FTAs-RCEP ผลักดันกัมพูชาผลิตสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น

รัฐบาลกัมพูชาได้สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจผู้ผลิตทำการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศกัมพูชาได้เปิดตลาดส่งออกกว้างขึ้น หลังจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้กล่าวในพิธีเปิดถนนแห่งชาติหมายเลข 7 ว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2022 ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชาต่อไป สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีน กัมพูชาสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 340 ชนิด โดยร้อยละ 95 ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกยกเว้นการเก็บภาษี ส่วนความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้รับการลงนามระหว่าง 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศหุ้นส่วนการค้าเสรีอีก 5 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่ง RCEP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมประมาณ 2.2 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรโลก และครอบคลุมปริมาณการค้าถึงร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983649/ftas-rcep-pushing-cambodia-into-producing-more-products-for-exports/

ปีงบฯ 63-64 ค้าชายแดนเมียนมา ลดฮวบ 10.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน

ปีงบประมาณ 63-64 การค้าชายแดนมีมูลค่ามากกว่า 10,140.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเกือบ 495 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปีงบฯ 63-64 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,890.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้า 3,250.407 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 10,140.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในปีงบประมาณ 62-63 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,187.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้า 3,447.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 10,635.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค.63 ถึงปลายเดือนก.ย.64 ของปีงบประมาณ 63-64 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป 3,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในหมวดตัด เย็บ และบรรจุห่อ (CMP) รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติมูลค่ากว่า 3,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ .ข้าวและข้าวหักมูลค่า 700.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ .ปัจจุบันเมียนมากำลังพัฒนายุทธศาสตร์การส่งออกระดับชาติเพื่อกระตุ้นการส่งออก ในภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการด้านลอจิสติกส์ ด้านบริการข้อมูลการค้าและนวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/221426

ท่าเรือสีหนุวิลล์ วางแผนขยายท่าเรือ ดึงดูดการลงทุนในกัมพูชา

ทางการกัมพูชาวางแผนขยายท่าเรือน้ำลึกในจังหวัดพระสีหนุ ในช่วงปี 2022 เพื่อลดต้นทุนการขนส่งทางทะเล และถือเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งแผนดังกล่าวเปิดเผยโดยผู้อำนวยการท่าเรือสีหนุวิลล์ โดยในปัจจุบันท่าเรือสีหนุวิลล์สามารถรองรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณร้อยละ 18-19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการขยายท่าเรือเฟสแรกกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 350 เมตร และลึก 14.5 เมตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2022 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 ส่งผลทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าได้ประมาณร้อยละ 93 ของปริมาณการเดินเรือในภูมิภาค โดยการขยายท่าเรือจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางทะเลได้อย่างมาก และในที่สุดจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังกัมพูชา โดยเฉพาะที่จังหวัดพระสีหนุ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50982631/sihanoukvilles-sea-port-expansion-in-pipeline-to-contribute-to-cost-cuts-in-shipping-and-attract-investments/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะ 1.4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1,487 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม กัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 447 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กัมพูชาเกินดุลการค้าระหว่างญี่ปุ่นที่ 1,010 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่นของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก เป็นสำคัญ โดยกัมพูชามองว่าญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ รวมถึงในระยะถัดไปกัมพูชาและญี่ปุ่นวางแผนที่จะเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983025/cambodias-exports-to-japan-net-1-4-billion/

‘เวียดนาม’ คาด GDP ปี 64 โต 2%-2.5%

นาย Tran Tuan Anh หัวหน้าคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2%-2.5% อย่างไรก็ตาม หลังการปรากฏตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวราว 0.2%-0.4% ในปีหน้า ขณะที่เวียดนามก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3/64 ปรับตัวลดลง 6.17% นับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติและแถลงตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส ทั้งนี้ เวียดนามจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาด ด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาว ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมและความทันสมัยต่อสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2021-gdp-estimated-at-2-2-5/

 

‘เวียดนาม’ ยังคงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ในฐานะประเทศไม่บิดเบือนค่าเงิน

ตามรายงานฟอเร็กซ์ (Forex) และนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังแจ้งว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.64 ไม่มีประเทศคู่ค้าที่ดำเนินจัดการเรื่องของสกุลเงิน เพื่อที่จะได้เปรียบทางการค้าหรือเพื่อปรับดุลการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เวียดนามและไต้หวัน มีคุณสมบัติตรงตาม 3 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังคงร่วมทำงานกับเวียดนามและไต้หวัน เพื่อชี้แจงความกระจ่างให้กับสหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนเม.ย. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศถอดชื่อเวียดนามพ้นจากบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนในกรอบของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (The 1988 Act)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1094059/viet-nam-continues-to-meet-us-treasury-criteria-for-not-being-labelled-a-currency-manipulator.html

 

เมียนมาส่งออกสินค้าประมง พุ่งขึ้น 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุ มูลค่าการส่งออกอาหารทะเล ณ วันที่ 19 พ.ย.64  -ของงบประมาณย่อย (ต.ค. 64 ถึงมี.ค 65) อยู่ที่ประมาณ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 120.6 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมาสหพันธ์การประมงแห่งเมียนมา (MFF) พยายามขยายการส่งออกโดยไม่คำนึงถึงการหยุดชะงักของการค้าทางทะเลจาการแพร่ระบาดของ COVID-19 การปิดประตูชายแดนและความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น อวนจับปลา ราคาน้ำมันสร้างภาระให้กับอุตสาหกรรม รวมทั้งค่าเงินจัตอ่อนค่าลงในตลาดฟอเร็กซ์ ซึ่งสินค้าประมง เช่น ปลา กุ้ง และปู ถูกส่งออกไปยังตลาดใน 40 ประเทศ ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย และสหภาพยุโรป โดยตลาดจีนคิดเป็น 65% ของการส่งออกประมงทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าการส่งออกการประมงโดยรวมที่ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปีงบประมาณ 62-63 ปัจจุบันจีนปิดพื้นที่ชายแดนจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ MFF เริ่มหันไปมองตลาดที่มีศักยภาพอย่างบังคลาเทศแทน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 63-64 (ต.ค.63-ก.ย.64) เมียนมาส่งออกอาหารทะเลคิดเป็นมูลค่า 784.889 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/earning-from-export-of-myanmar-aquaculture-products-exceeds-128-mln-as-of-19-november/

สปป.ลาว จีน ตกลงขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ

สปป.ลาวและจีนวางแผนที่จะร่วมมือกันต่อไปในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง เจ้าหน้าที่ของสปป.ลาวและจีนได้รายงานแง่มุมต่างๆ ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน การขนส่ง และการศึกษา การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ลาวและจีนเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูต นายสะลุมไซ คมสิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสปป.ลาว กล่าวว่า “สปป.ลาวรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความช่วยเหลือของจีนผ่านการจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และวัคซีนเมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้รับบริจาควัคซีนและเวชภัณฑ์ Sinopharm Covid-19 ของจีนจำนวน 700,000 โดส มูลค่า 17 พันล้านกีบ เพื่อช่วยรัฐบาลในการจัดการกับการระบาดของไวรัส”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_China_agree_239.php

ททท. ยันจัดงานปีใหม่ตามแผน เชื่อ ‘โอไมครอน’ ไม่กระทบท่องเที่ยว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แม้จะพบรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดเชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์ โอไมครอน เข้ามาในประเทศไทยเป็นรายแรกแล้ว แต่ก็เชื่อว่าระบบสาธารณสุขสามารถรับได้ และไม่ได้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีมากหากบริหารจัดการได้ดี จึงเชื่อว่า จะสามารถดูแลต่อไปได้ เพราะตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวได้ปรับเพิ่มขึ้นจากวันละประมาณ 2,000 คน เป็นวันละ 6,000 คนแล้ว อีกทั้งยังเชื่อว่า ความรุนแรงของเชื้อโรคกลายพันธุ์นี้จะไม่รุนแรงและไม่น่ากังวล ส่วนการจัดการต่าง ๆ ตอนนี้ยังยืนยันจัดตามแผนเดิม โดยเฉพาะงานเคานท์ดาวน์ปีใหม่

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/547033/

ระดมทุน ‘ฟินเทค’ อาเซียนพุ่งกว่าสามเท่า แตะสูงสุดมูลค่า 3.5 พันล้านดอลล์จากปี 63

เงินทุนสำหรับเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) ในภูมิภาคอาเซียนดีดตัวกลับอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงาน FinTech in ASEAN 2021 ของ UOB, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association (SFA) ระบุว่าจำนวนการระดมเงินทุนสำหรับฟินเทคที่พุ่งสูงขึ้นนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากข้อตกลง 167 ข้อตกลง และในจำนวนนี้ 13 ข้อตกลงมาจากการระดมทุนระดับเมกะ มีมูลค่ารวมสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจบริษัทฟินเทคขั้นปลาย ซึ่ง 10 จาก 13 ข้อตกลงบรรลุ ได้เงินทุนในระดับเมกะในปีนี้ ซึ่งมีบริษัทฟินเทคของไทยรวมอยู่ด้วย โดยเทรนด์นี้เป็นสัญญาณชี้ถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของนักลงทุนในตลาดในภูมิภาคหลายแห่ง และแสดงให้เห็นว่านักลงทุนดำเนินการอย่างระมัดระวังและเลี่ยงความเสี่ยงโดยให้การสนับสนุนบริษัทที่เติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเติบโตขึ้นจากภาวะโรคระบาด เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่สูงขึ้นในภูมิภาคอาเซียน นักลงทุนจึงเชื่อมั่นและทุ่มเงินทุนให้บริษัทฟินเทคขั้นปลายในหมวดหมู่การชำระเงินมากที่สุด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_3068515