“โควิด-19” ไม่สะเทือนเวียดนามรัฐ-เอกชนมองเศรษฐกิจยังโตต่อเนื่อง

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 64 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ “เอดีบี” (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ “จีดีพี” (GDP) จะเติบโตอยู่ที่ 6.5-7.0% ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ส่งผลทำให้แม้ว่าปี 63 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มี GDP เติบโตถึง 2.91 % ในปี 63 โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในอีก 5 ปี (2564-2568) ข้างหน้ารัฐบาลเวียดนามได้วางแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ปี 2564-2573 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติเวียดนามที่คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/466134

ผลประกอบการ Lao Airlines หดตัวร้อยละ 70 ในปี 2563

ผลประกอบการปี 2563 ของ Lao Airlines ลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2562 อันเป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด -19 ตัวเลขดังกล่าวได้รับการรายงานในการประชุมล่าสุดของตัวแทนขายของสายการบินและผู้เกี่ยวข้อง นายคำหล้า พรหมมะวัน ประธานสายการบินสปป.ลาวกล่าวในที่ประชุมว่า“ การระบาดของโรคนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงสปป.ลาว ปีที่แล้วเราบรรทุกผู้โดยสารได้เกือบ 380,000 คนในเที่ยวบิน 6,645 เที่ยวบินทั้งในสปป.ลาวและระหว่างประเทศซึ่งเป็นเพียงร้อยละ 30 ของจำนวนที่เราบรรทุกในปี 2562” ปัจจุบันมีการให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศเพียงเส้นทางเดียวของลาวแอร์ไลน์ คือเส้นทางเวียงจันทน์ไปคุนหมิงโดยมีเที่ยวบินไปและกลับเพียงสัปดาห์ละสองครั้ง ไม่เพียงแค่สายการบินที่ได้รับผลกระทบตาจากการแพร่ระบาดยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่นตัวแทนการท่องเที่ยวโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao17.php

สปป.ลาวคุมเข้มเฝ้าระวังชายแดนหลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เชื่อมโยงประเทศไทย

สปป.ลาวได้คุมเข้มการลักลอบเข้าเมืองหลังจากพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย  ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว สปป.ลาวกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันยาว 1,845 กิโลเมตรโดยส่วนใหญ่ปักปันแม่น้ำโขง ทำให้การลักลอบกลับมาของแรงงานสปป.ลาวที่ไปทำงานในประเทศไทยอาจทำได้ง่าย และอาจเป็นต้นตอให้เกิดการระลอกใหม่ในสปป.ลาว ณ ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อในสปป.ลาวอยู่ที่ 43 รายซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 13,687 คน สูงเป็นอันดับ 6 ของภูมิภาค

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2056823/laos-tightens-border-watch-after-virus-imports-from-thailand

สหภาพยุโรป ร่วมกับ Khmer Enterprise กัมพูชา พัฒนาพลังงานสะอาด

Khmer Enterprise ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) และ EnergyLab ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านพลังงานแห่งเดียวของกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นพลังงานสะอาดในภาคเกษตรกรรม การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากสหภาพยุโรป โดยความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านพลังงานสะอาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งปรับให้เข้ากับความต้องการด้านพลังงานของผู้ประกอบการประมงในภูมิภาค โดย EnergyLab จะคัดเลือกบริษัทสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดจำนวน 5-10 ราย ในแต่ละปีเพื่อเข้าร่วมในโครงการบ่มเพาะระยะเวลาโครงการ 1 ปี ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวแนะนำการเริ่มต้นธุรกิจด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น การให้คำปรึกษาและการฝึกสอนแบบตัวต่อตัวเพื่อนำไปสู่การสร้างพลังงานสะอาดภายในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50806857/eu-and-khmer-enterprise-fund-partnership-for-clean-energy-innovation-in-the-agri-fishery-sector/

องค์การอาหารและเกษตรร่วมลงบันทึก MoU กับ บริษัท LyLy ในการพัฒนาตลาดกัมพูชา

Lyly Food Industry Co Ltd. และ Food and Agriculture Market ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อจัดหาและจัดซื้อผลิตภัณฑ์ทางธุรกิจการเกษตรในเสียมราฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังส่งเสริมการจัดหาผลิตภัณฑ์จากธุรกิจการเกษตรที่ปลูกในประเทศเข้าสู่ตลาดในพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งการผลิตในท้องถิ่นถือเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่คุณภาพยังไม่แน่นอนทั้งในด้านปริมาณหรือคุณภาพของสินค้าเกษตร ส่งผลให้ราคาสินค้าของเกษตรกรในพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้นำในการดำเนินโครงการ Accelerating Inclusive Markets for Smallholders (AIMS) ได้เริ่มดำเนินการเพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อการผลิตและการตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะเน้นเกี่ยวกับการจัดหาและซื้อผลิตภัณฑ์ผักในเสียมราฐเป็นหลัก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่มาจากความพยายามของโครงการในการเชื่อมต่อผู้ผลิตผู้รวบรวมและผู้แปรรูปในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50806848/mou-between-lyly-and-agriculture-market/

กระแสตอบรับโรงแรมในหาดงาปาลีไม่สู้ดี หลังกลับเปิดมาใหม่อีกครั้ง

โรงแรมและรีสอร์ตประมาณ 10% ที่ชายหาดยอดนิยมอย่างหาดงาปาลีได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดใหม่แต่กระแสตอบรับของจำนวนนักท่องเที่ยวกลับน่าผิดหวัง แม้จะพยายามดำเนินการตามมาตรการป้องกัน COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา โดยผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินไม่จำเป็นต้องได้รับการกักตัว แต่จะกักตัวเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งจากรายงานยังพบว่าบางโรงแรมและรีสอร์ตมีจำนวนผู้เข้าพักเป็นตัวเลขแค่สองหลักเท่านั้น สำหรับสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาติให้กลับมาเปิดอีกครั้งมีเพียง 5 แห่ง จาก 60 แห่ง และต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกัน COVID-19 ได้แก่ Amazing Ngapali Resort Hotel, AZ Family Resort Hotel, Royal Linthar Lodge, Kyaw Myanmar Lodge และ Htein Linn Thar Guest House อย่างไรก็ตาม  Amazing Ngapali Resort ถูกสั่งปิดบริการเมื่อไม่นานหลังจากตรวจพบผลเป็นพบเชื้อ COVID-19 และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 22 มกราคม 64 ที่ผ่านมา จากรายงานของคณะกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยวพบว่ามีโรงแรมอีกสิบแห่งได้ยื่นขออนุญาตเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/ngapali-hotels-open-poor-response.html

อึคอมเมิร์ซเวียดนาม โต 18% ในปี 63

จากข้อมูลของกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเวียดนาม เปิดเผยว่าเมื่อปีที่แล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกลำบาก รวมถึงกิจกรรมของการผลิตและธุรกิจเกิดหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของอึคอมเมิร์ซเวียดนาม สูงถึง 18% ด้วยมูลค่าอยู่ที่ 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุดังกล่าวมาจากเวียดนามเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นตัวเลข 2 หลัก ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Temasek และ Bain & Company คาดการณ์ว่าจะเติบโต 29% ในช่วงปี 2563-2568 โดยขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามอาจสูงกว่า 52 พันล้านเหรียญสหรัฐ และติดอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียนในปี 2568

  ที่มา : https://sggpnews.org.vn/business/ecommerce-growth-of-vietnam-achieves-18-percent-in-2020-90400.html

เวียดนามเผยความต้องการนำเข้าอาหารทะเลที่หรูหราพุ่งสูงขึ้น

เวียดนามนำเข้าอาหารทะเลที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น อาทิ ปูยักษ์ และกุ้งล็อบสเตอร์ เป็นต้น เนื่องมาจากราคาที่ปรับตัวลดลงและคาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองตรุษญวณ (Tết) ทางรองกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าในปีที่แล้ว การส่งออกอาหารทะเลจากอลาสก้าเพิ่มขึ้น 125% คิดเป็นมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารทะเลของสหรัฐอเมริกา อันดับที่ 6 ของโลก ด้วยมูลค่าการนำเข้า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสถาบันการตลาดอาหารทะเลอลาสก้าในเวียดนาม ระบุว่าความต้องการอาหารทะเลในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น และโรงงานแปรรูปหลายแห่งกำลังย้ายออกจากจีนไปยังเวียดนาม สาเหตุมาจากเรื่องภาษีศุลกากร นอกจากนี้ ในช่วงเทศกลาลตรุษญวณ มีความต้องการปูอลาสก้ามากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากทำอาหารได้ง่ายและเหมาะสำหรับโอกาสพิเศษ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/860872/demand-for-imported-luxury-seafood-rises.html

ส่งออกข้าวไทยยังซึม ปีนี้ตั้งเป้าแค่6ล้านตัน

พาณิชย์ มักน้อย ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีนี้ แค่ 6 ล้านตัน หลังเจอสารพัด มรสุม ทั้งข้าวไทยราคาแพงกว่าคู่แข่ง ค่าบาทแข็ง พิษโควิด นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 64 ปริมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการส่งออกในปี 63 ที่ส่งออกได้ทั้งปี 5.72 ล้านตัน โดยปัจจัยหลักที่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในปี 64 ได้แก่ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดีย และ เวียดนาม ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นระยะ ปัญหาตู้คอนเทเนอร์ที่ยังคงมีไม่เพียงพอใช้ส่งออก ประกอบกับผู้นำเข้าหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้กำลังซื้อลดลง ดังนั้น การกำหนดเป้าส่งออกข้าวไทยที่ปริมาณ 6 ล้านตัน ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดข้าวทั้งในและต่างประเทศ สำหรับแผนการตลาดส่งเสริมการส่งออกข้าวไทยในต่างประเทศในปี 64 จะเน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและการแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าว โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การหารือกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิรัก บังกลาเทศ เป็นต้น รวมทั้งหารือประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดข้าว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ และจัดกิจกรรมต่อยอดข้าวหอมมะลิไทยที่ได้เเชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 63 เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวปี 63 มีปริมาณรวมทั้งปี 5.72 ล้านตัน มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 ที่มีปริมาณ 7.58 ล้านตัน มูลค่า 1.31 แสนล้านบาท โดยมีปริมาณการส่งออกลดลง 24.54% และมูลค่าลดลง 11.23%

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/821272

NBC กล่าวถึงภาพรวมทางการเงินกัมพูชา ในรายงานประจำปี 2020

ทุนสำรองระหว่างประเทศของกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 21.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอที่จะรับประกันการนำเข้าสินค้าและบริการในอีก 10 เดือนข้างหน้า เกินกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ที่  3 เดือนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตามรายงานประจำปีของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยยังเพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพภาคการเงินภายในประเทศ ซึ่งรายงานระบุว่าพอร์ตสินเชื่อรวมของภาคธนาคารในปี 2020 อยู่ที่ 30.2 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากปี 2019 การแบ่งประเภทสินเชื่อตามภาคนำโดยการค้าปลีกที่ร้อยละ 15.5 การจำนองส่วนบุคคลที่ร้อยละ 12.8 การขายส่งที่ร้อยละ 9.7 สินเชื่อส่วนบุคคลที่ร้อยละ 9.8 การก่อสร้างที่ร้อยละ 9.2 อสังหาริมทรัพย์ที่ร้อยละ 8.4 เกษตรกรรมที่ร้อยละ 7.7 และอื่น ๆ คิดเป็น ส่วนที่เหลือร้อยละ 26.9 เงินฝากธนาคารมีมูลค่ารวม 30 พันล้านดอลลาร์จาก 6.3 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน การปรับโครงสร้างเงินกู้ในภาคธนาคารสำหรับปี 2020 มีมูลค่ารวม 3.017 พันล้านดอลลาร์ โดยมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 43,291 บัญชี NPL ในปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 สำหรับภาคธนาคาร และร้อยละ 1.8 สำหรับ MFI รวมถึง NBC ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ประมาณร้อยละ 2.9

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50806041/nbc-annual-report-details-nations-2020-financial-picture/