‘SCG’ เล็งขยายการลงทุนเพิ่มอีก 353 ล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม

บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไทย ‘บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ ประกาศแผนขยายการลงทุนในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินกว่า 353 ล้านเหรียญสหรัฐ วัตถุประสงค์ของแผนงานดังกล่าวเพื่อสร้างโรงงานใหม่ในจังหวัดหวิญฟุ้ก (Vinh Phuc) ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิต 74% สู่ระดับปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ 870,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนข้ามชาติ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (CSCGP) กล่าวว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 6-7% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564-2567

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/companies/thai-packaging-firm-eyes-353-mln-expansion-in-vietnam-4359690.html

ญี่ปุ่นติดอันดับ 3 ของประเทศที่เมียนนาส่งออกสินค้า ในปีงบประมาณปัจจุบัน

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เผย มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมาและหุ้นส่วนการพัฒนาของญี่ปุ่นมีมูลค่ามากกว่า 1.049 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน (2563-2564) และญี่ปุ่นถูกจัดให้เป็นคู่ค้าส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมา การส่งออกของเมียนมาร์ไปญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ค.64) อยู่ที่ประมาณ 768 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ามีเพียง 281.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากทะเล ข้าว งาดำ ถั่วเขียว ยางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในทางกลับกันด้านการนำเข้าจะเป็น เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ยา รถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะที่ปีงบประมาณนี้ มีบริษัทสามแห่งจากญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในประเทศเริ่มต้น 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 34.7% ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/japan-ranks-myanmar-third-largest-export-country-this-fy/?__cf_chl_managed_tk__=pmd_6TWYMCUi3RM5JgxKjHymCjuLm_A_yPQOvBsl04lnqxE-1632277432-0-gqNtZGzNAvujcnBszRNl

นักธุรกิจชาวต่างชาติเสนอกักตัวเหลือ 7 วัน ต่อรัฐบาลกัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศกล่าวว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะได้รับผลประโยชน์เชิงบวก หากรัฐบาลนำข้อเสนอแนะในการให้กักตัวเหลือ 7 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักธุรกิจและผู้ถือวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันประเทศปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่วนผู้ถือวีซ่าธุรกิจจำเป็นต้องกักตัวในโรงแรมอย่างน้อย 14 วัน โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์อย่างมากหากนักธุรกิจและนักลงทุนสามารถเดินทางมากัมพูชาได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งสะดวกต่อการเยี่ยมชมสถานที่จริง การประชุมกันโดยไม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และในฐานะแขกที่มักจะใช้จ่ายสูงระหว่างการเดินทางและการเข้าพัก โดยเชื่อว่าสิ่งนี้อาจมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทางด้านประธาน EuroCham Cambodia กล่าวว่าประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงพอๆ กับกัมพูชากำลังทยอยเปิดประเทศกันแล้ว แม้ว่าความเปราะบางของระบบการรักษาพยาบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกัมพูชาได้ทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรไปแล้วมากกว่าสามในสี่ของจำนวนประชากร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50938538/foreign-businesses-welcome-seven-day-quarantine-suggestion/

ท่าเรือพนมเปญ เสริมพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ในกัมพูชา

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ได้เปิดตัวโครงการส่วนต่อขยายท่าเทียบ ไปในวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา โดยได้ยกระดับความสามารถในการจัดการตู้คอนเทนเนอร์เป็น 400,000 TEU ต่อปี ซึ่งการก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้ใช้งบประมาณอยู่ที่ 18.4 ล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2019 และแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2021 โดยมีขนาดครอบคลุมพื้นที่ 2.75 เฮกตาร์ และเดิมมีความสามารถในการจัดการตู้คอนเทนเนอร์ 100,000 TEU ต่อปี ซึ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องขยายเป็นเพราะว่าจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณการใช้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ โดยในปี 2019 PPAP ได้รับตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 290,000 ตู้ มายังท่าเรือ และยังได้วางแผนโครงการขยายสถานีคอนเทนเนอร์ใหม่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บให้ได้ 500,000 TEUs ต่อปี ภายในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50938651/phnom-penh-autonomous-port-upgrades-container-handling-capacity-to-400000-teus/

พงศ์สาลีอนุมัติโครงการค้าไม้ไผ่

ชาวบ้านในจังหวัดพงสาลีจะมีทางเลือกมากขึ้นในการหารายได้จากดินที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมโอกาสใหม่ที่จะปลูกไผ่เพื่อขายให้กับโรงงานแปรรูปตามแผนหรือเพื่อนำไปใช้ในโรงงาน มีการลงนามสัญญา 2 ฉบับในจังหวัดพงสาลี ระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัดและบริษัทเอกชนในการสนับสนุนการปลูกไผ่ ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นปลูกไผ่เพื่อขายให้กับบริษัทบนพื้นที่ 980 เฮกตาร์ ใน 13 หมู่บ้านของอำเภอขัว ซึ่งหมายความว่าผู้ปลูกจะบริจาคที่ดินและแรงงานและดูแลต้นไผ่ ในขณะที่บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำด้านเทคนิค และจัดหาตลาดสำหรับต้นไผ่ โดยมูลค่าของโครงการอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านกีบ โครงการดังกล่าวจะนำมาสู่การพัฒนาและยกระดับความยากจนของคนในชุมชนพงศ์สาลี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Phongsaly_183_21.php

เมียนมาส่งออกวูบ ขาดดุลการค้าสิงคโปร์ ในปีงบฯ 63-64

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับสิงคโปร์ในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ค.64) ของปีงบประมาณ2563-2564 อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกกว่า 181.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้ากว่า 2.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมียนมามาขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2.158 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของเมียนมาร์ในภูมิภาค รองจากไทย  สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร รองเท้า สิ่งทอและเสื้อผ้า แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ขณะที่การนำเข้า ได้แก่ พลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าพาราสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค โลหะ และเคมีภัณฑ์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-surpass-exports-in-trade-with-singapore-this-fy/

เมียนมาส่งออกถั่วเนยไปแล้วกว่า 44,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์ เผย เมียนมาส่งออกถั่วเนยไปแล้วกว่า 44,109 ตันระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 63 ถึง 10 ก.ย. 64 ในปีงบประมาณ 2563-2564 สร้างรายได้กว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาเนยถั่วอยู่ที่ 1,735-1,775 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กก.) แม้ว่าความต้องการจากต่างประเทศจะจะลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ปัจจุบันราคาเนยถั่วนตลาดมัณฑะเลย์มีมูลค่ากว่า 75,000 จัตต่อกระสอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด แต่ตอนนี้ต้องพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยปกติ จะส่งออกเนยถั่วเนยประมาณ 75% ไปยังตลาดญี่ปุ่น, จีน, เดนมาร์ก, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน และเวียดนาม โดยมีปริมาณการส่งออก 15,000-30,000 ตันต่อปี ทั้งนี้การเพาะปลูกถั่วเนยส่วนใหญ่อยู่ในเขตซะไกง์, พะโค, มะกเว, มัณฑะเลย์, อิรวดี, มอญ และตอนเหนือของรัฐฉาน โดยเขตมะกเว ให้ผลผลิตถั่วเนยที่มีคุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-over-44000-tonnes-of-butter-bean-as-of-10-september/#article-title

‘ธุรกิจต่างชาติ’ หวังเวียดนามจะกลับมาเปิดเศรษฐกิจ

ตามจดหมายของกลุ่มสมาคม อาทิ หอการค้าสหรัฐฯ (AmCham), หอการค้ายุโรป (EuroCham), หอการค้าเกาหลีใต้ (KoCham) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ได้ชื่นชมทิศทางการดำเนินงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสของนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม โดยกลุ่มนี้ประเมินว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่เวียดนามต้องดำเนินมาตรการเพื่อรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันในภูมิภาคและโลก ตลอดจนต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและสร้างความมั่นใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สมาคมต่างๆ ยืนยันว่ากิจการต่างชาติต้องการแผนงานที่ชัดเจนของรัฐบาลในการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นของวัคซีนนั้น สมาคมต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ส่งสินค้า ผู้ค้าปลีก เภสัชกรและคนงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะแรงงานในภาคใต้ของเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/foreign-businesses-expect-vietnam-to-reopen-its-economy-36028.html

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดการเติบโตทางการค้าเป็นบวกจากการเข้าร่วม CPTPP

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) เปิดเผยว่าเวียดนามได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ทำให้ยอดการค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้น 23.36% เป็นมูลค่า 52 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ เดือน ก.ค. เพียงเดือนเดียว ยอดการส่งออกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เมื่อพิจารณารายสินค้าพบว่าสินค้าหลักที่มีการเติบโตได้ดี ได้แก่ เครื่องจักรและส่วนประกอช อะไหล่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักที่มีการเติบโตลดลง ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รองเท้า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้ากับตลาด CPTPP อยู่ที่ 86.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 75.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-positive-trade-growth-with-cptpp-markets-892032.vov

 

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้ารวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 คิดเป็นมูลค่า 5.021 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่า 4.861 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มคิดเป็นถึงร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ถึงแม้กัมพูชาจะเผชิญอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการถูกถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) จาก EU แต่ถึงอย่างไรภาคการส่งออกผลิตเครื่องนุ่งห่มก็ยังคงมีแนวโน้มเติบโต ซึ่งในปี 2020 กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้ามูลค่ารวม 7.420 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 10.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2020 ของกระทรวงพาณิชย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50937900/garment-exports-net-5-billion-in-eight-months/