พื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาลดลงต่อเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงผลผลิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาลดลง จากพื้นที่ประมาณกว่า 800,000 เฮกตาร์ ในปี 2021 ลดลงเหลือ 700,000 เฮกตาร์ ในปี 2022 ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา ซึ่งตามสถิติการเกษตร ตั้งแต่ปี 2009 พื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 66,513 เฮกตาร์ ในปี 2009 เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 เฮกตาร์ ในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่า ด้วยสถานการณ์ข้างต้นส่งผลทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จากคำกล่าวของ Uon Silot ประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา โดยในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2022 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปริมาณกว่า 660,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ แต่ในปริมาณข้างต้นกลับเป็นการลดลงกว่าร้อยละ 34.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174931/cashew-nut-plantation-area-falls-due-to-climate-change/

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการก่อสร้างของกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่อง

กัมพูชายังคงได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในรายงาน Asean Investment Report 2022 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 260 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 334 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 โดยภาคการก่อสร้างในกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ในปี 2022 และจะขยายตัวกว่าร้อยละ 9.4 ในระหว่างปี 2023-2026 รายงานโดย Bussineswire’s Cambodia Construction Industry Report 2022 ในขณะเดียวกัน Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง คาดการณ์ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เช่นเดียวกันกับการเติบโตของ FDI ซึ่งแรงผลักดันส่วนใหญ่มาจากความต้องการที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยภาคการก่อสร้างถือเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลักทางเศรษฐกิจของกัมพูชา จากข้อมูลของ กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมืองและการก่อสร้าง (MLMUPC) ซึ่งในระหว่างปี 2000-2022 กัมพูชาได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างกว่า 57,590 โครงการทั่วประเทศ ด้วยเงินลงทุนรวม 66.2 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174759/fdi-in-cambodias-construction-sector-touches-334m/

ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ คาดสร้างงานกว่า 6.5 พันตำแหน่ง

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 5 โครงการ มูลค่ากว่า 25.4 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 6,500 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการลงทุนใหม่ จะจัดตั้งขึ้นในจังหวัดกันดาล, กัมปงสปือและพระสีหนุ โดยโครงการต่างๆ ตามการเปิดเผยของ CDC จะเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนประกอบรองเท้า เสื้อผ้า และการแปรรูปโลหะ ซึ่งในปัจจุบัน CDC ได้ออกใบอนุญาตการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนกว่า 94 โครงการ ภายในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ในขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชาก็ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 23.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.17 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ปีนี้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 41.60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาเร่งสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการออกมาตรการในการสนับสนุนด้านการลงทุน ไปจนถึงการออกกฏหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่เป็นการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174204/25-4m-projects-to-create-6500-jobs/

บริษัทสัญชาติจีนวางแผนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในกัมพูชา

China Matrix Technology Group-Horche Intelligent Automobile วางแผนที่จะจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในจังหวัดเกาะกง กล่าวโดย Heng Kim Chan เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานปกครองเกาะกง ถึงแม้ว่าบริษัทจีนจะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการการลงทุน แต่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ โดยในจังหวัดเกาะกงโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.5, ภาคบริการร้อยละ 44.2 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 0.3 ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐบาลกัมพูชาพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ โดยโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นธุรกิจที่ทางการกัมพูชาพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของกัมพูชาเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยยื่นต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งทางการกัมพูชามีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ภายในประเทศใช้รถยนต์และรถโดยสาร EV อย่างน้อยร้อยละ 40 และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 70 ภายในปี 2050

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174221/china-company-plans-ev-assembly-in-cambodia/

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชาจ่อทบทวนร่างกฎหมายภาษีอากรฉบับใหม่

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกำลังเร่งทบทวนร่างกฎหมายภาษีอากรฉบับใหม่ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ภายใต้ข้อมูลเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญาและบทบัญญัติที่สอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกรมภาษีอากร (GDT) ได้เสร็จสิ้นในกระบวนการร่างกฎหมาย และได้ส่งไปยังกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเพื่อทำการตรวจสอบเป็นขั้นตอนถัดไป ซึ่งร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่มีเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในขณะเดียวกันจำต้องทำการปรับข้อกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ที่ได้ประกาศใช้ไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน GDT สามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 2,680 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนของปีนี้ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปีงบประมาณ 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501173213/ministry-of-economy-reviewing-draft-new-tax-law/

คาดยอดขายรถจักรยานยนต์ในกัมพูชาแตะ 190 ล้านดอลลาร์ ในปี 2026

ยอดขายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศกัมพูชาคาดว่าจะแตะที่มูลค่า 141.30 ล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2022 และมีแนวโน้มที่อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) สูงถึงร้อยละ 7.67 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้มูลค่าตลาดในปี 2026 ของตลาดรถจักรยานยนต์ขยายตัวไปถึงระดับ 189.90 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันความต้องการรถจักรยานยนต์กระจุกตัวอยู่ในโซนชนบทของกัมพูชา เนื่องจากครอบครองเป็นเจ้าของได้ง่ายและเอื้อต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำ ในขณะที่การประมาณการของภาครัฐบาลกัมพูชา ได้รายงานว่าปัจจุบันกัมพูชามีปริมาณรถยนต์อยู่ที่ 920,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 5.2 ล้านคัน นับตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน

ตามการรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501173402/motorcycle-sales-in-fast-lane-may-touch-190m-in-2026/

CRF คาดสถานการณ์น้ำท่วม ไม่กระทบกับผลผลิตข้าวในกัมพูชา

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) คาดการณ์ถึงสถานการณ์การผลิตข้าวในกัมพูชา หลังประสบกับปัญหาทางด้านอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปแล้ว 200,000 เฮกตาร์ โดยในปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดอยู่ที่ 2.5 ล้านเฮกตาร์ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 8 ของพื้นที่เพาะปลูก แต่ถึงอย่างไรทางสมาพันธ์ข้าวกัมพูชายังคงมองว่าผลกระทบยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากคาดว่าผลกระทบจากน้ำท่วมจะคลี่คลายในอีกไม่ช้า ในขณะที่ภาครัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านความร่วมมือกับ CRF ในการขยายตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งสนับสนุนตลาดที่มีอยู่อย่างจีนและสหภาพยุโรป ที่มีความต้องการข้าวของกัมพูชาสูง ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปแล้วกว่า 449,325 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามรายงานของ CRF สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 287 ล้านดอลลาร์ โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งได้ทำการนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาปริมาณกว่า 198,107 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 44.09 ของยอดการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501171338/rice-output-forecasts-unchanged-despite-floods-says-crf/

ท่าเรือ PPAP ในกัมพูชาโกยรายได้โต 21% ในช่วง 3 ไตรมาส

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่าเรือในประเทศกัมพูชา ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) โดยได้รายงานถึงสถานการณ์รายได้ในช่วง 3 ไตรมาสของปี ที่เติบโตกว่าร้อยละ 21 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 30.3 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้ดังกล่าวแบ่งออกเป็นรายได้จากการดำเนินการท่าเรือมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบเป็นรายปี, รายได้จากการบริหารจัดการท่าเรือ 3.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ,รายได้จากการให้บริการอื่นๆ มูลค่า 212,000 ดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 22 และรายได้จากช่องทางอื่นๆ มูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 13 โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่าเรือได้เริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์เทียบท่าและห้องเย็น เพื่อขยายการรองรับสินค้าและเป็นการตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501171763/ppap-revenue-jumps-21-percent-in-three-quarter-period/

ทางการกัมพูชาและองค์กรของ UN เรียกร้องเสริมการลงทุนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

รัฐบาลกัมพูชา รวมถึงองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการอาหารโลก (WFP) เรียกร้องให้มีการลงทุนเกี่ยวกับระบบแปรรูปอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในระดับโลก โดยปัจจุบันกัมพูชาได้กำหนดแผนดังกล่าวเป็นวาระสำคัญระดับชาติ สำหรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาห่วงโซ่ระบบการแปรรูปอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในประเทศ ภายในปี 2030 เพื่อให้แน่ใจว่าปริมาณอาหารจะมีเพียงพอสำหรับประชากร ภายใต้คุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีสำหรับทุกคน กล่าวโดน Om Kimsir รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง โดยจากข้อมูลล่าสุดของ WFP ราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของกัมพูชายังคงค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ราคาอาหารนำเข้ากลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นกว่า 39.7% ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้เทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501169436/cambodia-un-agencies-call-for-more-investment-to-ensure-food-security/

กัมพูชาส่งออกจักรยานมูลค่ารวมกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.

กัมพูชาส่งออกจักรยานไปยังตลาดต่างประเทศในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้มูลค่าประมาณกว่า 700 ล้านดอลลาร์ เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้ ที่มูลค่าการส่งออกรวม 505 ล้านดอลลาร์ หรือขยายมากกว่า 104% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกจักรยานไปยังสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา กลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ โดยข้อมูลดังกล่าวประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศและโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกจักรยานของกัมพูชาเริ่มกลับมาเติบโตหลังจากก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยความต้องการจักรยานในตลาดโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงกัมพูชามีมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันตลาดโลกมีประเทศผู้ส่งออกจักรยานรายใหญ่ 5 ประเทศแรก ได้แก่ จีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70.3% ของมูลค่าการส่งออกจักรยานทั้งหมดทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501169435/bicycle-exports-stay-in-high-lane-earn-700-million-for-jan-sept/