ธนาคารกลางเมียนมาปรับเพิ่มอัตราสำรองขั้นต่ำ

เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและควบคุมการเพิ่มขึ้นของเงินสดหมุนเวียน ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ได้ปรับเพิ่มอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำของสกุลเงินท้องถิ่นจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.75 ในสินทรัพย์สภาพคล่อง ตามประกาศคำสั่ง (4/2024) ลงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยการแก้ไขอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ดังนั้น ธนาคารของรัฐ ธนาคารเอกชน และสาขาของธนาคารต่างประเทศ มีสิทธินำเงินสดเข้าธนาคาร (CAB) ได้ร้อยละ 3 เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารกลางเมียนมาและถือ CAB ร้อยละ 0.75 รวมทั้ง ยังได้กำหนดดอกเบี้ยสำรองส่วนเกินโดยเฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 3.8 เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของธนาคาร และธนาคารที่ถือเงินสำรองส่วนเกินโดยเฉลี่ยเกินกว่า 7 พันล้านจ๊าด อย่างน้อยก็มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ทุนสำรองส่วนเกินที่ธนาคารถืออยู่นั้นจำกัดอยู่ที่ 50 พันล้านจ๊าด อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินต้องดำรงอัตราส่วนเงินฝากเข้าธนาคารกลางเมียนมา โดยเฉลี่ยจนถึงวันสุดท้ายของระยะเวลาดำรงเงินสำรองที่กำหนด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับจากธนาคารกลางเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-hikes-minimum-reserve-requirement-ratio/#article-title

ชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องมีใบรับรอง UID ในการเข้า/ออก

กรมตรวจคนเข้าเมืองได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม การเข้าและออกบริเวณชายแดนเมียวดี-แม่สอด ต้องใช้บัตร UID เท่านั้น โดยมาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามจำนวนบุคคลที่ข้ามชายแดนอย่างแม่นยำ และเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้คนโดยใช้บัตรประจำตัวปลอมหรือล้าสมัย อย่างไรก็ดี แผนการบังคับใช้บัตร UID สำหรับการข้ามชายแดนใช้ไม่เพียงแต่ใช้กับชายแดนประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการข้ามแดนจากประเทศจีนและอินเดียด้วย โดยที่บัตร UID คือเอกสารที่รวบรวมและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางชีวภาพของบุคคลที่อายุเกิน 10 ปี ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นใบรับรองประจำตัวประชาชนที่มีหมายเลข 10 หลัก และบริหารจัดการโดยกรมตรวจคนเข้าเมืองและประชากรที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-mae-sot-border-requires-uid-certificate-for-entry-exit/#article-title

การท่าเรือเมียนมา : เรือคอนเทนเนอร์ 52 ลำมีกำหนดเทียบท่าในเดือนพฤษภาคม

การท่าเรือเมียนมาประกาศว่า เรือคอนเทนเนอร์จำนวน 52 ลำจะเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ประกอบด้วยเรือคอนเทนเนอร์จำนวน 7 ลำดำเนินการโดยสายเรือ Maersk A/S Line, 6 ลำ โดยสายเรือ Cosco Shipping Line และ Samudera Shipping Line, 5 ลำ โดยสายเรือ MSC Line และ SITC Shipping Line, 4 ลำ โดยสายเรือ Ti2 Container Line, 3 ลำ โดยสายเรือ BLPL Shipping Line, CMA CGM ONE Line และ RCL Line และ 2 ลำโดยสายเรือ Evergreen Line, IAL Shipping Line และ PIL Line อย่างไรก็ดี การท่าเรือเมียนมาระบุว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเรือคอนเทนเนอร์เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้ง ในเดือนมกราคม มี 49 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 53 ลำ ในเดือนมีนาคม 55 ลำ และในเดือนเมษายน 50 ลำ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanma-port-authority-52-container-vessels-scheduled-to-call-in-may/#article-title

เมียนมาคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในปีนี้จะมีมูลค่ามากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกรมประมง คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังต่างประเทศจะเกิน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณปัจจุบัน สำหรับในปีงบประมาณที่แล้ว มีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมากกว่า 520,000 ตัน สร้างรายได้จากต่างประเทศเกือบ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเมียนมา ส่งออกไปยังต่างประเทศผ่านช่องทางการค้าทางทะเลและการค้าชายแดน แม้ว่าขณะนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำยังดำเนินการไปได้ดีแต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าสถานการณ์ก่อนโควิด ทั้งนี้ จากข้อมูลของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง เมียนมามีฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง 480,000 แห่ง พร้อมด้วยห้องเย็นกว่า 120 แห่ง รวมทั้งเมียนมามีการส่งออกปลามากกว่า 20 ชนิด ไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย และประเทศเพื่อนบ้านเป็นประจำผ่านการค้าชายแดน ตลอดจนประเทศญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-expects-over-us-800-million-in-aquatic-product-exports-this-year/

จ๊าดพม่าอ่อนค่าลงทะลุ 3,900 จ๊าดต่อดอลลาร์

ข้อมูลจากตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรายงานว่าสกุลเงินจ๊าดของเมียนมา ในตลาดซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ อ่อนค่าลงอีกครั้งที่ระดับกว่า 3,900 จ๊าดต่อดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อวันที่ 12 เมษายนก่อนเทศกาล Thingyan อยู่ที่ 3,890 จ๊าดต่อดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 3,960 จ๊าดต่อดอลลาร์ ในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 70 จ๊าดต่อดอลลาร์ภายใน 15 วัน อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้พยายามทำการอัดฉีดเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ตลาดเพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งมีการร่วมมือกับหน่วยงานด้านกฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่พยายามแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-kyat-depreciates-surpassing-k3900-per-dollar/

ก๊าซธรรมชาติจำนวน 9.5 ล้านลูกบาศก์ฟุต ถูกจ่ายให้กับโรงงานปุ๋ยยูเรียทุกวัน

กระทรวงพลังงานระบุว่า มีการจ่ายก๊าซธรรมชาติประมาณ 9.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้โรงงานปุ๋ยยูเรียดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงกำลังวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตปุ๋ยยูเรียเพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานปุ๋ยจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ โรงงานปุ๋ยแห่งที่ 4 ในเมืองเมียงดากา และโรงงานปุ๋ยแห่งที่ 5 ในเมืองกังยีดานท์ ใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับงานบำรุงรักษาและซ่อมแซม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานและการผลิตมีความต่อเนื่อง ในทำนองเดียวกัน กระทรวงกำลังจัดการบำรุงรักษาโรงงานปุ๋ยและโรงกลั่นน้ำมันอย่างเป็นระบบเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกำลังพยายามเพิ่มการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยการทดสอบบล็อกใหม่ อย่างไรก็ดี กระทรวงผลิตน้ำมันดิบมากกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลและผลิตก๊าซธรรมชาติ 888 ล้านลูกบาศก์ฟุตจากแหล่งน้ำมันภายในประเทศ 10 แห่งจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ในปีงบประมาณ 2566-2567

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/9-5m-cubic-feet-of-natural-gas-distributed-daily-to-urea-fertilizer-factories/#article-title

กงสุลใหญ่เมียนมาส่งเสริมการลงทุนในงานการค้าคุนหมิง

ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ กงสุลใหญ่เมียนมา อูตอดา ออง ในเมืองคุนหมิง เข้าร่วมงานส่งเสริมการลงทุนที่ศูนย์การค้าเมียนมา (คุนหมิง) เขตการค้าเสรีนำร่องของจีน (ยูนนาน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน เขากล่าวว่าศูนย์แห่งนี้เปิดดำเนินการภายใต้การบริหารของสถานกงสุลใหญ่เมียนมาเมื่อเดือนมีนาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างเมียนมาและจีน กงสุลใหญ่ให้คำมั่นว่าสำนักงานของเขาจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทั้งสองประเทศในหลายภาคส่วน รวมถึงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ภายในงาน ผู้แทนกรมส่งเสริมการลงทุน ฝ่ายบริหารคุนหมิง นำเสนอพัฒนาการด้านการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ ตัวแทนเขต Mohan-Boten Corporation ยังได้หารือเกี่ยวกับสถานะความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและลาวตามแนวชายแดน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-consul-general-promotes-investment-at-kunming-trade-event/

โรงงาน 11 แห่งผลิตปูนซีเมนต์ได้ 8 ล้านตันต่อปี

U Than Zaw Htay กรรมการผู้จัดการบริษัท No 1 Heavy Industries Enterprise และ No 2 Heavy Industries Enterprise ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานปูนซีเมนต์ 11 แห่งผลิตปูนซีเมนต์ได้มากกว่า 8 ล้านตันต่อปี โดยภาคเอกชนมีโรงงานปูนซีเมนต์ 16 แห่ง ขณะที่รัฐฯดูแล 3 แห่ง หากโรงงานทั้งหมดเปิดดำเนินการ จะสามารถผลิตปูนซีเมนต์รวมกันได้มากกว่า 16 ล้านตัน อย่างไรก็ดี การบริโภคในท้องถิ่นต่อปีอยู่ที่ประมาณ 10-11 ล้านตัน U Than Zaw Htay กล่าวว่า “เราสามารถตอบสนอง 2 ใน 3 ของความต้องการในท้องถิ่นได้ โดยในปัจจุบัน No 33 Heavy Industry (Kyaukse) ผลิต 5,000 ตันต่อวัน รวม 1.8 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566-2567 นอกจากนี้ ในแต่ละปี บริษัทจัดหาปูนซีเมนต์จำนวน 70,000 ตันสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการอุตสาหกรรมหนัก 31 (Thayet) และอุตสาหกรรมหนัก 32 (Kyangin)”

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/11-factories-produce-8-million-tonnes-of-cement-annually/

ราคาทุเรียนไทยสูงครองตลาด

ทุเรียนจากประเทศไทย ปัจจุบันครองตลาดทุเรียนในประเทศเมียนมา เนื่องจากมีราคาสูง ซึ่งมีราคาโดยทั่วไปอยู่ที่ 40,000-50,000 จ๊าดต่อลูก ทั้งนี้ ในตลาดย่างกุ้ง ราคาทุเรียนไทยตอนนี้มีตั้งแต่ขั้นต่ำ 20,000 จ๊าดต่อลูกไปจนถึงมากกว่า 100,000 จ๊าดต่อลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด อย่างไรก็ดี พ่อค้าในตลาดย่างกุ้งยังระบุว่า แม้ทุเรียนไทยมีจะได้รับความนิยมมากในตลาดทุเรียนในประเทศ แต่เนื่องจากมีราคาแพงเมื่อเทียบกับทุเรียนเมียนมา จึงทำให้ยอดขายทุเรียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ทุเรียนของเมียนมามีราคาถูกกว่าและจะเริ่มมีผลิตมากขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดว่ายอดขายทุเรียนพันธุ์เมียนมาจะสูงขึ้น เนื่องจากในตลาดเมียนมาผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมทานทุเรียน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/expensive-grafted-durians-dominate-the-market/#article-title

เศรษฐกิจของรัฐมีแนวโน้มเติบโต มูลค่าสกุลเงินจะพุ่งสูงขึ้นหลังการคว่ำบาตรและความท้าทายทางการค้า

เช้าวานนี้ ได้มีการประชุมรัฐบาลสหภาพครั้งที่ 4/2567 จัดขึ้นที่สำนักงานประธาน SAC ในเมืองเนปิดอว์ โดยมีประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เป็นประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรี มิน ออง หล่ายได้เปิดเผยว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพด้วยหลักนิติธรรม จัดการราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีความยุติธรรม และรับประกันมูลค่าสกุลเงินที่แข็งแกร่งของประเทศ โดยเขากล่าวต่อว่า เมียนมากำลังเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการปิดกั้นเส้นทางการค้าเพื่อชะลอการไหลของสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากขาดความสงบสุขและเสถียรภาพที่กระทำโดยบุคคลที่ไร้ศีลธรรมบางคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในภาคส่วนอื่นๆ อีกว่า หากเกษตรกรสามารถพัฒนารูปแบบการปลูกพืชอย่างเป็นระบบ ผลผลิตทางการเกษตรจะดีขึ้นในประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนการจัดหาอาหารให้กับประชาคมระหว่างประเทศ สำหรับในภาคส่วนน้ำมันเพื่อการบริโภค นายกรัฐมนตรียังสั่งเจ้าหน้าที่ว่า ผลผลิตพืชน้ำมันต่อเอเคอร์ที่สูงจะช่วยตอบสนองความต้องการน้ำมันสำหรับบริโภค และลดการใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของภาคการเพาะปลูกฝ้าย นายกรัฐมนตรีชี้ว่าการผลิตเส้นด้ายคุณภาพจากสำลีที่บ้านสามารถลดปริมาณการนำเข้าเส้นด้ายและสิ่งทอได้ นอกจากนี้ เขาเน้นย้ำถึง การเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และในภาคการศึกษา พลเอกอาวุโสกล่าวว่าโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในบางภูมิภาคกำลังเผชิญกับความล่าช้าในการเรียนรู้ด้วยเหตุผลหลายประการ และจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการเปิดโรงเรียนอีกครั้งและการกลับมาเรียนอีกครั้ง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/prospects-brighten-state-economy-set-to-thrive-currency-value-to-surge-in-post-sanctions-and-trade-challenges/