เดือนส.ค.65 เรือบรรทุกสินค้า 55 ลำเข้าเทียบท่าในเมียนมา

การท่าเรือเมียนมา เผย รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนภาคการส่งออกและนำเข้ามากขึ้นและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกสินค้าของประเทศ จะมีเรือสินค้าทั้งหมด 55 ลำเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือติละวาซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของประเทศในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ โดยส่วนใหญ่เมียนมาจะส่งออกสินค้าทางทะเล เช่น ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าทางการเกษตร และสินค้าประมงเป็นหลัก ในขณะที่นำเข้าจะเป็น วัตถุดิบสิ่งทอ, วัสดุก่อสร้าง, เครื่องจักร และสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากประเทศมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการค้าทางทะเลจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งสินค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรและปศุสัตว์ และยังสามารถสร้างตำแหน่งงานให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/55-cargo-ships-to-dock-in-myanmar-in-august/

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 25% ในช่วงครึ่งปีแรก

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เกิดความยืดเยื้อ โดยกัมพูชานำเข้าน้ำมันมูลค่ารวม 1,910 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจาก เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย โดยความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ในขณะที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123526/kingdoms-oil-imports-surge-25-in-h1/

NBC คาดปีนี้ GDP กัมพูชาโต 5.3%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาเติบโตในปีนี้ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าการเติบโตจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่ง NBC คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2021 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลทำให้เกิดเงินเฟ้อกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดพรมแดนของประเทศอีกครั้ง รวมถึงได้ทำการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 11,317 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123527/nbc-sees-cambodias-gdp-growth-at-5-3-in-2022/

มูลค่าการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา พุ่ง 330% ในช่วง H1

มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 870,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 330 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 201,143 ดอลลาร์ ด้าน Hong Sok Hour ผู้บริหาร CSX ระบุว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อย โดยมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดบัญชีราวๆ ประมาณ 250-300 บัญชีต่อเดือน และมีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว 16 แห่ง ระดมทุนไปแล้วกว่า 280 ล้านดอลลาร์ โดยมีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 31,000 ราย ที่ได้เปิดบัญชีซื้อขายใน CSX ณ เดือนมิถุนายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122946/csx-trading-value-up-330-in-h1/

SSEZ ดันมูลค่าการค้าขึ้นเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) พยายามเป็นอย่างมากในการรักษาสายการผลิตภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาจัดตั้งรวม 170 แห่ง ทั้งจาก ยุโรป, สหรัฐฯ, จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง กล่าวโดย Chhin Chien Kang ประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งแต่เดือน มกราคม-มิถุนายน มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ พุ่งไปแตะที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมองว่าโครงการ Belt and Road Initiative จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตต่อไปในอนาคต โดย Chhin Chien Kang ยังได้กล่าวเสริมว่า ด้วยนโยบายที่ดีและน่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มีบริษัทวางแผนที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่อีกแห่ง ในเขตเศรษฐกิจสีหนุวิลล์ (SEZ) ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122950/sihanoukville-sez-trade-value-surges-to-1-3b/

เดือน ก.ค.65 ราคาถั่วแระตลาดย่างกุ้งพุ่งสูง

สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. 2565 ราคาของถั่วแระ (red gram) ในตลาดย่างกุ้ง พุ่งแตะ 1.485 ล้านจัตต่อตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5,000 จัตต่อตันเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากอินเดียผู้นำเข้าหลักลดพื้นที่การเพาะปลูกและความผันผวนของค่าเงินจัต ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันถั่วแระส่งออกไปยังอินเดียเป็นหลัก และยังส่งออกไปยังสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และมาเลเซียด้วย โดยภาคเกษตรกรรมของเมียนมาเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 30% ของจีดีพีของประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเปลือก ข้าวโพด ฝ้าย อ้อย ถั่วต่างๆ และถั่วต่างๆ โดยถั่วคิดเป็น 33% ของสินค้าทางการเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ จากข้อมูลการค้าของกระทรวงพาณิชย์ เผย ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 22 ก.ค.2565 ในปีงบประมาณ (2565-2566) เมียนมาส่งออกถั่วแระ มากกว่า 8,200 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/pigeon-pea-prices-remain-on-high-side-in-last-week-of-july/

สปป.ลาว – อินโดนีเซีย ร่วม MOU เพื่อพัฒนาโรงงานไฟฟ้า

บริษัท PT Pembangkitan Jawa-Bali (PJB) ของอินโดนีเซียและ บริษัท Electricite Du Laos (EDL) จากสปป.ลาว ได้ร่วมลงนามในความร่วมมือ (MOU) ด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งการลงนามดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำสปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ ภายใต้ MOU ดังกล่าว จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ บำรุงรักษา ซ่อมแซมเพื่อการบริการ และเพื่อจัดหาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าสำหรับสปป.ลาวและประเทศใกล้เคียง

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten147_Lao_Indonesia_y22.php

“เวียดนาม” เผยราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลง

ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศปรับตัวลดลง 18,500 ดอง เหลืออยู่ที่ 430,500 ดองต่อถัง 12 กก. เริ่มวันที่ 1 ส.ค. นับเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันที่ราคาก๊าซหุงต้มลดลง หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าราคาก๊าซหุงต้มในพื้นที่ชนบท สำหรับถัง 12 กก. ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค. ลดลงเหลืออยู่ที่ 85,500 ดอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลงในเดือนส.ค. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกประกาศราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 665 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลง 60 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยราคาก๊าซหุงต้มในประเทศจะเคลื่อนไหวตามราคาโลก โดยอุปทานภายในประเทศมีสัดส่วนประมาณ 60% ของความต้องการในประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ซัพพลายเออร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าราคาก๊าซอาจพลิกกลับทิศทางที่จะสูงขึ้นต่อไปได้

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cooking-gas-prices-down-further/

“เวียดนาม” เผยม.ค.-ก.ค. ยอดเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรทำสถิติ

ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนานาชนบทของเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนก.ค. 65 เวียดนามส่งออกและนำเข้าสินค้าการเกษตร ป่าไม้และประมงรวมทั้งสิ้น 58.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้างต้นอยู่ที่ 32.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าราว 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% และ 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหากเทียบกับมูลค่าในปีที่แล้ว นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้จากการส่งออกที่มีมูลค่าสูงกว่าปีที่แล้ว ได้แก่ ยางพารา 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% รองลงมาพริกไทยและปลาสวาย อย่างไรก็ตาม รายได้จากการส่งออกสินค้าบางชนิดลดลง เช่น ผัก หดตัว 16% และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ร่วงกว่า 10% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-registers-strong-rise-in-farm-trade-surplus-in-jan-jul/

พาณิชย์ ยังสั่งตรึงราคาสินค้า ห้ามผู้ผลิตปรับขึ้นราคา

วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประกาศจะปรับขึ้นซองละ1บาทหลังจากที่แบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะยังคัดค้านที่จะไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะต้องการตรึงราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นแบบนี้ ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และนม ณ วันนี้ยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคา ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่ก็มีแค่บางยี่ห้อที่ปรับราคา ดังนั้นผู้บริโภคจึงยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้าทดแทนได้ นอกจากนี้การปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นสินค้าหรือส่วนลดทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกตลาด ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร

ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/trade/534927