รัฐบาลและธุรกิจ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม

จากข้อมูลของ Central Institute for Economic Management (CIEM) ระบุว่าการผลักดันของการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมกันสร้างความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม สำหรับภาครัฐบาลแล้วนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ตามหลักสากล ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลควรครอบคลุมไปยังพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้หญิงหรือคนจน นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Google, Temasek และ Bain เปิดเผยว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 16 ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปี 2568 อยู่ที่ 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าโลกไซเบอร์มีความปลอดภัย และปรับปรุงกฎหมายแก่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนนโยบายภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และประเด็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/government-firms-are-key-to-create-breakthroughs-in-vietnam-digital-economy-315008.html

“อีคอมเมิร์ซ” ประตูส่งออกสำคัญของเวียดนาม

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) และบริษัท Innovative Hub ได้จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าในท้องถิ่นผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในบริบทของการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ เกิดการหยุดชะงัก และการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ ขี้ให้เห็นถึงจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังคงรักษาความสามารถในการดำเนินงาน ทั้งนี้ คุณ Zoe Zuo CEO ของบริษัท Innovative Hub ได้แชร์กระบวนการทำงานของอีคอมเมิร์ซในสิงค์โปร์ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังแนะนำให้เลือกกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อที่จะนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ จากข้อมูลของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ระบุว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ด้วยมูลค่าราว 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตถึง 52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-firms-in-vietnam-more-positive-about-q3-performance/191126.vnp

ก๊าซ LNG จากมาเลเซีย ถูกลำเลียงไปยังโรงไฟฟ้าย่างกุ้ง

จากรายงานของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 63 เมียนมานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นครั้งที่ 2 จากมาเลเซีย จำนวนทั้งหมด 126,000 ลูกบาศก์เมตรถูกส่งไปยัง CNTIC VPower ที่ท่าเรือติวาลาในย่างกุ้งและจะถูกถ่ายโอนไปยังโรงไฟฟ้าตั่นหลิน (Thanlyin) กำลังผลิต 350MW และโรงไฟฟ้าธาเกตา (Thaketa) กำลังผลิต 400MW โดยได้ลงนามในข้อตกลงกับ Petronas LNG Ltd ของมาเลเซียและ CNTIC VPower ของจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพื่อซื้อ LNG เป็นระยะเวลา 5 ปี LNG จะถูกใช้ในโรงงานใหม่ 7 แห่งใน Magwe, Shwe Taung, Kyun Chaung, Ahlone, Kyauk Phyu, Thanlyin และ Thaketa เพื่อผลิตพลังงานรวม 1166MW สำหรับฤดูร้อนในปีนี้

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-takes-delivery-lng-yangon-power-plants.html

รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 80 พันล้านกีบเพื่อช่วยเหลือ SMEs

เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่ามากถึง 80 พันล้านกีบ (มากกว่า 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) ได้ถูกมอบให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอัตราดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอเพียงร้อยละ 3  คุณสมจิตร อินทมิตรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์กล่าวในการประชุมรัฐสภาของสมัชชาแห่งชาติ (NA) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “ผู้สมัคร SMEs จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อขอรับเงินกู้ มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนการ ฝึกอบรมวิชาชีพ SMEsได้รับการรับรองจากภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี” เกณฑ์เหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าเงินกู้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ในการระดมทุนอย่างต่อเนื่องและป้องกันไม่ให้กลายเป็นเงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยผู้กู้จะมีเวลาหนึ่งปีในการเตรียมตัวให้เข้าตามเกณฑ์ที่ทางธนาคารพาณิชย์กำหนดรวมถึงการวางระบบบัญชีที่ครอบคลุมและได้มาตรฐานการบัญชี รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs การให้เงินทุนสนับสนุนเป็นมาตรการที่มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสปป.ลาว ปัจจุบัน SME คิดเป็นประมาณร้อยละ 99 ของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนทั้งหมดในสปป.ลาวจึงถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_80232.php

ความร่วมมือภาครัฐและเอกชนจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยว ในสปป.ลาว

กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยวและบริษัท Amazing Lao Sole จำกัด ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) เพื่อวางแผนบริษัทที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวที่จะให้คำแนะนำแก่ธุรกิจที่พิจารณาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในสปป.ลาว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และเกษตรกรรมและศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวของสปป.ลาวนอกจากนี้ยังมุ่งปรับปรุงมาตรฐานของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้งดึงดูดการลงทุนในการพัฒนาการท่องเที่ยวมากขึ้น ภายใต้ MOU ทั้งสองฝ่ายจะหาแหล่งเงินทุนตลอดจนหน่วยงานด้านเทคนิคและธุรกิจเพื่อลงทุนในการท่องเที่ยว โดยจะจัดทำแผนการพัฒนา การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและกำหนดแผนการตลาดการท่องเที่ยว จะร่วมกันจัดทำแคมเปญข้อมูลการท่องเที่ยวในสปป.ลาวสำหรับนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Public232.php

เซเว่นอีเลฟเว่นวางแผนกลับมาเริ่มดำเนินธุรกิจในกัมพูชา

บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นไปยังกัมพูชาและ สปป.ลาวจะยังคงเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้เมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น โดยซีพีออลล์ (กัมพูชา) และซีพีออลล์ (สปป.ลาว) ต่างได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในการก่อตั้งและดำเนินการร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งนอกจากกลุ่มบริษัททั้งสองนี้แล้ว กัมพูชายังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยที่ต้องการสำรวจโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนในกัมพูชาหลังจากที่ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับจีนเป็นครั้งแรก โดยการลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากสถิติของสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2020 การค้าข้ามพรมแดนของไทยกับกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 6.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 21 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50786446/7-eleven-expansion-into-the-kingdom-coming-as-planned/

กัมพูชาสร้างจุดแข็งด้านการค้าทวิภาคีระหว่างไทย

กัมพูชาประกาศการเปิดสำนักงานตัวแทนกัมพูชาประจำประเทศไทยในกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ CBCC จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านธุรกิจในการให้บริการแบบครบวงจรสำหรับชาวกัมพูชาในประเทศไทย โดยจะช่วยในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา การให้ข้อมูล และการฝึกอบรม รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายทางการค้าทวิภาคีให้บรรลุ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสองกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลักดันมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นทั้งยังจะต้องการส่งเสริมการค้าทวิภาคีต่อไป โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 5.569 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50786411/indications-of-new-strength-in-bilateral-trade-with-thailand/

เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น

ธุรกิจในเวียดนามจำนวนมากได้รับคำแนะนำให้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อคว้าโอกาสในการรับกระแสการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 2,000 ราย เข้ามาลงทุนในเวียดนามช่วงสิ้นปี 2562 รองลงมากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 59.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 15.6 ของเงินทุนรวม โดยข้อมูลข้างต้น เกิดหลังจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยรายชื่อบริษัท 15 รายที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทยและสปป.ลาว ทั้งนี้ ตามการสำรวจของเจโทร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่าธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 ดำเนินกิจการในเวียดนาม สิ่งนี้เป็นโอกาสอันดีแก่ธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือและเชื่อมต่อกับธุรกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนและสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/24421-vietnam-regarded-as-top-investment-destination-for-japan-businesses.html\

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังจีน อยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ยอดมูลค่ารวมนับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ราว 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนเป็นตลาดสำคัญของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดในปีนี้ อยู่ที่ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่ามีสัญญาเชิงบวกหลายด้าน แต่ความตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) จึงอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังจีน ไม่ว่าจะเป็นปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ปฏิรูปสถาบันและลดขั้นตอนการจัดการ เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุนธุรกิจ นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ได้ไปเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในเมืองหางโจวและเจ้อเจียง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจในจีนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ที่มา : https://vnexplorer.net/china-retains-vietnams-largest-trade-partner-a2020128284.html

ระบบขนส่งแบบใหม่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งสินค้าของเมียนมา

การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนจะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นด้วยการใช้ระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาค ขณะนี้มีการร่างข้อตกลงเกี่ยวกับระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยและฟิลิปปินส์ได้กำหนดกฎหมายส่วนเมียนมาเสร็จสิ้นขั้นตอนการร่างเรียบร้อยแล้ว การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีการผสมผสานระหว่างรูปแบบการเคลื่อนย้ายสินค้าที่แตกต่างกันอย่างน้อยสองรูปแบบภายใต้ใบส่งเพียงใบเดียวซึ่งหมายความว่าผู้ขนส่งต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการขนส่งทั้งหมดแม้ว่าจะดำเนินการในรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน เช่น ทางอากาศ ทางรถไฟ ถนนหรือทางทะเล หากนำระบบนี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่และคาดว่าจะอำนวยความสะดวกในการค้าข้ามแดนในอาเซียน นอกจากนี้ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับสินค้าซึ่งจะอนุญาตให้ผ่านโดยไม่มีข้อจำกัด

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/new-regional-transport-system-benefit-myanmars-freight-forwarders.html