CDC อนุมัติการลงทุนในกัมพูชามูลค่ารวมกว่า 3 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ออกหนังสือรับรองการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดกำปงสปือ ตามข้อเสนอการลงทุนสำหรับโครงการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของ HAO JIA LI (CAMBODIA) GARMENT CO., LTD. โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 700 ตำแหน่ง ถือเป็นโครงการล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ หลังจากอนุมัติโครงการลงทุนไปแล้ว 47 โครงการ มูลค่าเม็ดเงินลงทุนรวมกันประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานทางสถิติเศรษฐกิจและการเงิน ไตรมาสแรกของปี 2022 โดยมีการลงทุนด้านในภาคเกษตรมากกว่า 60 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 108 การลงทุนในภาคพลังงานแตะระดับ 389 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 607 การลงทุนในอุตสาหกรรมมีมูลค่ารวม 200 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 65 ในขณะที่การลงทุนภาคการท่องเที่ยวมีมูลค่ารวม 129 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501106853/cdc-approves-factory-investment-worth-over-3-million/

จีนให้คำมั่นกัมพูชา สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง

Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ให้คำมั่นต่อกัมพูชาในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านการส่งออกและการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศ โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-10 ทุกปี ในด้านการลงทุน Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึง 206 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง จีน-กัมพูชา ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนมีมูลค่าถึง 4,990 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต ในขณะที่กัมพูชาส่งออกไปยังจีนมูลค่ารวมอยู่ที่ 519.8 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,470 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501106399/china-pledges-continuous-support-for-cambodias-economic-development/

“กัมพูชา-สปป.ลาว” หารือทวิภาคี กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีกัมพูชา-สปป.ลาว (JCBC) ครั้งที่ 14 ว่าด้วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีนายปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาว เป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายหวังว่าจะยืนหยัดเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ตลอดจนประเด็นข้อกังวลต่างๆ

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/national-politics/cambodia-laos-renew-pledge-strengthen-bilateral-cooperation

มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็น 970 ล้านดอลลาร์

มูลค่าตลาดของอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19 หรือคิดเป็นมูลค่า 970 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการรายงานของ iTrade Bulletin ของกระทรวงพาณิชย์ โดยมูลค่าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบสองเท่าภายในปี 2025 ซึ่งรายได้ของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่มาจากสินค้าแฟชั่น 263 ล้านดอลลาร์, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 254 ล้านดอลลาร์ ,สินค้าความงาม สุขภาพ 230 ล้านดอลลาร์ และ สินค้าอื่นๆ ได้แก่ อาหาร 57.19 ล้านดอลลาร์, เครื่องดื่ม 44.29 ล้านดอลลาร์, เฟอร์นิเจอร์ 46.29 ล้านดอลลาร์, ของเล่น 62.94 ล้านดอลลาร์ และสื่อ 11.19 ล้านดอลลาร์ โดยในรายงานระบุว่าประมาณร้อยละ 54.9 ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซดำเนินการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตบนเดสก์ท็อปพีซี ในขณะที่ส่วนที่เหลือใช้งานบนแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501105754/e-commerce-market-value-rises-19-to-970-million/

หอการค้าไทยผลักดันการค้าชายแดน รวมถึงกัมพูชา

รัฐบาลไทยเร่งกระตุ้นการค้าชายแดน และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยหอการค้าไทยกล่าวถึงความเสี่ยงในตลาดโลก อาทิเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ วิกฤตด้านพลังงาน และการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตในภาคการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ด้าน สุรงค์ บูลกุล รองประธานสภาฯ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลไทยได้เสนอให้เร่งเปิดด่านพรมแดนระหว่างไทยกับ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา เพื่อเพิ่มการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์การค้าชายแดนขยายตัวร้อยละ 5 ในปีนี้ หรือคิดเป็น 1.08 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี การค้าชายแดนของไทยหดตัวร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นมูลค่า 314,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการปิดด่านชายแดนที่สำคัญของจีนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 ภายใต้นโยบาย Zero-Covid

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501106160/thai-chamber-pushes-border-trade-including-with-cambodia/

เงินเฟ้อ สปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในรอบ 22 ปี

ในเดือนมิ.ย.2565 เงินเฟ้อในสปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสร้างความลำบากและซ้ำเติมการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก ด้านสำนักงานสถิติของสปป.ลาว ชี้ว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินกีบเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อ ซึ่งเกินกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้คือ 12% โดยในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ราคาน้ำมัน ก๊าซ และทองคำพุ่งขึ้น 107.1 เปอร์เซ็นต์ 69.4% และ 68.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับสถานการณ์ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวน ความหวาดกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และวิกฤตด้านอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากการที่รัฐบาลพยายามจัดหาให้กับประชาชน ที่ผ่านมาเงืนเฟ้อในสสป.ลาว เคยพุ่งสูงสุดถึง 26.95% ในปี 2543 ทั้งนี้ จากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.2565 ที่พุ่งสูงขึ้นสูงสุด คือหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ที่พุ่งขึ้นถึง 55.5%

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten126_Inflation.php

จักรยานมือสองญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งตลาดใน “มัณฑะเลย์”

เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองเป็นหลัก ซึ่งจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงในเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้มียอดขายสูงขึ้นส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ราคาอยู่ที่ประมาณ 120,000 – 150,000 จัตต่อคัน ซึ่งจักรยานจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในประเทศจะผ่านทางทะเล หลังจากนั้นร้านที่รับซื้อจะทำการซ่อมบำรุงรักษาเพื่อไปขายต่อให้กับผู้ที่สนใจรับซื้อ ปัจจุบันในตลาดจะมีที่นำเข้ามาทั้งจากจีนและญี่ปุ่นแต่ที่นิยมส่วนมากจะเป็นของญี่ปุ่นเพราะ มีความทนทานสูงและสมรรถนะที่ดี และในช่วงที่น้ำมันแพงยิ่งเป็นตัวเร่งให้จักรยานเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นมากขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/used-bikes-from-japan-grasp-market-share-in-mandalay-city/

ครึ่งปีแรกของปี 65 ท่าเรือย่างกุ้งมีเรือขนส่งสินค้า เทียบท่าถึง 306 ลำ !

การท่าเรือเมียนมา เผย ครึ่งแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีเรือขนสินค้าทั้งหมด 306 ลำเข้าจอดเทียบท่าของท่าเรือย่างกุ้ง ทำให้มีแผนที่จะขยายการให้บริการตั้งแต่เดือนพ.ค.2565 เพื่อให้การส่งออกและนำเข้าสะดวกสะบายมากขึ้น โดยมีจำนวนเรือที่เข้ามาเทียบท่า ดังนี้ เดือนม.ค. จำนวน 49 ลำ,เดือนก.พ จำนวน 48 ลำ, เดือนมี.ค. จำนวน 50 ลำ, เดือนเม.ย. จำนวน 52 ลำ, เดือนพ.ค.จำนวน 54 ลำ และเดือนมิ.ย. จำนวน 53 ลำ ซึ่งมูลค่าการค้าทางทะเลระหว่างวันที่ 1 เม.ย. ถึง 24 มิ.ย.2565 ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 มีมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว ที่มีมูลค่าการค้า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ประมง แร่ธาตุ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในขณะที่การนำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบอุตสาหกรรม ปัจจุบันเมียนมามีท่าเรือ 9 แห่ง ซึ่งท่าเรือย่างกุ้งถือเป็นประตูการค้าทางทะเลของเมียนมา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/yangon-port-handles-306-cargo-ships-in-h1/#article-title

“เวียดนาม” ตั้งเป้าศก.โต 7% ปีนี้

นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวในที่ประชุมของรัฐบาลว่าเวียดนามตั้งเป้าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 7% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัว 6-6.5% เพื่อให้บรรลุตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 จะต้องขยายตัว 9% และในไตรมาสที่ 4 (6.3%) และเวียดนามเกินดุลงบประมาณ ทำให้นโยบายการคลังช่วยภาคธุรกิจและผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ สถาบันสินเชื่อจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตแก่กิจการและเศรษฐกิจ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/Vietnam-targets-7-GDP-growth-this-year-investment-minister-says

“เวียดนาม” ส่งออกสินค้าประมง พุ่ง 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เวียดนามส่งออกสินค้าประมง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หากพิจารณารายการสินค้า อาทิ กุ้ง เวียดนามส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น 7% ถือว่าอยู่ในระดับปกติ คิดเป็นมูลค่ารวม 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหลายรายได้ยกระดับมูลค่าของกุ้งแปรรูปให้สูงขึ้นแทนที่จะเป็นของดิบ ไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเล นอกจากนี้ วิกฤตเงินเฟ้อและสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปิดโอกาสครั้งสำคัญแก่ปลาสวายของเวียดนามในปีนี้ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าปลาไวท์ฟิช ทำให้เกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรงในตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากรัสเซีย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/aquatic-exports-spike-40-in-h1/232123.vnp