8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 15.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.3%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานภาวะการส่งออกของกัมพูชาส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวม 15.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากมูลค่า 15.64 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละถึงร้อยละ 16.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 804.6 ล้านดอลลาร์

ซึ่งรายงานระบุว่าจีนถือเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของกัมพูชาที่มีศักยภาพ เหมาะสมแกการผลักดัน รองจากสหรัฐฯ และเวียดนาม ด้านสินค้าส่งออกหลักที่กัมพูชาส่งออก ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง และลำไย ขณะที่ Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังจีนอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลมาจากการที่กัมพูชามีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นภาคการส่งออกไปยังจีนและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบข้อตกลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357435/cambodias-exports-worth-15-7-billion-in-8-months-up-0-3-pct/

ม.ค.-ส.ค. กัมพูชาส่งออกข้าวสารแตะ 278.6 ล้านดอลลาร์

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในช่วงในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณรวมกว่า 401,699 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 278.6 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศรวม 56 ประเทศ ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายสำคัญของกัมพูชาที่จำนวน 143,818 ตัน สร้างรายได้รวม 91.6 ล้านดอลลาร์ ด้าน Chan Sokheang ประธาน CRF ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวสารตลอดทั้งปีไว้ที่ 700,000 ตันในปี 2023 โดยเน้นการส่งออกไปยังจีนเป็นสำคัญจากการกำหนดโควตาการส่งออกไปให้ถึง 400,000 ตันต่อปี ภายใต้ความร่วมมือจากสหพันธ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357757/cambodia-earns-278-6-million-from-milled-rice-export-in-january-august/

กำลังการผลิตและยอดขายรถจักรยานยนต์เวียดนาม โตแซงไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ตั้งเป้ายอดการผลิตรถจักรยานยนต์ในปีนี้ เกินเป้าที่คาดไว้ที่ 2.1 ล้านคัน เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลง แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตชิปสามารถจัดหาชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ได้จำนวนมาก ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เวียดนาม (VAMM) รายงานว่าการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศจะเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2565 ที่ 3.32 ล้านคัน ขยายตัว 9.9% ต่อปี ในขณะที่การบริโภครถจักรยานยนต์ของเวียดนามในปี 2565 มากกว่า 3 ล้านคัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-surpasses-thailand-in-motorcycle-production-capacity-and-domestic-sales-post1044303.vov

‘ดัชนี PMI’ ภาคการผลิตเวียดนาม กลับมายืนเหนือ 50 จุด ครั้งแรก รอบ 6 เดือน

ตามรายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ค. ที่ระดับ 48.7 เนื่องจากสัญญาการฟื้นตัวของอุปสงค์ จึงทำให้คำสั่งซื้อใหม่และการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การจ้างงานยังคงปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากภาคธุรกิจมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรับพนักงานใหม่เพิ่ม เพราะอุปสงค์ที่อ่อนตัว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593373/pmi-back-above-50-mark-for-first-time-in-six-months.html

บังกลาเทศ ยื่นเสนอ 3 โมเดลการค้าแบบนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา

สมาคมผลิตภัณฑ์น้ำตาลและอ้อยของเมียนมา (MSCA) เปิดเผยว่าบังกลาเทศได้ยื่นข้อเสนอให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากเมียนมา ภายใต้รูปแบบระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานภาครัฐ (G2G), หน่วยงานรัฐกับภาคธุรกิจ (G2B) และธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ซึ่งผลปรากฎว่าทางสมาคมฯ พร้อมที่จะส่งออกน้ำตาลไปยังบังกลาเทศ เนื่องจากมีสต็อกเพียงพอในปีงบประมาณนี้ นอกจากนี้ ยังมีการยื่นข้อเสนอให้ซื้อข้าวจากเมียนมา เนื่องจากข้าวมีคุณภาพดี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bangladesh-proposes-three-commercial-models-for-importing-sugar-from-myanmar/#article-title

ท่าเรือบก จีน-สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวแตะ 1 ล้านคน

ท่าเรือบ่อหาน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชายแดนจีนติดกับ สปป.ลาว โดยได้ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 1 ล้านคน จาก 64 ประเทศทั่วโลก ตามการรายงานของ Sengdala Nittiya เจ้าหน้าที่ท่าเรือบก ซึ่งเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เชื่อมไปยังท่าเรือบกในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้านการจราจรเข้าและออกผ่านทางท่าเรือทางบกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี โดยเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน เป็นสูงสุด 8,000 คนต่อวัน นับตั้งแต่การรถไฟจีน-สปป.ลาว เปิดตัวให้บริการ ซึ่งท่าเรือบ่อหานถือเป็นท่าเรือทางบกที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและ สปป.ลาว โดยคาดว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมที่สำคัญ สำหรับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และเป็นประตูสำคัญสู่ประเทศต่างๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2023/0907/c90000-20068605.html

จีนทุ่มทุนสร้างทางด่วนในกัมพูชา หวังประหยัดเวลาการเดินทาง

จีนเข้าลงทุนสร้างทางด่วนสาย พนมเปญ-สีหนุวิลล์ เป็นสายแรก หวังอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง และช่วยประหยัดเวลา รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งเป็นสำคัญ ลงทุนโดยบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ และเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2022 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 3 ปี ซึ่งทางด่วนสายดังกล่าวมีความยาวอยู่ที่ 187 กิโลเมตร ด้าน Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ทางพิเศษเป็นผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยก่อนหน้านี้หากเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 4 จะใช้เวลาถึงประมาณกว่า 5 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเมื่อใช้ทางด่วนสายดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทางด่วนสายดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356499/chinese-invested-expressway-in-cambodia-saves-time-money-for-travelers/

หนี้สาธารณะกัมพูชาพุ่งแตะ 10.7 พันล้านดอลลาร์

ณ ครึ่งแรกของปี หนี้สาธารณะของกัมพูชาขึ้นมาอยู่ที่มูลค่า 10.72 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 99.57 หรือคิดเป็นมูลค่า 10.67 พันล้านดอลลาร์ เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากภายนอก และส่วนที่เหลือเป็นหนี้สาธารณะในประเทศ ซึ่งรายงานระบุเสริมว่าหนี้สาธารณะร้อยละ 64 มาจากการกู้ยืมจากหุ้นส่วนการพัฒนาในระดับทวิภาคี, มาจากหุ้นส่วนการพัฒนาพหุภาคีคิดเป็นร้อยละ 36 และหนี้สาธารณะในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.43 โดยในระดับทวิภาคี จีนถือเป็นผู้ให้เงินกู้สินเชื่อแบบมีสัมปทานหลักของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.08 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ของหนี้สาธารณะต่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่การกู้ยืมในระดับพหุภาคีของกัมพูชาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อยู่ที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารโลกที่ 1.26 พันล้านดอลลาร์ หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้ รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบผ่อนปรนใหม่กับพันธมิตรมูลค่ารวม 787 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของเพดานที่กฎหมายงบประมาณกำหนด สำหรับปี 2023 รัฐบาลวางแผนที่จะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์ จากการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยวัตถุประสงค์ของการกู้เงินส่วนใหญ่นำไปลงทุนสำหรับโครงการภาครัฐในภาคส่วนที่มีความสำคัญ เพื่อหวังที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356109/kingdoms-public-debt-stands-at-10-7-billion/

กกร.เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3% เสนอรัฐบาลเร่งนโยบายลดค่าครองชีพ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง และสัญญาณความเสี่ยงในเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทยที่ยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด โดย กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิมอยู่ที่ 3.0-3.5% เป็น 2.5-3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก เช่นเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด ส่งผลให้ กกร.ปรับประมาณการจากเดิมมองอยู่ที่ -2.0 ถึง 0.0% มาอยู่ที่ -2.0 ถึง -0.5% และเงินเฟ้อที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.2-2.7% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1388453

‘เวียดนาม’ โอกาสขึ้นแท่นฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ระดับโลก

เหงียน ตรัง เวือง (Nguyen Thang Vuong) จากสำนักงานตลาดยุโรปและอเมริกา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าแอปเปิล (Apple) ได้ย้ายโรงงานของบริษัทไต้หวัน จำนวน 11 แห่งไปยังเวียดนามแล้ว และมองว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่ต้องการขยายเครือข่ายและตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม อาทิเช่น อินเทล (Intel) ได้อัดฉัดเม็ดเงินทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเวียดนาม ขณะที่บริษัทของเล่นระดับโลกสัญชาติเดนมาร์ก เลโก้ (LEGO) ประกาศทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานในเมืองบิ่นห์เซือง ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/great-opportunity-for-vietnam-to-be-a-global-production-base-post1044055.vov