ค้าชายแดน ‘เมียนมา-จีน’ ไตรมาสแรก พุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าชายแดนเมียนมาและจีน อยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขของการค้าชายแดนข้างต้น เพิ่มขึ้นจาก 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 388.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ ทั้งนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับจีนผ่านด่านชายแดนมูเซะ (Muse), ชีงชเวห่อ, กัมปะติ และ เชียงตุง เป็นต้น โดยเฉพาะด่านชายแดนเมืองมูเซะ เป็นด่านชายแดนสำคัญของเมียนมาที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 657.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย จีน บังกลาเทศและอินเดีย สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเภทเกษตรกรรม ปศุสัตว์และป่าไม้ ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเมียนมาจะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-bags-nearly-us1-billion-in-q1/#article-title

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าเกษตร ไตรมาสแรกปี 66 โกย 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 862.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 1,091.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษร สัตว์และอาหารทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวมากกว่า 2.26 ล้านตันในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd862m-from-agricultural-exports-in-q1/

‘เมียนมา’ เผยไตรมาสแรก ปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ เกิน 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ทำรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ (Pulse) ประมาณ 333.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 424,187.70 ตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 โดยส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางทะเล 284.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางชายแดน  48.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาได้ส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จีนและยุโรป อีกทั้ง ตลาดอินเดียมีความต้องการถั่วเขียวผิวดำเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมา 250,000 ตัน และ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อโควต้าประจำปีของอินเดียที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-export-earnings-in-pulses-surpass-over-us330-mln-in-q1/#article-title

“เมียนมา” เผยตลาดถั่วเขียวนิ่ง เหตุจากอุปสงค์ทั่วโลกซบเซา

หอการค้าและอุตสาหกรรมเขตย่างกุ้ง เปิดเผยว่าราคาถั่วเขียว (Green Gram) ตกต่ำลงมาก ตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่อ่อนแอลง โดยราคาถั่วเขียวของภาคกลาง แตะระดับสูงสุดที่ 2.092 ล้านจ๊าตต่อตันในช่วงกลางเดือน พ.ค. อย่างไรก็ตาม ราคาถั่วเขียวในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1.765 ล้านจ๊าตต่อตัน แสดงให้เห็นว่าราคาถั่วเขียวลดลงราว 300,000 จ๊าตต่อตัน เพียงแค่ 1 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. จีนเริ่มมีการดำเนินนโยบายภาษี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดถั่วเขียวและทำให้ราคาถั่วเขียวปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าเมียนมาเตรียมความพร้อมที่จะส่งออกถั่วเขียวไปยังสหภาพยุโรปในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เมียนมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งมากขึ้นในตลาดโลก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/green-gram-market-calms-down-on-sluggish-global-demand/#article-title

“เมียนมา” เผยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศของเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึง 23 มิ.ย. ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าสำเร็จรูปจากอุตสาหกรรม ขณะที่เมียนมาส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ลดลงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-totals-7-37-bln-in-past-three-months/#article-title

“เมียนมา” ชี้ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศหดตัว เหตุนำเข้าจากต่างประเทศพุ่ง

จากข้อมูลของตลาดน้ำมันปาล์มในย่างกุ้ง เปิดเผยว่าได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 20,000 ตัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงตลาดย่างกุ้งลดลงอย่างมาก และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์ม พบว่าราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากความยากลำบากในการซื้อน้ำมันปาล์มเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งบอกว่าราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 8,200 จ๊าตต่อวิสซ์ ทั้งนี้ จากเหตุที่น้ำมันปาล์มในตลาดมีราคาสูง ทางหน่วยงานได้หารือและเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ เมียนมาจะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/demand-for-palm-oil-decreases-due-to-large-foreign-palm-oil-imports/#article-title

จีน-เมียนมาจับมือเปิดบริการเที่ยวบินใหม่ หนุนความร่วมมือด้านศก.-การค้า-การท่องเที่ยว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) เครื่องบินของสายการบินเมียนมา เนชันแนล แอร์ไลน์ส ลงจอดที่ท่าอากาศยานในเมืองหมางซื่อ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งนับเป็นการเปิดเส้นทางขนส่งทางอากาศที่เชื่อมหมางซื่อกับสองเมืองหลักของเมียนมา ได้แก่ มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง ทั้งนี้ ว่ยกั่ง เจ้าหน้าที่แคว้นปกครองตนเองเต๋อหง กลุ่มชาติพันธุ์ไทและจิ่งโพกล่าวว่าเราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวต่อไป ด้วยความช่วยเหลือจากการเปิดเที่ยวบินใหม่ดังกล่าว

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/314492

บริษัทโรงสีข้าวและโกดังเมียนมา 448 ราย ยื่นขึ้นทะเบียนกับ GACC ช่วงครึ่งแรกปี 2566

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา รายงานว่าในปีนี้ มีบริษัท 145 ราย โรงสีข้าว 161 ราย และคลังสินค้า 182 ราย เข้าขอยื่นขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) และหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว มีเพียงบริษัท 62 ราย โรงสีข้าว 79 ราย และคลังสินค้า 19 ราย ทั้งนี้ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ รวมถึงตลาดจีน โดยข้าวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคการส่งออกของเมียนมา ดังนั้น กลุ่มสหพันธ์ข้าวของเมียนมาจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ตระหนักถึงมาตรการสุขอนามัยทางชีวภาพ รวมไปถึงการศึกษากฎหมายและกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า และความปลอดภัยของอาหารในประเทศ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโกดังข้าวและคลังสินค้า ทำการจัดเก็บข้าวอย่างเป็นระบบและตรวจสอบกฎระเบียบตามการส่งออกของต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/banking-transactions-for-imports-on-myanmar-china-border-to-commence-1-august/#article-title

“แบงก์ชาติเมียนมา” เตือนระวังกลโกงออนไลน์

ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้หลอกหลวงและนักต้มตุ๋นออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Gold T 6” บนเฟซบุ๊ค (Facebook) ที่มีการแอบอ้างหรือหลอกลวงให้นักลงทุนนำเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ ตามกฎระเบียนของธนาคารกลางเมียนมาและกฎหมายสถาบันการเงิน ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) มีการออกใบอนุญาตให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ธนาคารเอกชน 27 แห่ง และธนาคารต่างประเทศ 20 แห่ง โดยกิจการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการให้บริการทางด้านธนาคาร อย่างไรก็ตาม มาตรการ 158 และ 163 ของกฎหมายสถาบันการเงินที่เกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรที่ละเมิดหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบ ในขณะเดียวกันไม่มีธนาคารแห่งใดที่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ หากไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ว่านักต้มตุ๋นจะใช้กลวิธีในการหลอกลวงผู้คนให้เข้ามาลงทุนด้วยตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่สูงและสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งอสังหาฯ ทองคำและเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/central-bank-of-myanmar-warns-of-online-scams/#article-title

“เมียนมา” เผยราคาถั่วแระ ต่ำกว่า 3 ล้านจ๊าดต่อตัน

หอการค้าและอุตสาหกรรมเขตย่างกุ้ง รายงานว่าถั่วแระ (Pigeon Pea) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 3 ล้านจ๊าดต่อตัน ขณะที่จากข้อมูลในวันที่ 5 มิ.ย. ราคาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.33 ล้านจ๊าดต่อตัน จากนั้นในวันที่ 27 มิ.ย. ราคาตกต่ำอย่างมากอยู่ที่ 2.94 ล้านจ๊าดต่อตัน โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าถั่วแระลดลงราว 390,000 จ๊าดต่อตันในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับราคาถั่วเขียวผิวดำและถั่วพัลส์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pigeon-pea-price-plunges-down-to-below-k3-mln-per-tonne/#article-title