‘เวียดนาม’ เล็งขึ้นแท่นเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในอาเซียน ปี 2568

เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2568 ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซจะดึงดูดกิจการขนาดใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น ทางด้านคุณ Do Huu Hung ผู้อำนวยการของบริษัท Accesstrade มองว่าอีคอมเมิร์ซควรเป็นก้าวแรกของการเดินทางออนไลน์ ตามมาด้วยบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความมั่นในให้กับผู้บริโภคและปรับปรุงประสบการณ์การช้อปปิ้ง หากบริการด้านโลจิสติกส์ดีขึ้นแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 50-60% ของเศรษฐกิจเวียดนามในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ตามรายงาน “e-Commerce White Book 2020” เปิดเผยว่ารายได้ทั่วโลกจากอีคอมเมิร์ซแบบ B2C มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงปี 2562-2566 จากระดับ 1.94 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 2.88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาซียน รวมถึงเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-become-second-largest-digital-economy-in-southeast-asia-in-2025-experts/225333.vnp

‘เวียดนาม’ เผยนโยบายการคลัง คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

นาย Võ Thành Hưng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม เปิดเผยว่าได้ดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (4%) ที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ ท่ามกลางราคาสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศ ทั้งราคาอาหารและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของเวียดนาม เฉลี่ย 1.92% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นโยบายการคลังจึงต้องลดภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้  ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะยังต่ำกว่า 4% และเสริมว่ารัฐบาลมีความสามารถที่จะควบคุมราคาสินค้าให้มีความยืดหยุ่น เช่น การลดภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำหรับเชื้อเพลิง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1174694/fiscal-policies-work-to-keep-inflation-under-control.html

 

‘CP’ เล็งรุกขยายการลงทุนในเวียดนาม

วันที่ 18 เมษายน นายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ได้เข้าพบกับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และหารือกับการดำเนินงานและการผลิตของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตลอดจนบรรยายกิจการเจริญโภคภัณฑ์ว่าเปิดธุรกิจในเวียดนามเมื่อปี 2536 ในอุตสาหกรรมเกษตรผ่านบริษัท ซีพี เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานชาวเวียดนาม จำนวนมากกว่า 30,000 คน และในปี 2563 บริษัท ซีพี ได้เปิดตัวโรงงานแปรรูปไก่ในจังหวัดบิ่นห์เยือ ประเทศเวียดนาม ด้วยกำลังการผลิต 50 ล้านตัวต่อปีในเฟสแรก และเฟสสอง จะสามารถผลิต 100 ล้านตัว ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ แสดงความยินดีกับความสำเร็จของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11414402-thailand-s-cp-group-interested-in-expanding-investment-in-vietnam.html

‘เวียดนาม’ เผยตลาดรถยนต์ในประเทศ มี.ค. เริ่มฟื้นตัว

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในเดือนมี.ค. มียอดขายรถยนต์กว่า 36,962 คัน เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นับว่าเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่ยอดขายรถยนต์ของสมาคมฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังจากในเดือนมกราคม ลดลง 34% และ 26% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อยู่ที่ 28,491 คัน รถยนต์เชิงพาณิชย์ 7,794 คัน เพิ่มขึ้น 63% และรถที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ 677 คัน เพิ่มขึ้น 41% นอกจากนี้ ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ แสดงให้เห็นว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อรถยนต์ที่ประกอบในประเทศ เนื่องจากการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 50% ตามพระราชกฤษฎีกาเลขที่ 103/2021 /ND ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 – 31 พ.ค.2565

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1174400/domestic-car-market-sees-consumption-growth-in-march.html

หนี้สาธารณะเวียดนาม พุ่งแตะระดับ 3,500 ล้านล้านดอง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเวียดนาม ภายใต้กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่าหนี้รัฐบาล มีจำนวน 3,100 ล้านล้านดอง มาจากเงินกู้ต่างประเทศ 1,100 ล้านล้านดอง หากเทียบกับปี 2560 ชี้ให้เห็นถึงรัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 533 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 333 ล้านล้านดอง รองลงมาเกาหลีใต้ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาการให้กู้ยืมของเวียดนามกับสถาบันการเงินระดับโลก พบว่าธนาคารโลก (World Bank) เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 382 ล้านล้านดอง รองลงมาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้คาดการณ์ว่าหนิ้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 46%-47% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-public-debt-totals-vnd3-500-trillion-as-of-june-2021-2010781.html

‘สหรัฐอเมริกา’ ขึ้นแท่นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ไตรมาส 1/65

จากรายงานทางสถิติของสำนักงานศุลกากร เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีสัดส่วน 29.1% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด และในเดือนมีนาคม เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 9.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 25.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป มีจำนวน 6 รายการสินค้า ได้แก่ เครื่องจักร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ รองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าเวียดนามประเภทเครื่องนุ่งห่ม มีความโดดเด่นอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนกว่า 50.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-in-q1-post938047.vov

‘เวิลด์แบงก์’ เผยการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของเวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการส่งออกและบริการที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในขณะการค้าระหว่างประเทศ พบว่าเดือน มี.ค. เวียดนามเกินดุลการค้า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย (4.0%)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11407902-vietnam%E2%80%99s-economic-growth-driven-by-good-recovery-of-sectors-wb.html

 

‘เวียดนาม’ เผยไตรมาส 1 ปี 65 เกินดุลการค้าสะพัดกว่า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) รายงานว่าเวียดนามมียอดเกินดุลการค้า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 และหากพิจารณาตัวเลขการค้าของเดือนมีนาคม พบว่าเพิ่มขึ้น 20% เป็นมูลค่า 36.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการค้ารวมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 176.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.3% โดยกิจการต่างชาติยังคงเป็นแรงผลักดันการส่งออกของเวียดนาม มีสัดส่วน 73.4% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้น 34.8% คิดเป็นมูลค่า 972 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอาเซียน

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-posts-trade-surplus-of-us146-billion-in-q1-320536.html

เวิลด์แบงก์ ชี้ ‘เวียดนาม’ ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง RCEP

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าเวียดนามทำรายได้มากที่สุดจากการค้ากับประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) โดยอัตราภาษีศุลกากรทางการค้าเฉลี่ยของเวียดนามปรับตังลดลงจาก 0.8% มาอยู่ที่ 0.2% ในขณะที่อัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศจะลดลงจาก 0.6% มาอยู่ที่ 0.1% ปี 2543-2578 ทั้งนี้ ตามรายงานของ newswire Vietnam Briefing ชี้ว่าผลประโยชน์จากการค้าของเวียดนามกับสมาชิกประเทศ RCEP ส่งผลให้เวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับของประเทศอื่นๆ ที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นราว 2.5% อีกทั้ง เวียดนามและมาเลเซียเป็นประเทศสมาชิกที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงฉบับนี้ “RCEP” จะช่วยให้เวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่าของความตกลง CPTPP อย่างไรก็ตามเวียดนามต้องยกระดับความสามารถ เพื่อที่จะตอบสนอบความต้องการที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-benefit-most-from-rcep-wb-post937468.vov

การค้าทวิภาคี กัมพูชา-เวียดนาม แตะ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า การค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เวียดนาม มีมูลค่ารวมมากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปี 2020 และยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของ Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงและการพัฒนาในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ภายใต้รูปแบบ New Normal เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501057807/cambodia-vietnam-bilateral-trade-remained-steady-at-9-billion-in-2021/