 178,142 ตัน คิดเป็นร้อยละ 46 ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 94.57 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ กัมพูชายังได้ส่งออกข้าวสารไปยัง 26 ประเทศ ในภูมิภาคยุโรป คิดเป็นปริมาณ 141,483 ตัน มูลค่ารวม 98.74 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ CRF โดยประเภทข้าวสารที่กัมพูชาทำการส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมมะลิร้อยละ 65.8, ข้าวขาวร้อยละ 29.91, ข้าวอินทรีย์เกือบร้อยละ 2, ข้าวนึ่ง (เมล็ดยาว) มากกว่าร้อยละ 2 และข้าวฟ่างร้อยละ 0.01

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501149396/kingdoms-rice-exports-to-international-markets-surge/

กัมพูชาส่งออกพุ่ง 26% ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.

ในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมแตะ 15,641 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 21,764 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมคิดเป็นมูลค่า 37,405 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 ในช่วงเวลาดังกล่าว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยประเทศสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของกัมพูชาที่มีมูลค่า 6,421 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง เป็นสำคัญ โดยปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้เปิดพรมแดนกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501149392/cambodias-export-value-surges-26-in-january-august/