ไทยเร่งฉีด วัคซีนโควิดแรงงานชาวเมียนมา ในแม่สอด

กรมอนามัยของประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่แม่สอด ประเทศไทย เป็นครั้งแรกในเช้าวันที่ 17 สิงหาคม 64 ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน แม่สอด ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5,000 โดสให้กับแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในโรงงานและร้านค้า ซึ่งการฉีดวัคซีนในครั้งได้สร้างความเชื่อมั่นละคลายความกังวลให้กับนักธุรกิจชาวไทยที่ประกอบธุรกิจในแม่สอดได้มากขึ้นหลังจากที่ร้านค้าในแม่สอด สถานเสริมความงาม ร้านอาหาร และร้านค้าบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาถูกปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา: https://news-eleven.com/article/213881

กกร.ขอพบ‘บิ๊กตู่’ ชี้ช่อง5แนวทางฝ่าวิกฤติโควิด

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า กกร.ได้ยื่นหนังสือขอเข้าหารือ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ล่าสุดอยู่ระหว่างรอแจ้งเวลากลับมา ทั้งนี้ ได้ยื่น 5 ประเด็นหลักในการหารือดังนี้ 1.ให้เอกชน เป็นผู้ติดต่อนำเข้าวัคซีนได้ไม่ต้องผ่านหน่วยงานรัฐ 2.อนุญาตสนับสนุนให้เอกชนดำเนินการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ 3.สนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และเพียงพอ 5.แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น ให้กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี ระยะเวลา 3 ปี ฯลฯ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/595654

สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 64 ยังมีความเสี่ยง ปรับลด GDP โต 0.7-1.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2/64 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 และขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 โดยแรงหนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัว 4.6% และการลงทุนรวมขยายตัว 8.1% โดยการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2% สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 นั้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 0.7% – 1.2% หรือฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63 แต่เป็นการปรับลดจาก 1.5% – 2.5% ในการประมาณการครั้งก่อน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2167686

ก.แรงงาน เตรียมตำแหน่งงาน 8 แสนอัตรา รองรับคนตกงานช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายอธิบดีกรมการจัดหางาน สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศ และดำเนินการจัดหางานเชิงรุกโดยเตรียมตำแหน่งงานไว้ จำนวน 814,198 อัตรา แบ่งเป็น แรงงานด้านฝีมือ (แรงงานไทย)จำนวน 389,495 อัตรา ธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว จำนวน 424,703 อัตรา ในส่วนธุรกิจที่พึ่งแรงงานต่างด้าวนั้น แรงงานไทย สามารถสมัครได้เช่นกัน โดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กโทรนิกส์ ฯลฯ  นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนการจัดหางานแบบเดิมสู่รูปแบบ “นัดพบแรงงานออนไลน์” เต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6564251

ล็อคดาวน์กค.ปี64 ทรุดดัชนีเศรษฐกิจ จากรายได้หด-การจ้างงานลดต่อเนื่อง เทียบช่วง เม.ย.ปี63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.จนต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่ระบาดได้ง่าย และ การล็อกดาวน์ ตลอดจนจำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ 35.1 ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

ความเชื่อมั่นอุตฯร่วง ล็อกดาวน์ฉุดกำลังซื้อรายได้หาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.64 อยู่ที่ระดับ 78.9 ลดลงจากเดือนที่แล้วที่ระดับ 80.7 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 63 ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวลดจากที่คาดไว้อยู่ที่ระดับ 90.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ สอท. เสนอภาครัฐให้เร่งตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ เร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 ในสถานประกอบการ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ พร้อมนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้ และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/593828

‘จีน-ญี่ปุ่น’ซบไทย ลงทุน‘กนอ.’9เดือนพุ่ง1.3แสนล้าน

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจที่จะซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า (Warehouse) ที่เติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้นักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกาเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จนถึงปัจจุบันมีการลงทุนแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนรวม 9 เดือนปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 138.27% เมื่อเทียบกับปี 2563 ( 54,681.37 ล้านบาท) จากการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต โดยจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 12.12% และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/593581

สปป.ลาวพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 250 ราย

จากรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 250 รายเมื่อวันอังคาร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศไทย จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เหล่านี้ ยอดรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7,015 ราย ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นยอดที่ติดเชื้อสูงสุดเท่าที่มีการบันทึกมาของสปป.ลาว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แนะนำให้ทุกคนแสดงความรับผิดชอบและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ในขณะเดียวกัน โครงการฉีดวัคซีนก็กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 16.55 ของประชากรลาวทั้งหมดได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกแล้วและร้อยละ 14.05 ได้รับวัคซีนทั้งสองโดส สปป.ลาวถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีความคืบหน้าด้านการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผนการฉีดวัคซีนของสปป.ลาวดำเนินการได้ต่อเนื่องมาจากการช่วยเหลือจากพันธมิตรที่สำคัญทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ เป็นต้น จึงทำให้สปป.ลาวต่อสู้กับโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_250New_150.php

ธพว.อัดฉีดเงินกู้ 1.5 หมื่นล. เติมทุนเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก จึงออกมาตรการทางการเงินเสริม ด้วยแพ็กเกจสินเชื่อ “เติมทุน SMEs มีสุข ยิ้มได้”วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ภายใต้ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ได้แก่ “SMEs D เติมทุน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานถึง 10 ปี  “SMEsมีสุข” วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี ผ่อนนานถึง 10 ปี และ “SMEs ยิ้มได้” วงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี ทบทวนวงเงินได้ทุกปี ช่วยเติมทุนหมุนเวียนให้เอสเอ็มอี โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ที่มา: https://www.naewna.com/business/592181

กระทรวงการคลังชี้พิจารณาช่วยซอฟต์โลนคนไทยก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยพยายามจะให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด แต่ต้องพิจารณาสายการบินของคนไทยก่อน ส่วนสายการบินต่างชาติเป็นลำดับถัดไป ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกรมท่าอากาศยาน และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการพิจารณายกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด ค่าปรับด้วย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2155081