การนำเข้าสินค้าเดือนเมษายนมีมูลค่า 529 ล้านดอลลาร์

ศูนย์ข้อมูล – กระทรวงข้อมูลการค้าของสปป. ลาวภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์เปิดเผยว่ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกของสปป. ลาวในเดือนเมษายน 2563 สูงถึง 529 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกมีมูลค่า 208 ล้านดอลลาร์และมูลค่าการนำเข้า 320 ล้านดอลลาร์ขาดดุลประมาณ 112 ล้านดอลลาร์ สปป.ลาวส่งออกสินค้าสำคัญได้แก่ ไม้แปรรูป เศษเหล็ก ทองแดง แร่ทองคำ แตงโม เสื้อผ้า ในด้านมูลค่าการนำเข้าถึงแม้จะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มอย่างเนื่องแต่สินค้าที่นำเข้าโดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า บ่งชี้ให้เห็นถึงการเติบในด้านอุตสาหกรรมของสปป.ลาวทำให้ต้องมีการนำเข้าสินค้าทุนมามากขึ้น นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาวส่งผลต่อรายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นทำให้ระดับผู้ที่มีรายได้ปานกลางของสปป.ลาวมีมากขึ้น จึงมีความต้องการบริโภคมากขึ้นมูลค่าการนำเข้าของสปป.ลาวจึงสูงนั้นเอง

ที่มา : https://laoedaily.com.la/2020/05/07/77633/

แผนด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดแกบของกัมพูชาจะถูกส่งภายในเดือนกรกฎาคม

กระทรวงการท่องเที่ยวกำลังทำงานเพื่อเปลี่ยนจังหวัดแกบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกัมพูชา เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานระดับโลก โดยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าวว่ากระทรวงกำลังดำเนินการแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเพื่อให้จังหวัดกลายเป็น “ปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาคและทั่วโลก” ปัจจุบันแผนแม่บทของจังหวัดแกบยังคงดำเนินต่อไปและกระทรวงมั่นใจว่าแผนจะเปลี่ยนจังหวัดให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพักผ่อนที่ดีที่สุดในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างกระทรวงเพื่อศึกษาแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยกระทรวงกำลังต้องการข้อมูลและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่างๆเพื่อการนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไปในระดับท้องถิ่นเพื่อเตรียมแผนอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแกบกล่าวในระหว่างการประชุมว่าในปัจจุบันมี 13 เกาะ โดยยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเขากล่าวว่านักลงทุนต่างชาติกำลังมองหาพื้นที่ศักยภาพของจังหวัดเพื่อทำการพัฒนาพื้นที่ต่อ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50720251/kep-tourism-masterplan-to-be-submitted-by-july/

รัฐฯ สนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรในกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท (ARDB) ของรัฐได้เรียกร้องให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขยายการผลิตแปรรูปทางการเกษตรและขอสินเชื่อฉุกเฉินอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร โดยการเรียกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารได้รับคำขอกู้เงินเพียง 5 รายการจาก SMEs ในภาคการแปรรูปสินค้าเกษตร ผู้อำนวยการ รพช. กล่าวว่าเนื่องจากกองทุนฉุกเฉินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ ได้มีการรับการอนุมัติจากรัฐบาลไว้สำหรับธุรกิจการแปรรูปทางการเกษตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันการเพิ่มผลผลิตและการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางผลกระทบของการระบาดของโรค Covid-19 โดยกองทุนได้รับการออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นเฉพาะในการแปรรูปการเกษตรการแปรรูปอาหารธุรกิจเกษตรพืชผล รวมถึงผัก, ปศุสัตว์, ธุรกิจสัตว์น้ำ และองค์กรใดๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50720250/agriprocessors-urged-to-take-out-loans-and-expand-work/

แผนฟื้นฟูอุตรับนิวนอร์มอล

ใช้สินค้าเมดอินไทยแลนด์ดันศก.ท้องถิ่น “ส.อ.ท.” เปิดแผนฟื้นฟู 45 อุตสาหกรรมหลังโควิด-19 รับวิถีใหม่ new normal สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ แนะรัฐปลดล็อก จัดจ้างสินค้าเมดอินไทยแลนด์คู่ขนานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น local economy คาด 4 อุตสาหกรรมรับอานิสงส์ทั้งเกษตร เครื่องมือแพทย์ อาหารเสริม หุ่นยนต์ เปิดตลาด CLMVT ด้าน “สุริยะ” เตรียมชงงบฯ 10,000 ล้าน จ้างแรงงานในพื้นที่ช่วย SMEs หวังฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคณะอนุกรรมการได้ประชุมร่วมกับประธานทั้ง 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ และหลังจากวิกฤตได้คลี่คลายลงอย่างเร็วที่สุดคือกลางปีนี้และช้าที่สุดคือสิ้นปี 2563 ซึ่งจะทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบความปกติใหม่ หรือ new normal ขึ้น

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 – 10 พ.ค. 2563

รัฐบาลสปป.ลาวจะมีมาตราการช่วยเหลือแรงงานในประเทศ

รัฐบาลลาวกำลังหารือเกี่ยวกับมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือแรงงานสปป.ลาวหลายคนที่ว่างงานและต้องเผชิญกับการสูญเสียรายได้เนื่องจากการระบาดของ COVID-19ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติลาวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงานโดยสมาชิกของโครงการสวัสดิการสังคมแห่งชาติควรเป็นกลุ่มแรกของคนงานที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอกจากนี้สถาบันยังแนะนำให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนภายใต้โครงการสวัสดิการสังคมรวมถึงผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศไทยประมาณ 100,000 คนในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้คนว่างงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเกษตรเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความมั่นคงด้านอาหารขั้นพื้นฐาน มาตราขั้นต่อไปหลังจากการช่วยเหลือจะเข้าสู่การฟื้นเศรษฐกิจทั้งภาคการลงทุนและพัฒนาศักยภาพของแรงงานสปป.ลาวรัฐบาลควรสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานลาวเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยรวมถึงสนับสนุนการเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของต่างประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govtd84.php

การค้าทวิภาคีของกับพูชาและเวียดนามลดลงแต่ระหว่างไทยยังคงทรงตัว

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชากับเวียดนามประสบปัญหาการลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีที่เกิดจากการระบาดทั่วโลก อย่างไรก็ตามปริมาณการค้ากับไทยยังคงทรงตัว จากเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ลดลง 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลจากสถานทูตเวียดนามประจำกัมพูชา โดยเวียดนามระบุว่าในช่วงดังกล่าวเวียดนามนำเข้ากัมพูชามีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 4.4% ในทางตรงกันข้ามปริมาณที่กัมพูชาส่งออกไปยังเวียดนามมาอยู่ที่ 272 ล้านดอลลาร์ลดลงถึง 37% ซึ่งในปี 2019 ปริมาณการค้าระหว่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 5.2 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาในช่วงสามเดือนแรกมีมูลค่าถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยอดส่งออกรวมของกัมพูชาไปยังประเทศไทยอยู่ที่ 612 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 115% ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 1,891 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50719618/cambodias-bilateral-trade-drops-with-vietnam-yet-thailand-steady/

การส่งออกข้าวของกัมพูชาขยายตัวประมาณ 40.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

การส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังประเทศจีนมีจำนวน 122,094 ตัน คิดเป็น 41% ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 97,337 ตัน คิดเป็น 32.4% รวมถึงกลุ่มสมาชิกอาเซียน 37,428 ตัน คิดเป็น 12.5% และประเทศอื่น ๆ 43,393 ตัน คิดเป็น 14.45% โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรป่าไม้และประมงกล่าวว่าการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านตัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ขอให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้โรงสีสามารถล้างสต๊อกเก่าและชำระหนี้คืน ซึ่งประธาน CRF กล่าวว่ากำลังการผลิตของโรงสีข้าวในกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 ล้านตันต่อฤดูกาล โดยมีกำลังการผลิตไซโลอยู่ที่ประมาณ 45,000 ตันต่อวัน ซึ่งทาง CRF ขอให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโรงสีข้าวในการจัดหาพลังงานทดแทน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะทำให้ต้นทุนการผลิตสำหรับโรงสีข้าวลดลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50719616/rice-exports-grew-by-about-40-5-percent-compared-with-last-year/

เวียดนามส่งออกพุ่ง 4.7% ในช่วง 4 เดือนแรก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดส่งออกของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 คิดเป็นมูลค่า 82.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทในประเทศมีมูลค่าการส่งออก 26.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกัน บริษัทต่างชาติมีมูลค่าแตะ 56.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า 15 รายการที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วนที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด ด้วยมูลค่า 16.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, เครื่องจักรและชิ้นส่วน และรองเท้า ตามลำดับ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอาเซียน ในขณะที่ จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 22.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้และอาเซียน นอกจากนี้ การเกินดุลการค้าของเวียดนามลดลงมาอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนม.ค.-เม.ย.

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-exports-surge-47-percent-in-four-months/172707.vnp

เวียดนาม เผยยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ในฮานอย ม.ค.-เม.ย. ลดลง 13.1%

นายบุ่ย อั๊ญ ต๊วน ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดตั้งธุรกิจ เปิดเผยว่าผู้ประกอบการธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ในกรุงฮานอย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.63 ลดลงร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 7,468 ราย แต่เงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 มูลค่า 118 ล้านล้านด่ง (5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจำนวนบริษัทที่ก่อตั้งใหม่ลดลงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อการผลิตและการดำเนินธุรกิจ ในทางกลับกัน ส่อให้เห็นว่าธุรกิจกำลังรอโอกาสหลังจากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม กล่าวว่าถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวลดลงที่ตรงกับแนวโน้มของประเทศ แต่เงินทุนจดทะเบียนใหม่กลับพุ่งสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นในกรุงฮานอย นอกจากนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและการลงทุน ระบุว่าเมืองฮานอยได้เตรียมความพร้อมในการคว้าโอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรี และฮานอยจะยังคงรักษาระดับอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจไว้ที่ร้อยละ 100 รวมถึงอัตราการยื่นธุรกิจและชำระภาษีออนไลน์ไว้ที่มากกว่าร้อยละ 98

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/number-of-new-firms-in-hanoi-in-januaryapril-down-131-percent/172711.vnp