กัมพูชาส่งออกยางพารามูลค่าแตะ 470 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกยางพาราและไม้ยางพารา ณ เดือนพฤศจิกายน ขยายตัวต่อเนื่องคิดเป็นมูลค่าเกือบ 470 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลดังกล่าวรายงานโดยกรมยาง ซึ่งมูลค่าดังกล่าวแบ่งออกเป็นมูลค่าจากการส่งออกยางพารา 465 ล้านดอลลาร์ และรายได้จากไม้ยางพาราอยู่ที่ 3.8 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นปริมาณของยางพารา 322,586 ตัน เพิ่มขึ้น 9,139 ตัน ขยายตัวที่ร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกไม้ยางพาราสูงถึง 24,989 ลบ.ม. ตามรายงานของ General Department of Rubber ซึ่งราคาขายยางเฉลี่ย ณ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 1,231 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 31 ดอลลาร์ต่อตัน โดยปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 404,578 เฮกตาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501205164/cambodia-sees-nearly-470-million-from-rubber-rubber-wood-exports-in-11-months/

ท่องเที่ยวกัมพูชากลับมาฟื้นตัวสะท้อนจากอัตราการฟื้นตัวที่ร้อยละ 26.3

ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกัมพูชาเริ่มเห็นการขยายตัวที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด นับเป็นอันดับที่สามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จากข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยวของเวียดนาม ซึ่งสิงคโปร์อยู่อันดับแรกด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 30.9, มาเลเซียเป็นอันดับที่สองที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 27.5 รองจากกัมพูชาคืออินโดนีเซียในอันดับที่ 4 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.9 ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.1 และไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22 โดยกัมพูชาตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวอีก 2 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ และภายในปี 2026-2027 คาดว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204801/tourism-recovery-rate-at-26-3-in-cambodia/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

Long Kosal รองผู้อำนวยการ APSARA National Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบในการจัดการ ปกป้อง และอนุรักษ์นครวัด กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้รับแรงผลักดันหลังจากกัมพูชาประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง รวมถึงรัฐบาลยังใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากข้อมูลของ Kosal ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อุทยานโบราณคดีอังกอร์ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากถึง 2.2 ล้านคนในปี 2019 สร้างรายรับจากการขายตั๋วมูลค่ารวมกว่า 99 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ปัจจุบัน Sao En ผู้จำหน่ายของที่ระลึกในอุทยานฯ ได้พูดถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังนครวัดค่อยๆ ฟื้นตัว ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 225,000 คน ซึ่งอุทยานโบราณคดีอังกอร์มีขนาด 401 ตร.กม. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ในปี 1992 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204363/foreign-tourists-gradually-return-to-famed-angkor-in-cambodia/

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีในปีนี้

ธนาคารโลกคาดข้อตกลงการค้าเสรี ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) จะช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตการเกษตรของกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะหนุ่นให้เศรษฐกิจของกัมพูชาฟื้นตัวได้ดีจากผลกระทบของโควิด-19 ภายในปี 2022 รวมถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และการเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 5.4 และจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า และคาดว่ารายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,785 ดอลลาร์ ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,924 ดอลลาร์ ในปี 2023 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ในปี 2023 จากร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204073/cambodias-economy-recovers-well-in-2022-with-better-growth-forecast-for-next-year-despite-headwinds/

กัมพูชาส่งออกไปยังญี่ปุ่นโต 10% มูลค่าแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 1,658 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมกัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมูลค่า 433 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,081 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ขณะที่กัมพูชานำเข้าเครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200556/cambodias-export-to-japan-up-10-at-1-6b/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นตลาดหลักสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันทางการกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าตลาดจีนในปัจจุบันอยู่ที่มูลค่า 805 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด แต่หากนับเฉพาะสินค้าเกษตรตลาดจีนครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่า 281 ล้านดอลลาร์ ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมด 715 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับตลาดจีนเน้นไปที่การนำเข้า กล้วย ข้าวสาร และมันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญ นอกจากนี้ FDI ของจีนยังคงมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ FDI ที่ได้รับอนุมัติคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 4.0 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 260 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200944/cambodias-agricultural-commodities-target-china-as-a-key-export-destination/

ทางการกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมายกว่า 114%

กรมสรรพากร กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าแตะ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเกินกว่าเป้ากรอบงบประมาณที่ได้กำหนดไว้กว่าร้อยละ 114 โดยคาดว่าในปี 2022 การจัดเก็บภาษีจะสูงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับแผนการจัดเก็บประจำปี 2022 ซึ่งปริมาณการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและการบริหาร ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ได้ส่งเสริมให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198406/taxation-revenue-collection-exceeds-114-of-budget-plan/

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.8% ปีนี้

ธนาคารโลกรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงภาคการส่งออกก็เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลกประจำเดือนธันวาคม โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเดินทาง และรองเท้าของกัมพูชาสามารถฟื้นตัวได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Living with COVID-19” ได้กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 1.2 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198797/world-bank-says-cambodias-economy-on-recovery-path-forecast-4-8-percent-gdp-growth-for-this-year/

ข้อจำกัดด้านสุขอนามัย กระทบการส่งออกมะม่วงกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้

มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ที่เข้มงวดได้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับภาคการส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังตลาดเกาหลีใต้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการส่งออกมะม่วงสดในปี 2015 ด้าน Hean Vanhan รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะไฟเขียวให้ส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ แต่กัมพูชาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่กัมพูชาเริ่มเจรจาเพื่อส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เป็นผลเนื่องจากขาดเครื่องมือหรือขั้นตอนตามข้อกำหนด เช่น กระบวนการทางความร้อนด้วยน้ำ (HWT) และกระบวนการทำความร้อนด้วยไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการขจัดสิ่งเจือปนในผลไม้ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร รายงานว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 138,000 ตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197614/hygiene-requirements-hit-fresh-mango-export-to-south-korea/

AEON เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในกัมพูชา

Aeon Mall (Cambodia) Co., Ltd. และ Aeon (Cambodia) Co., Ltd. จ่อเปิดตัวห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่แห่งที่สามในนาม “Aeon Mall Meanchey” ในวันที่ 15 ธันวาคม ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 290 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญ ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญประมาณ 8 กิโลเมตร โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีพื้นขนาดประมาณ 174,000 ตารางเมตร 4 ชั้น จอดรถได้มากกว่า 3,200 คัน และมอเตอร์ไซค์ 1,850 คัน ซึ่งคาดว่าจะจ้างพนักงานประมาณ 5,000 คน ในการให้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการช็อปปิ้งแล้ว ยังมีสวนสาธารณะกลางแจ้งในห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศอีกด้วย ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้คาดว่าจะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้บริการได้ ภายใต้แนวคิดการผสมผสานเทรนด์การใช้ชีวิตในปัจจุบันเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197611/new-290m-luxury-aeon-mall-meanchey-to-open-next-week/