RMKH Glove (กัมพูชา) เปิดตัวโรงงานผลิตถุงมือในกัมพูชาแห่งแรก

RMKH Glove (กัมพูชา) โรงงานผลิตถุงมือแห่งแรกในกัมพูชา ได้ประกาศเริ่มดำเนินการผลิตถุงมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตัน (MSEZ) ในตำบลบาเวต จัดตั้งขึ้นโดยบริษัท Medtecs Group เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2021 โดยมีกำลังการผลิตถุงมือประมาณ 50 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 600 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจะทำการผลิตถุงมือเกรดทางการแพทย์คุณภาพสูงเป็นสำคัญ ด้านรัฐมนตรีอาวุโส Ly Thuch ได้กล่าวเสริมว่าเขตเศรษฐกิจในตำบลบาเวต ได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตแห่งใหม่ โดยมีโรงงานกว่า 178 แห่ง ในเขตพื้นที่ สร้างการจ้างงานคนในพื้นที่มากกว่า 90,000 คน ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากัมพูชาได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่น่าดึงดูดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีประมาณร้อยละ 7 และด้วยความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบาย ‘วิน-วิน’ ของรัฐบาล ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในกัมพูชา รวมถึงเอื้อต่อการเติบโตของภาคการส่งออกและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ภายใต้กฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านข้อเสนอ อาทิเช่น การยกเว้นภาษี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501161095/rmkh-glove-cambodia-launches-manufacturing-facility/

แบงก์ชาติกัมพูชาจ่อดำเนินการกับธนาคารไมโครไฟแนนซ์ที่ไม่มีระบบ KHQR

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) จะเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารและสถาบันไมโครไฟแนนซ์ (MFIs) โดยยังคงใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลที่เรียกว่ารหัส QR ในรูปแบบเก่า ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า KHQR สามารถใช้ได้กับธนาคาร 38 แห่งทั่วกัมพูชาผ่านการสแกน KHQR ได้ทั้งในรูปแบบของการรับและชำระเงินระหว่างสถาบันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยทุกธนาคารจะมีแพลตฟอร์ม KHQR แค่เพียง 1 อัน บนมาตรฐานเดียวกันที่ทาง NBC เป็นผู้กำหนดให้ สำหรับธนาคารและสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงิน เพื่อให้บริการลูกค้าสำหรับการชำระสินค้าและบริการอื่นๆ ในกัมพูชาผ่านแอปพลิเคชันมือถือของแต่ละสถาบันการเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501161096/nbc-to-take-action-on-banks-mfis-not-using-khqr/

“เมืองโฮจิมินห์” ดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ 2.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของสำนักงานการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเมืองโฮจิมินห์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 2.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจากจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เงินทุนบางส่วนกว่า 348 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังโครงการใหม่ 567 โครงการ หดตัว 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในภาคใต้ จำนวน 97 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 121.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 35% ของเงินทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามลำดับ ในขณะเดียวกันเงินทุนอีกราว 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเพิ่มลงในไปยัง 114 โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.5 เท่า นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าในการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ประมาณ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 16.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/297-billion-usd-in-fdi-poured-into-hcm-city-in-9-months/239392.vnp

แนวโน้ม GDP เวียดนามทั้งปี 65 โต 8% กรณีพื้นฐาน

นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าการเติบโตทาง GDP ของเวียดนามในปี 2565 จะขยายตัวที่ 8% สำหรับกรณีพื้นฐาน (Base Case) หากตลาดไม่มีความผันผวน ในขณะที่หากประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในกรณีเลวร้าย (Worst Case) จะขยายตัว 7.5% สาเหตุมาจากเผชิญกับความไม่แน่นอนและผบกระทบจากปัจจัยภายนอกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า มองว่าเวียดนามจะเผชิญทั้งความท้าทายและโอกาส แต่อย่างไรก็ดีต้องเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่หดตัว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลต่อภัยคุกคามอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ และความเสี่ยงที่ไม่ปกติ อาทิเช่น พายุ น้ำท่วมและโรคระบาด

ที่มา : https://thoibaotaichinhvietnam.vn/gdp-growth-to-hit-8-this-year-in-base-case-scenario-official-113863.html

ยอดใช้น้ำมัน 8 เดือนพุ่ง 15.2% หลังโควิดคลี่คลาย-ท่องเที่ยวฟื้นตัว

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 8 เดือนแรกปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม 2565) อยู่ที่ 150.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้กลุ่มดีเซล เพิ่มขึ้น 17.6 % น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 80% น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 18.6% LPG เพิ่มขึ้น 10.8% NGV เพิ่มขึ้น 8.4% และการใช้กลุ่มเบนซิน เพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่น้ำมันก๊าด ลดลง 8.1% ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข จนสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/684214

เยอรมนีมอบเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาประเทศให้กับ สปป.ลาว

นาย Jochen Flasbarth รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Vientiane Times ณ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันในเวียงจันทน์  เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาว่า ความร่วมมือทวิภาคีรอบใหม่ระหว่าง 2 ประเทศ เยอรมนีพร้อมสนับสนุนสปป.ลาว โดยการมอบเงิน 38 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ เช่น การจัดการป่าไม้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท ช่วยให้ชุมชนในชนบทเข้าถึงการศึกษา และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งสปป.ลาวและเยอรมนีเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2501 และมีความร่วมมือทวิภาคีกันในปี 2506 ปัจจุบัน เยอรมนีได้ให้เงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปมากกว่า 560 ล้านยูโร ส่วนมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 159 ล้านในยูโร และยังได้มอบทุนการศึกษาให้ชาวสปป.ลาว ประมาณ 3,000 คน เพื่อไปศึกษาและฝึกอบรมในเยอรมนีอีกด้วย

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten191_Germany_y22.php

วันที่ 23 ก.ย. 65 ของปีงบ 65-66 การส่งออกของเมียนมามากกว่าการนำเข้า

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 23 กันยายน 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าของเมียนมาสูงกว่าการนำเข้า เป็นการส่งออก 8,159.057 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าออยู่ที่ 8,159.033 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564-2565 พบว่า การส่งออกเพิ่มขึ้น 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ส่วนการนำเข้าจะเป็น สินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค  ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์พยายามลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและกระตุ้นการส่งออก โดยเน้นนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น  วัสดุก่อสร้าง สินค้าทุน วัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-goods-exports-surpass-larger-than-imports-as-of-23-sept/#article-title

คาดปี 2026 นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้ากัมพูชาถึงระดับช่วงก่อนโควิด

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาคาดว่าจะถึงระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2026 โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดกัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 6.6 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 4.92 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเกือบ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 720 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความคาดหวังของทางการกัมพูชาในปีนี้กำหนดไว้ที่ 2 ล้านคน ณ สิ้นปี โดยภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกเหนือจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501160330/international-tourists-to-cambodia-to-reach-pre-pandemic-level-in-2026/

“RCEP-CKFTA” หนุนการค้ากัมพูชาและเกาหลีใต้

รัฐบาลกัมพูชาคาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ กล่าวโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา รวมถึงจัดเป็นอันดับสองในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา โดยในปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ พุ่งแตะเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501160317/rcep-ckfta-to-give-big-boost-to-cambodia-korea-trade/

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3595909