‘เวียดนาม’ เผยยอดทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ม.ค.-พ.ค. พุ่ง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานของสำนักข่าวเวียดนาม ‘VnExpress’ เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ผู้บริโภคชาวเวียดนามใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ตามข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แสดงให้เห็นว่ารายได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินบนช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ iOS ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. สูงกว่าอุปกรณ์ Android ถึง 1.5 เท่า และยอดการใช้จ่ายของทั้งสองแพลตฟอร์มเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้ จากตัวเลขของการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 2.2% ของปริมาณการดาวน์โหลดแอปบนมือถือทั่วโลก โดยประเภทของการดาวน์โหลดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเกมส์ออนไลน์

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-spends-us100-million-on-in-app-purchases-in-jan-may/

‘CIEM’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ โต 6.46% และเงินเฟ้อ 4.39%

จากงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยหน่วยงาน Centre Institute for Economic Management (CIEM) ได้ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม ภายใต้ 3 สถานการณ์ ดังนี้

สถานการณ์แรก มองว่าหากเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินต่อไปได้ และเวียดนามจะยังคงใช้นโยบายในลักษณะแบบเดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2564-2565 ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.34% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 5.64% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้น 3.43%

ในขณะที่สถานการณ์ที่สอง ตั้งสมมติฐานเหมือนกัยสถานการณ์แรก แต่จะมีการปรับนโยบายการเงินผ่อนคลายที่เกี่ยวข้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ทางการคลังที่เป็นบวกมากขึ้นในเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.72% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 3.66% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้น 3.87%

และสถานกาณณ์ที่สาม ตั้งสมมติฐานในเชิงบวกมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ด้วยเหตุนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.46% ในปีนี้ แต่การส่งออกจะหดตัวลง 2.17% และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะสูงถึง 4.39%

ที่มา : https://en.sggp.org.vn/vietnams-economic-growth-forecast-at-646-percent-inflation-439-percent-post103486.html

‘สื่ออังกฤษ’ ตีบทความ โอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

สื่ออังกฤษด้านธุรกิจและการเงิน ‘Financial Times’ ลงบทความที่ทำการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่นำไปสู่การผลักดันให้สัญญาต่างๆ และในโอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามที่จะไปสู่การเติบโตสูงสุด และการใช้ความได้เปรียบทางด้านการผลิต เพื่อการส่งเสริมประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาลงทุน อาทิเช่น เดลล์ (Dell), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ แอปเปิล (Apple) บริษัททั้งหมดในข้างต้นทำการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมองหาโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถในการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-moment-has-arrived-financial-times/256097.vnp

‘เวียดนาม’ ชี้ช่วง 5 เดือนแรกของปี 66 นำเข้าเนื้อสัตว์ ทะลุ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทำมาจากเนื้อสัตว์ ปริมาณมากกว่า 239,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.6% ในแง่ของปริมาณ แต่ลดลง 9.1% ในแง่ของมูลค่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะในเดือนพฤษภาคม พบว่าเวียดนามนำเข้าเนื้อสัตว์ 57.62 พันตัน มูลค่าราว 108.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% ในแง่ของปริมาณ แต่ลดลง 10.2% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการนำเข้าเนื้อสัตว์เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550906/vn-spends-over-480-million-on-meat-imports-in-first-5-months.html

‘เวียดนาม’ กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและเวียดนาม ทำรายได้สูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมูลค่าการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศที่มีสัดส่วนราว 50% ของเม็ดเงินรวมระหว่างกัมพูชาและประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ จากการเติบโตของการส่งออกกัมพูชาไปยังเวียดนามนั้น ได้รับแรงหนุนมาจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากเวียดนาม ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร เชื้อเพลิงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-largest-asean-trading-partner-of-cambodia-media-2163621.html

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าประเทศ มีมูลค่า 13.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทางหน่วยงานได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบความสำคัญในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ความมั่งคงทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี (LG) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-leading-destination-of-fdi-businesses-post1031393.vov

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ แนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางของเวียดนามมีทิศทางที่สดใส สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยว การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการค้ายังคงซบเซา ซึ่งเป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเกินดุลการค้ามากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ว่าภาพรวมของภาคการส่งออกกลับลดลงในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-economy-set-to-rebound-in-h2-report/

‘เวียดนาม’ เผยช่วง 6 เดือนแรกปี 66 ยอดผู้โดยสารทางอากาศ พุ่ง 30%

จากข้อมูลขององค์กรท่าอากาศยานเวียดนาม (ACV) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศเวียดนาม อยู่ที่ 14.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 30% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเติบโตกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ทั้งนี้ ทางองค์กรได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติงานทางด้านการขนส่งและการบิน รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น เนื่องมาจากการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ประกอบกับได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น ทางองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงให้ความสำคัญกับการนำไอทีมาใช้ในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550719/air-passenger-surges-by-30-per-cent-in-first-six-months.html

กระแส! การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) แสดงให้เห็นว่าการชำระเงินด้วย QR Code ผ่านโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม ในขณะที่การทำธุรกรรมการเงินผ่านตู้ ATM มีทิศทางที่ลดลงทั้งในแง่ของมูลค่าและปริมาณ ดังนั้น การทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 75.54% ในแง่ของปริมาณ และ 1.77% ในแง่ของมูลค่า ตลอดจนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน QR Code เพิ่มขึ้น 151.14% และ 30.41% ในแง่ของปริมาณและมูลค่า ขณะที่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ ATM ลดลง 4.62% ในแง่ของปริมาณ และ 6.43% ในแง่ของมูลค่า สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการใช้จ่ายไร้เงินสด ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจึงดำเนินการปรับปรุงกรอบกฎหมายสำหรับการชำระเงินทางดิจิทัล เพื่อสอดคล้องกับทิศทางการชำระเงินของคนในสังคม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550712/electronic-payment-continues-to-flourish-in-viet-nam.html

‘Google’ ชี้การท่องเที่ยวเวียดนามพุ่ง จากจำนวนค้นหาการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 6 ของโลก

สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่าปริมาณการค้นหาสำหรับการท่องเที่ยวของเวียดนาม ผ่านเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามแนวโน้มตลาดของกูเกิล (Google) เติบโตขึ้น 10-25% จากต้นปีนี้ ไต่ขึ้นสู่อันดับที่ 6 จากอันดับที่ 11 ในการจัดอันดับทั่วโลก ทั้งนี้ อินเดียและออสเตรเลียมีศักยภาพในการเติบโตในระดับสูง เนื่องจากสายการบินต่างๆ เริ่มฟื้นตัวและขยายเส้นทางการบินที่เชื่อมต่อกับเมืองต่างๆ ของเวียดนามและทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ แหล่งที่มาของจำนวนการค้นหาเพื่อการท่องเที่ยวมากที่สุดในเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เยอรมนีและฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการที่จะท่องเที่ยวในเวียดนามมากขึ้น และมีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งในภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/search-volume-for-vietnamese-tourism-ranks-6th-worldwide-2161432.html