‘เวียดนาม’ เบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะเกิน 50% เป็นระยะเวลา 8 เดือน

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 245 ล้านล้านดอง (10.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 51.1% ของเป้าหมายปี และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนจังหวัดและหัวเมืองต่างๆ มีคำสั่งให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนี้แล้ว สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของวัสดุก่อสร้างและการขาดความมุ่งมั่นในการทำงานของหน่วยงานรัฐและท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขัดขวางความก้าวหน้าของการลงทุนภาครัฐ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/disbursement-of-public-funds-reaches-over-50-in-8-month-period-318577.html

‘ภาคการผลิตของเวียดนาม’ ปรับตัวลดลง เหตุโควิด-19 ระบาด

ผลสำรวจโดยนิกเกอิ ชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 40.2 ในเดือนสิ.ค. จากระดับ 45.1 ในเดือนก.ค. สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนามต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ทั้งนี้ แอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ รองผู้อำนวยการ IHS Markit กล่าวว่าผู้ผลิตของเวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาการดำเนินงานในปัจจุบันที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายเวลาต่อไปมากขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานของภาคการผลิต ประสบปัญหาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ภาคธุรกิจยังคงให้พนักงานบางส่วนอยู่ในสถานที่ทำงาน แต่พนักงานบางส่วนยังไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วนั้น การจ้างงานลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-manufacturing-output-declines-on-covid-19-outbreak-318571.html

ความต้องการมะเขือเทศสูงแม้ราคาดิ่ง

จากรายงานของผู้ค้าส่งมะเขือเทศใน Thiri Marlar Wholesale Center ของเมืองมัณฑะเลย์ เผย แม้ความต้องการมะเขือเทศยังคงพุ่งสวนทางกลับราคาที่ดิ่งลง สังเกตได้จากรถบรรทุกระหว่าง 15 ถึง 20 คัน วิ่งมาถึงศูนย์ค้าส่งต่อวัน ปัจจุบัน แม้ว่าราคามะเขือเทศจะอยู่ระหว่าง 2,000 จัต เป็น 2,500 จัต ต่อกล่อง ขณะที่อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง สิ่งที่ผู้ค้าต้องการคือการผ่อนปรนมาตรการในตลาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ตลาด Thiri Marlar เป็นแหล่งซื้อขายผัดสดทุกประเภท โดยจะรับมะเขือเทศที่ปลูกจากเมืองอินเล, เมืองหยั่วหงั่น และเมืองเมเมียว มาเพื่อจำหน่าย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/demand-for-tomatoes-high-despite-prices-slump/#article-title

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจร่วง กังวลปัญหาศก.-สภาพคล่องตึงตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORT ON BUSINESS SENTIMENT INDEX)ในเดือนส.ค. 64 ดัชนีฯ ปรับลดลงจากระดับ 41.4 มาอยู่ที่ 40.0 ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นภาคการผลิตเป็นสำคัญนำโดยกลุ่มผลิตยานยนต์และกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงเกือบทุกด้าน รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตปรับลดลงมาก จากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเริ่มส่งผลต่อการผลิตและต้นทุน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 และปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าธุรกิจเจอภาวะสภาพคล่องตึงตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังทรงตัวอยู่ที่ 1.7%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/600038

‘เวียดนาม’ ขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 4 เดือน

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม เวียดนามขาดดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ทำให้ยอดการค้ารวม ตั้งแต่เดือนม.ค.-สิ.ค. อยู่ที่ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการค้า แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ทำให้หัวเมืองและจังหวัดต่างๆ ถูกบังคับล็อกดาวน์และข้อจำกัดในการเดินทางที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงมองแนวโน้มไปในทิศทางที่เป็นบวกในแง่ของดุลการค้าในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาจีนและสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 72.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้และอาเซียน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-runs-trade-deficit-for-fourth-consecutive-month/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ ปรับเป้าจีดีพีเวียดนาม ปี 64 โต 4.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่าปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2564 จาก 6.5% มาอยู่ที่ 4.7% เนื่องจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการฉีดวัคซีนที่ช้า ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในเดือนนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะแย่ลงไปอีกและจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเวียดนาม ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และการค้าโลกจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออก-นำเข้าของเวียดนามดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/standard-chartered-revises-down-vietnams-2021-gdp-growth-forecast-to-4-7/

ส่งออกสินค้าเกษตรเมียนมา โตทะลุ 25%

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุ การส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค.63 – 20 ส.ค.64) ของปีงบประมาณ 63-64 มีมูลค่า 4.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งขึ้น 25% ท่ามกลางการปิดด่านชายแดนสำคัญอย่างด่านมูเซ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าการส่งออกในกลุ่มอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลงเป็นผลมาจากมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแถบชายแดนและต้นทุนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงตัวเลขเพิ่มขึ้น 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่า 3.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน โดยในภาคการส่งออก อุตสาหกรรมการเกษตรมีอนาคตที่สดใสที่สุด โดยคิดเป็น 34% ของการส่งออกโดยรวม สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและข้าวหัก ถั่วและข้าวโพด ผลไม้และผัก งา ใบชาแห้ง น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และศรีลังกาเป็นหลัก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-agro-exports-grow-25-per-cent-as-of-20-aug/

ปีงบฯ 63-64 ค้าชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ ดิ่งลง 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ณ วันที่ 20 สิ.ค.64 ของปีงบประมาณ 63-64 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศมีมูลค่ารวม 35.41ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกมีมูลค่า 16.98 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้ามีมูลค่า 18.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน การส่งออกลดลง 9.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าลดลงเกือบ 6.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมียนมาส่งออกสินค้าไปยังบังกลาเทศทั้งทางทางทะเลและทางบก ซึ่งการค้าชายแดนส่วนใหญ่ผ่านเมืองซิตต์เวย์และเมืองมองตอ สินค้าที่ซื้อขายระหว่างสองประเทศ ได้แก่ ไม้ไผ่ ขิง ถั่วลิสง กุ้งและปลาน้ำเค็ม ลูกพลัมแห้ง กระเทียม ข้าว ถั่วเขียว ผ้าห่ม ลูกอม แยมลูกพลัม รองเท้า อาหารแช่แข็ง สารเคมี หนัง ผลิตภัณฑ์จากปอกระเจา ยาสูบ พลาสติก ไม้ เสื้อถัก และเครื่องดื่ม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bangladesh-border-trade-decreases-16-mln-this-fy-2/

“สุพัฒนพงษ์” จ่อรับรอง AIFF ไฟเขียวลงทุนอาเซียนฉลุย

ครม.ไฟเขียว “สุพัฒนพงษ์” รับรอง ร่างกรอบการอำนวยความสะดวกการลงทุนอาเซียน “AIFF” ในที่ประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน “AEM-24th AIA Council Meeting” 8 ก.ย.นี้ร่าง AIFF ได้ให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการและขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-751162

สปป.ลาว-เวียดนาม ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการพัฒนาด้านดิจิทัล

สปป.ลาวและเวียดนามตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และส่งเสริมการพัฒนาต่อไปในด้านดิจิทัลมีการลงนามข้อตกลงระหว่าง ศ.ดร.โบเวียงคำ วงดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และนายเหงียน มานห์ ฮุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในด้านบริการการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมจะมีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาดิจิทัล ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านดิจทัลของทั้งสองประเทศและทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีความทันสมัยฃทัดเทียมกับหน่วยงานอื่นๆ ในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos172.php