เอกชนหวั่นรัฐประหารเมียนมาดันแรงงานทะลักเข้าไทย

เอกชนหวั่นแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทย ซ้ำเติมโควิด-19 ยิ่งกระทบศก. ชี้อีกมุมการค้าไทยได้ประโยชน์ ตื่นรัฐประหาร แห่ตุนสินค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากพลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมาว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานเมียนมา อาจไหลทะลักเข้ามาในไทย จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการตรวจตราบริเวณชายแดน โดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ 2,400 กิโลเมตร และต้องจัดการกับผู้เกี่ยวข้องลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้ประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากประชาชนอาจตื่นตะหนกกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย โดยด่านพรมแดนของ จ.เชียงราย มีทั้งหมด 6 ด่าน สร้างรายได้รวมประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการนำเข้า–ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยกับลาว โดยจะติดตามสถานการณ์ภายในของเมียนมาอย่างใกล้ชิดต่อไป นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบการทำรัฐประหารเมียนมา จะส่งผลต่อไทยบ้างเล็กน้อยเนื่องจากการค้าและการส่งออกไทยไปยังเมียนมาในปัจจุบันมีไม่มากแล้ว เพราะส่วนใหญ่เมียนมาได้ผลิตในประเทศเองไม่เหมือนเมื่อก่อน โดยสิ่งที่จะกระทบคงจะเป็นด้านพลังงาน เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจไทยแห่งหนึ่งได้เข้าลงทุนในเมียนมา หากยืดเยื้ออาจกระทบต่อการต่อสัมปทานในระยะข้างหน้าได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/822756

เวียดนามเผยอุตสาหกรรมรองเท้า รุกขยายห่วงโซ่อุปทานโลก

สมาคมเครื่องหนัง รองเท้าและกระเป๋าถือของเวียดนาม (LEFASO) ระบุว่าอุตสาหกรรมรองเท้าของเวียดนามเริ่มเห็นสัญญาเขิงบวก หลังจากยอดการส่งออกรองเท้าและกระเป๋าถือลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 19.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสัญญาแสดงให้เห็นว่าเวียดนามพยายามเข้าห่วงโซ่อุปทานรองเท้าหนังมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการออกแบบและการวิจัยได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งนี้ แหล่งวัตถุดิบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนามนับว่าเป็นโอกาสอันดีของเวียดนามที่จะส่งออกไปยังตลาดอียู ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้หวังว่าในปี 2564 ยอดคำสั่งซื้อและรายได้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับประโยชน์หลังวิกฤติโควิด-19

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/866852/footwear-sector-further-penetrates-global-supply-chain.html

ยอดค้าปลีก-บริการเวียดนาม โต ช่วงเทศกาลเต็ด

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกสินค้าและรายได้จากบริการผู้บริโภคของเวียดนามในเดือนมกราคม อยู่ที่ประมาณ 20.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน และ 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็นยอดค้าปลีก มีมูลค่า 378.9 ล้านล้านด่อง คิดเป็นสัดส่วน 79% ของยอดค้าปลีกรวม เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยรายได้จากร้านอาหารและที่พักอยู่ที่ราว 48.7 ล้านล้านด่อง รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.6 ล้านล้านด่อง และรายได้จากบริการอื่นๆอยู่ที่ราว 50.7 ล้านล้านด่อง ทั้งนี้ สำนักงานฯ ระบุว่ายอดค้าปลีกและรายได้จากบริการผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเข้าใกล้เทศกาลเต็ด (Tet) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอย่างห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เตรียมจัดหาสินค้าจำนวนมาก รวมถึงโปรโมทสินค้า เพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงปีแห่งจันทรคติ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-sales-consumer-service-revenue-up-ahead-of-tet/195737.vnp

เมียนมาอนุมัติเร่งการลงทุนใหม่ในภาคพลังงาน คาดสร้างงานกว่า 4,371 ตำแหน่ง

คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) อนุมัติการลงทุนใหม่ 14 โครงการ ซึ่งการลงทุนจะครอบคลุมภาคพลังงาน การประมง อสังหาริมทรัพย์และบริการ โดยมีมูลค่ารวม 295.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดสร้างงานได้ถึง 4,371 คน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงาน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 40 เมกะวัตต์ 4 โครงการในเขตมัณฑะเลย์ ภูมิภาคสะกาย และภูมิภาคแมกเวย์ ปัจจุบันสิงคโปร์ จีน และไทยติดอันดับ 51 ประเทศที่ลงทุนในเมียนมา มีการลงทุนใน 12 ภาคธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 26% ในภาคไฟฟ้า 26% ในภาคน้ำมันและก๊าซ และ 14.6% ในภาคการผลิต MIC กำลังเร่งดำเนินตามแผนบรรเทาเศรษฐกิจ COVID-19 และแผนฟื้นฟูและปฏิรูปเศรษฐกิจเมียนมา ซึ่งเป้าหมายคือการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ 100% จากระบบกริดแห่งชาติภายในปี 2573

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-approves-new-investments-energy-and-other-sectors.html

แบงก์ชาติเมียนมา ออกกฎระเบียบควบคุม Non-Bank

ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ได้ออกกฎระเบียบใหม่ที่ครอบคลุมการจัดตั้งการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ในประเทศ เพื่อให้อยู่ขอบเขตของธนาคารกลางรวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งประกาศ 1/2564 จะใช้กับนิติบุคคลที่มีเจตนาในการจัดตั้ง NBFI ที่จัดหาเงินทุนเพื่อเช่าซื้อและการซื้อขายลูกหนี้การค้า โดยจะต้องขอใบรับรองการจดทะเบียนจาก CBM เพื่อดำเนินธุรกิจ ขณะนี้ NBFI จำเป็นต้องส่งรายงานเป็นระยะเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปยัง CBM และงบการเงินที่ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบให้กับ CBM ภายในสามเดือนของสิ้นปีบัญชีตามประกาศ 1 / พ.ศ. 2564 ตั้งแต่ปี 2559 CBM ออกใบอนุญาติให้กับ NBFI จำนวน  28 แห่ง มีการเพิกถอนใบอนุญาติ 2 แห่ง ในเดือนสิงหาคม 63 คือ First Collaborative และ Finance Co Ltd เนื่องจากไม่สามารถเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปี ขณะที่เดือนธันวาคม 63 ได้เพิกถอนใบอนุญาตของ Z Corporation Co Ltd เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสมและมีความไม่โปร่งใส

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-releases-directives-non-bank-financial-institutions.html

เจ้าท่า ลุยปรับปรุงท่าเรือเกาะสมุย บูมเที่ยวทะเลอ่าวไทย

กรมเจ้าท่า เร่งปรับโฉมใหม่ท่าเรือเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คาดแล้วเสร็จปี 67 รองรับการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้น-ยกระดับมาตรฐานท่าเรือให้ปลอดภัย นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการตามแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ เพื่อยกระดับท่าเรือให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งท่าเทียบเรือดังกล่าว เป็นท่าเรือสำคัญที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่าเรือเกาะสมุย เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางไปยังเกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะม้า จ.สุราษฎร์ธานี ในอนาคตอาจมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่า จึงดำเนินการปรับปรุงรื้อถอนท่าเทียบเรือเดิมบางส่วน และปรับปรุงท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างท่าเทียบเรือเพื่อส่งเสริมหน้าท่าพื้นที่ 864 ตารางเมตร และเพิ่มพื้นที่สะพานทางเดิน 2,340 ตารางเมตร สร้างอาคารพักคอยรองรับผู้โดยสารเรือครุยส์ ขนาด 1,800 ตารางเมตร และอาคารพักคอยด้านหลังท่าเทียบเรือ 182.25 ตารางเมตร และงานก่อสร้างด้านอื่นๆ ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย และได้มาตรฐานความปลอดภัย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 67 ทั้งนี้ การปรับปรุงท่าเรือเกาะสมุยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจฝั่งอ่าวไทยในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/822510

การส่งออกสินค้าผ่าน SSEZ ในกัมพูชา เพิ่มขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมา

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) รายงานการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 26.52 ในปี 2020 แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยมูลค่าสินค้าที่ส่งออกจาก SSEZ อยู่ที่ 1.556 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าหลักสำคัญในการส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า วัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ โดยรัฐบาลกัมพูชาตระหนักเสมอว่าภาคเอกชนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่ง SSEZ มีขนาด 1,113 เฮกตาร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ในจังหวัดพระสีหนุทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาประมาณ 13 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50808658/ssez-exports-increase-26-percent-in-2020/

ธนาคาร ACLEDA สำรองเงินให้กู้สำหรับ SMEs ภายในประเทศกัมพูชา

ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่มของธนาคาร ACLEDA Bank Plc. ได้ประกาศว่าธนาคารได้สำรองเงินทุนไว้เกือบ 600 ล้านดอลลาร์ สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำหรับการเพิ่มสภาพคล่อง ประคองธุรกิจ และการขยายธุรกิจ ในกัมพูชาสำหรับปี 2021 นอกจากโครงการปล่อยสินเชื่อโดยตรงให้กับ SMEs แล้ว ธนาคาร ACLEDA ยังเข้าร่วมกับ SME Bank ของกัมพูชาในโครงการ SME Co-Financial Scheme (SCFS) โดย SCFS มีมูลค่าทุนรวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เปิดตัวในวันที่ 1 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินทุนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนร่วมกันจาก SME Bank of Cambodia และสถาบันที่เข้าร่วม 33 แห่ง (PFIs) โดยกลุ่ม PFI ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 24 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 6 แห่ง และ MFI 3 แห่ง ในการสนับสนุนภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50808671/acleda-bank-reserves-600-million-for-smes-this-year/

ยอดส่งออกเวียดนาม พุ่ง 50.5% ในม.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคม 2563 เพิ่มขึ้น 50.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 27.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ‘Samsung’ ที่ยกระดับการผลิตและส่งออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ‘Galaxy S21’ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในเดือนมกราคม มูลค่าอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าอยู่ที่ 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 72.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เวียดนามเกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนดังกล่าว แบ่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจในประเทศขาดดุลการค้า 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (รวมถึงน้ำมันดิบ) เกินดุลการค้า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

  ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/865536/viet-nams-january-exports-up-505-per-cent-year-on-year.html

เวียดนามเผยดัชนี CPI เดือนม.ค. พุ่งขึ้น เหตุเทศกาลเต็ต

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้น 0.06% จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนมาจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเต็ด (Tet) ที่กำลังจะมาถึง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ราคาอาหารและค่าบริการพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก ทั้งนี้ ในบรรดากลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ 11 ประเภท มีอยู่ 9 รายการที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยการขนส่งเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.29% รองลงมาอาหารและบริการจัดเลี้ยง (0.44%), การศึกษา (0.33%), เครื่องดื่มและยาสูบ (0.32%) และสินค้าและบริการอื่นๆ (0.24%) ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัย ค่าน้ำค่าไฟ่และวัสดุก่อสร้างลดลง 2.31% และโทรคมนาคม 0.1% อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI หดตัว 0.97 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/80409/high-consumer-demand-for-tet-drives-up-january%C3%A2%E2%82%AC%E2%84%A2s-cpi.html