เวียดนามเผยบริษัทอสังหาฯ พร้อมฟื้นตัวหลังหมดโควิด-19

บริษัทอสังหาริมทรัพย์เริ่มมองถึงก้าวต่อไป เล็งเห็นโอกาสหลังจากวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดฟื้นตัวในไม่ช้า จากรายงานทางสถิติของกระทรวงก่อสร้าง เผยว่าร้อยละ 80 ของตัวแทนขายอสังหาฯ หยุดการดำเนินงานชั่วคราวในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ยังคงสามารถดำเนินงานได้อยู่ในระดับปานกลาง โดยจำนวนบริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสแรก ลดลงร้อยละ 12 ขณะที่ บริษัทที่หยุดดำเนินงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 อย่างไรก็ตาม คนในวงในส่วนใหญ่เชื่อว่าผลกระทบจะเป็นเพียงระยะสั้นและตลาดจะกลับมาแข็งแกร่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คุณ Nguyen Quoc Bao รองผู้อำนวยการบริษัทอสังหาฯแห่งหนึ่ง กล่าวว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงฝ่าวิกฤติโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมต่อวงจรการเติบโตใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทที่มีกำลังการผลิตต่ำ แต่สำหรับธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินและการดำเนินงานอย่างมืออาชีพที่จะนำฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้ ผลกระทบเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ‘วิกฤติสร้างโอกาส’ นอกจากนี้ ตลาดอสังหาฯเวียดนาม ยังคงมีข้อได้เปรียบอย่างมากและเป็นที่สนใจแก่นักลงทุน เพราะว่าด้วยจำนวนประชากรราว 100 ล้านคน และร้อยละ 55 อยู่ในช่วงอายุ 25-40 ปี ที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการที่อยู่อาศัย ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมั่งคง ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว (Rapid Urbanization)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/real-estate-firms-gear-up-for-race-after-pandemic/173808.vnp

Moody’s มองกัมพูชายังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคง

Moody’s Investors Service กล่าวว่ากัมพูชามีบัฟเฟอร์ทางด้านการคลังที่แข็งแกร่งในการรับมือกับการหยุดชะงักของการค้าและการเติบโตที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 โดยในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในสิงคโปร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐกล่าวว่าการชะลอตัวของจีน สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของกัมพูชาในปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ GDP จะหดตัวมาอยู่ที่ 0.3% แต่คาดว่าจะดีดตัวขึ้นมาเกือบ 6.0% ในปีหน้า (2021) ซึ่งมูดี้ส์กล่าวว่าโปรไฟล์เครดิตล่าสุดของกัมพูชาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของประเทศ โดยหน่วยงานจัดอันดับกล่าวว่าการระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชาเป็นอย่างมาก จากผลกระทบของการชะลอตัวของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับกัมพูชาเป็นอย่างมาก ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจีนคิดเป็น 43% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของกัมพูชาขณะที่นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 36% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50726331/moodys-sees-solid-growth-prospects-for-cambodia/

SECC และ CCC ลงนาม MoU ในการส่งเสริมกลุ่มหลักทรัพย์ในกัมพูชา

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SECC) และหอการค้ากัมพูชา (CCC) ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ บริษัท ในกลุ่มหลักทรัพย์กัมพูชา โดยบันทึกความเข้าใจนี้ลงนามเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยอธิบดี SECC และประธานของ CCC ได้บันทึกความเข้าใจซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักในตลาดหลักทรัพย์ให้กับองค์กรการค้าเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน รวมถึงเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในท้องถิ่น ด้วยการลงนามใน MoU ถือเป็นภาพสะท้อนของการมีผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์มากขึ้นในกัมพูชาให้ความสนใจกับตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) โดยเตรียมเข้าสู่ตลาดเพื่อรวบรวมเงินทุนจากตลาดหุ้นและการค้าในตลาดหุ้น แสดงความมั่นใจต่อสมาชิกของ CCC ในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ปัจจุบัน CSX มี บริษัท 11 แห่ง บริษัท หลักทรัพย์ 5 แห่งและ บริษัท หุ้นกู้ 6 แห่ง ซึ่งมีเงินทุนรวมทั้งสิ้น 223 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50726211/secc-ccc-sign-mou-on-promoting-securities-sector/

เขตมะกเว อนุญาตให้โรงงานกว่า 1,000 แห่งเปิดใหม่อีกครั้ง

รัฐบาลระดับภูมิภาคเขตมะกเวอนุญาตให้โรงงานมากกว่า 1,000 แห่งเปิดใหม่หลังจากถูกปิดตัวลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 โดยอนุญาตให้เปิดมากกว่า 1,000 แห่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ตหลังจากผ่านการตรวจสอบซึ่งหมายความว่าพนักงานประมาณ 20,000 คน จะได้กลับมาทำงานอีกครั้ง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/magwe-govt-allows-more-1000-factories-reopen.html

พาณิชย์-เอกชนจับตาความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

พาณิชย์-เอกชน เตรียมแผนปรับทัพส่งออก รับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ปะทุรอบใหม่  ชี้โลก เดาใจ “ทรัมป์” ยาก แต่คาดใกล้ช่วงเลือกตั้งปธน กระทรวงและภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน จนเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ และจะมีการจัดทำแผนในการผลักดันส่งออกร่วมกันเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว และในปี 63 ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐ-จีนอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าไทยมีโอกาสที่ได้รับประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องของการค้าและการลงทุนมากเช่นกัน โดยเฉพาะโอกาสที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นซับพลายเซนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มั่นคงของโลกได้ เพราะในระยะหลังมีผู้ประกอบการจากจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยและอาเซียนจำนวนมากเพื่อป้อนชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนและประเทศต่าง ๆ ช่วงหลังจีนกับประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐและยุโรปมีปัญหากันหลังจากที่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสหรัฐที่กล่าวหาจีนมาเป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดการระบาดจนมีความขัดแย้งต่อเนื่อง ดังนั้นจีนต้องหาพันธมิตรในอาเซียนและประเทศใกล้เคียงมากขึ้น เห็นจากที่ผ่านมาไทยขออะไรจีนมักได้ง่ายๆหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปิดด่านในการส่งสินค้าเกษตรไทยไปจีน ก็ได้รับความสะดวกรวดเร็วผิดกับครั้งก่อนๆ จนทำให้สินค้าเกษตรไทยหลายตัวสามารถส่งออกไปจีนได้เพิ่ม เช่น ทุเรียน แม้จะเจอปัญหาระบาดโควิด-19 แต่ก็มีล้งจีนเข้ามากว้างซื้อทุเรียนไทยมากกว่าเดิมอีกเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดจีน  

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/775916

พาณิชย์ จับมือสภาเกษตรกรฯ แนะช่องทางขายสินค้าเกษตรไทย ช่วงโควิด-19

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประชุมทางไกลกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ หารือการบรรเทาปัญหาให้ภาคเกษตรที่เผชิญกับวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 เน้นช่วยหาตลาดให้สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์การเกษตร และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ พร้อมแนะใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อและขยายส่งออกไปตลาดโลกทั้งนี้หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดว่าพฤติกรรมของตลาดจะเปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตร อาหารปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จึงจำเป็นที่กลุ่มเกษตรกรจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทั้งสองหน่วยงานพร้อมร่วมมือกันให้ความรู้แก่เกษตรกรในเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและเพื่อส่งออก รวมทั้งแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกไปยังตลาดโลก

ที่มา : http://www.thaidailymirror.com/index.php/economy/showcontent/146700.html

เวียดนาม คาดสินเชื่อปี 63 โต 9-10%

การเติบโตสินเชื่ออาจโตเพียงร้อยละ 9-10 ในปีนี้ หากเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 13 ถึงแม้ว่ามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปได้ในทิศทางที่ดี ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ โดยอัตราการเติบโตจะต่ำกว่าที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ร้อยละ 11-14 ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางเวียดนามไว้ที่ระดับ 0.5 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาจไม่ช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของธุรกิจ ซึ่งการลดลงดังกล่าวจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อระบบธนาคารและอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าเมื่อเทียบกับการตัดดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ลดต้นทุนแก่ธนาคารอย่างมีนัยสำคัญและสนับสนุนให้ธุรกิจขยายการชำระหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็คาม อัตราดอกเบี้ยข้างต้นปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคยังคงอยู่ในวงจำกัด ทำให้ธุรกิจไม่กู้ยืมแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

ที่มา :https://en.vietnamplus.vn/credit-growth-forecast-to-slow-to-910-percent-in-2020/173671.vnp

‘สนามบินเถาะซวน’ วางแผนในการรองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินเถาะซวนในจังหวัดทัญฮว้าให้เป็น 5 ล้านคนในปี 2573 โดยทางสำนักงานอนุมิติการวางแผนเพื่อพัฒนาสนามบินในปี 2573 ด้วยการวางเป้าหมายไปสู่ปี 2593 รวมถึงยื่นแผนโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่ออนุมัติแผน ทั้งนี้ ตามข้อมูลรายงานใหม่ปี 2573 สนามบินเถาะซวนจะก้าวไปสู่สนามบินนานาชาติ ในขณะเดียวกัน ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและสินค้า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5 ล้านคน และ 25,000 ตันต่อปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/tho-xuan-airport-plans-to-serve-5-million-passengers-per-year/173655.vnp

MAI ให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมาที่กักกันตัวในสิงคโปร์

Myanmar Airways International (MAI) ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมากกว่า 800 คนที่ถูกกักกันในสิงคโปร์จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 สายการบินให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพื่ออพยพชาวเมียนมาในต่างประเทศและมีพระสงฆ์มากกว่า 500 รูปจากกรุงเทพฯ ธากา กัวลาลัมเปอร์ และกายะ ทั้งนี้ยังอพยพคนงานชาวเมียนมากว่า 6,000 คนที่ถูกค้ามนุษย์ในอินโดนีเซียและมาเลเซียโดยความร่วมมือของ KBZ Bank โดยใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ MAI, Air KBZ, KBZ Bank, KBZ MS General Insurance และ KBZ Life บริจาคเงินกว่า 3.3914 พันล้านจัตเพื่อป้องกันและควบคุม COVID-19 จนถึง 7 พฤษภาคม 2020

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/mai-assists-quarantined-myanmar-citizens-in-singapore

กระทรวงแรงงานฯ สปป.ลาวเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งรัดความช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงาน

เจ้าหน้าที่แรงงานท้องถิ่นทั่วประเทศจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและช่วยลดการสูญเสียงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจากตัวเลขของอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 2% จนปัจจุบันอยู่ที่ 25%  Mr.Khamsingsavath อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกล่าวในการประชุมหารือในการช่วยเหลือแรงงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า “การระบาดของCOVID-19 ทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศรวมถึงสปป.ลาวและคนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์การว่างงานเมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสียงานได้และคาดว่าความยากจนในสปป.ลาวจะเลวร้ายลงเพราะคนงานจำนวนมากจะถูกปลดออกจากงานจากการที่ธุรกิจหลายๆแห่งได้รับผลกระทบจากCOVID-19” เจ้าหน้าที่แรงงานยอมรับข้อกังวลของพวกเขาเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการแนะนำมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือแรงงานแต่ทางการก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนายจ้างบางรายรวมถึงผู้ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไม่มีแผนชัดเจนในการสรรหาแรงงานสปป.ลาวทำให้นโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือแรงงานทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_officials_97.php