เวียดนามส่งออกพุ่ง ดันเศรษฐกิจโตแซงเพื่อนบ้านใน ASEAN

โดย Marketeer

ทัพปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้โตจนประเทศเพื่อนบ้านต้องอิจฉา โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะโต 2.4% หลังสามารถสกัดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว และยอดส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ต่างจากชาติสมาชิก ASEAN ที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิด แม้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ ASEAN และอีกหลายประเทศทั่วโลก

ตามรายงานล่าสุดของ IMF ระบุว่า เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวใน ASEAN ที่เศรษฐกิจกลับสู่ขาขึ้น โดยปีนี้เศรษฐกิจจะโต 2.4% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะโต 1.6% แม้เป็นอัตราที่น้อยแต่ยังดีกว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียที่จะหดตัว 6% และไทยที่ยัง ‘’ป่วยหนัก’’ GDP ถดถอยถึง 7.1%

การกลับสู่ขาขึ้นของ เศรษฐกิจเวียดนาม มาจากหลายปัจจัย โดยนอกจากสกัดวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีแรงหนุนจากตัวเลขส่งออก ไตรมาส 3 ปีนี้การส่งออกโต 11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สินค้า Made in Vietnam ที่ได้เป็น ’พระเอก’ ในไตรมาสที่ผ่านมาคือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ที่ยอดส่งออกโต 20% หลังเกิดการระบาดรอบใหม่จนหลายประเทศต้องกลับมาทำงานและเรียนที่บ้านกันอีกครั้ง ทั้งนี้ เวียดนามยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลทางบวก โดยโรงงานในเวียดนามของ Foxconn และ Luxshare ที่ผลิต Smartphone และ Device เช่น ฟูฟัง ป้อนให้ Apple และ Samsung ต่างกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มตัว

ปัจจัยบวกทั้งหมดจะทำให้ปี 2021 เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัว 6.5% โดยแน่นอนว่าเมืองที่เงินลงทุนจากต่างชาติจะสะพัดและเงินในกระเป๋าของประชาชนจะเพิ่มขึ้นมากสุดคือ “Bac Giang” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://marketeeronline.co/archives/198699

เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx

ข้อกำหนดกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

ตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนามยังคงเป็นที่น่าศึกษา ติดตามเพื่อขยายฐานการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจสินค้าบริการอาหารและเครื่องดื่มแบบแฟรนไชส์ที่ไปได้ดีและโตแรง ขณะที่รูปแบบการนำแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดดำเนินการในเวียดนามมีรูปแบบ ที่หลากหลายทั้งแบบสัญญา แฟรนไชส์โดยตรง (Direct franchising) ที่มีการพัฒนาให้สิทธิ์ในการเปิดกิจการได้มากกว่าหนึ่งแห่ง ตัวอย่างเช่น รูปแบบแฟรนไชส์ที่มีการให้สิทธิ์ในการเปิดดำเนินธุรกิจได้หลายสาขา (multi-unit) หรือการให้สิทธิ์แบบ Development agreements รวมทั้งแบบสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master franchise agreements) เป็นต้น

ดังนั้นการเข้าไปเล่นตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะต้องดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการลงทุนแฟรนไชส์ในเวียดนาม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรทำการสำรวจตลาดก่อนที่จะมีการตั้งราคาของผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์
  2. เลือกผลิตภัณฑ์/บริการที่มีศักยภาพหรือเป็นที่นิยม แม้ว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
  3. เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตสูง
  4. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ สร้างความรับรู้และจดจำสินค้าแก่ผู้บริโภค อย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน จะทำให้คู่ค้าเกิดความคุ้นเคยต่อแบรนด์สินค้า
  5. เลือกทำเลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง ในเมืองที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ที่ยังมีทำเลให้เลือกมาก
  6. ปรับกลยุทธ์ให้เข้าถึงตลาดที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ด้วยการศึกษาวัฒนธรรม นิสัยและรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจ

การขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

  1. เอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ประกอบไปด้วย สำเนาเอกสารแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Introduction Statement) และข้อตกลงของแฟรนไชส์ รวมไปถึงใบสมัครและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ข้อตกลงแฟรนไชส์ในเวียดนาม กฎหมายของประเทศเวียดนามไม่ได้บังคับให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ในข้อตกลงธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์และผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ มีอิสระที่จะเจรจาข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงแฟรนไชส์
  3. ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ต่างชาติจะไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในเวียดนาม แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม และถือเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทเวียดนามกับบริษัทต่างชาติ จึงจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เรียกเก็บจากผู้รับสิทธิดำเนินกิจการ
  4. การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเวียดนาม การเข้ามาลงทุนธุรกิจในเวียดนาม เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมถึงการจด URL และเว็บไซต์กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติเวียดนาม
  5. การเป็นผู้รับสิทธิดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดธุรกิจเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติตามที่เวียดนามได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
  6. การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับการดำเนินการธุรกิจในเวียดนาม

สำหรับคำแนะนำในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนามของผู้ประกอบการไทยนั้น มีรูปแบบดังนี้

  1. ลงทุนร่วมกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ชาวเวียดนามโดยเป็นการลงทุนลักษณะ Offshore
  2. การจัดตั้งกิจการในแบบบริษัทต่างชาติ (Foreign-own company)
  3. การควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions (M&A)
  4. เลือกพันธมิตรหรือคู่ค้าที่เหมาะสม โดยบริษัทท้องถิ่นหลายแห่งอาจไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในแบรนด์สินค้า รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์

ที่มา :

/1 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ศูนย์สนับสนุนธุรกิจใน AEC.ธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม.2562

/2 https://www.bangkokbanksme.com/en/franchise-investment-law-requirements-in-vietnam

ภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลัง COVID-19

หัวข้อสำคัญของเอกสาร มีดังต่อไปนี้

  1. สรุปภาพรวมทั่วไปในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
  2. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
  3. สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
  4. แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนาม

เรียบเรียงโดย : นายกวิน งามสุริยโรจน์

ที่มา : CEIC DATA, General Statistics Office, IMF, FitchRatings และ ADB

เจาะลึก การตลาดดิจิทัลเวียดนาม โอกาสดีห้ามมองข้ามเด็ดขาด

โดย เอเจนซี่การตลาดดิจิทัลเวียดนาม

หากคุณอยากจะขยับขยายธุรกิจของคุณออกไปยังประเทศแถบอาเซียน ประเทศเวียดนาม คือตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างมาก ที่คุณจะบุกเข้าไปตีตลาดด้วยกลยุทธ์ การตลาดดิจิทัลเวียดนาม เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ประเทศที่มีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไวที่สุดในอาเซียน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเวียดนามมีมูลค่าทางการค้ารวมสูงถึง 517,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97 ล้านคน ส่วน GDP เวียดนามในปี 2562 อยู่ที่ 7.02% ซึ่งเกินเป้าหมาย 6.8% ที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

ปัจจัยของความน่าดึงดูดตลาดดิจิทัลเวียดนาม ได้แก่

  • การเข้าถึงของอินเทอร์เน็ต
  • ความนิยมของโซเชียลมีเดีย
  • E-Commerce ในเวียดนาม

กลยุทธ์น่าสนใจสำหรับการทำตลาดดิจิทัลเวียดนาม ได้แก่

  • กลยุทธ์การทำตลาดอินฟลูเอนเซอร์เวียดนาม
  • กลยุทธ์การตลาดเครื่องมือค้นห
  • กลยุทธ์การตลาดโซเชียลมีเดีย

ที่มา : https://www.ihdigital.co.th/go-vietnam-digital-marketing/

พานาโซนิคย้ายโรงงานจากไทยไปเวียดนาม

โดย nuttachit I Marketeer

สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่าพานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มีแผนปิดโรงงาน ผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าในประเทศไทย เพื่อย้ายกำลังการผลิตไปรวมกับโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าในเวียดนามให้เป็นโรงงานหลักในการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เหตุผลสำคัญ คือ ลดต้นทุนการจัดหาชิ้นส่วน ซึ่งการย้ายกำลังการผลิตในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีเป้าหมายลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย 100 ล้านเยนหรือประมาณ 29.56 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2565

‘Marketeer’ วิเคราะห์ออกเป็น ดังนี้

  1. ลดต้นทุนค่าแรงสูงบนรายได้การผลิตที่ลดลง ลดต้นทุนในการจัดหาชิ้นส่วน และลดต้นทุนในการจ้างแรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย
  2. ยอดขายในไทยลดลงบนการแข่งขันที่สูง แม้พานาโซนิคจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พานาโซนิค ถูกสินค้าแบรนด์เกาหลี และจีน เข้ามาท้าทายตลาดอย่างต่อเนื่องจนรายได้และกำไรในการขายสินค้าพานาโซนิคลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2562

ทั้งนี้ ศิริรัตน์  ยงค์เจริญชัย ผู้จัดการทั่วไปสายสื่อสารองค์กร บริษัท พานาโซนิค แมนเนจเม้นท์ ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การควบรวมโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปอยู่ที่ประเทศเวียดนามเป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีพิจารณาแผนการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งเรื่องของพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า และการบริหารด้านการผลิตและต้นทุนให้มากขึ้น

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/165880

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 19.05.2563

คนเวียดนามกลับจากต่างประเทศติดเชื้อเพิ่ม 4 คนแต่ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในประเทศมากกว่า 1 เดือน

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชน กว่า 1 เดือน แต่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กลับจากต่างประเทศ 4 ราย
  • ยกเว้นการห้ามการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างประเทศ โดยจะพิจารณาอนุญาตให้นักลงทุนชาวต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญ แรงงานทักษะสูง ผู้บริหารกิจการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาชาวเวียดนามที่ศึกษาในต่างประเทศ โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกักตัวอย่างเข็มงวด
  • เวียดนามส่งเสริมการท่องเที่ยว “Safe Haven Tourism” ซึ่งเน้นการจำกัดความเสี่ยง COVID-19 และคาดว่า การท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งรายได้ถึงร้อยละ 10-15 และจ้างงาน 1.3 ล้านคน
  • รองประธานหอการค้าสหภาพยุโรปประจำเวียดนามเห็นว่า เวียดนามเตรียมตัวดีในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19 และจำเป็นประเทศที่ปลอดภัยและน่าดึงดูดสำหรับธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมย้ำว่า เวียดนามจะต้องว่า เวียดนามจะต้องไม่ปกป้องธุรกิจของเวียดนามเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเมื่อการค้าของโลกกลับสู่ภาวะปกติ
  • วันที่ 21 พ.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดเที่ยวบินพิเศษสำหรับคนไทยที่ตกค้างกลับไทย

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับใช้

  • ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนา และมหกรรมกีฬา
  • ยังคงห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเวียดนาม เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
  • บุคคลที่เดินทางเข้าเวียดนามจะถูกกักตัว 14 วัน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 15.05.2563

เวียดนามมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 24 ราย – นายกรัฐมนตรีเวียดนามหารือกับ 5 ประเทศ แนวทางการการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชน (Local Transmission) เป็นวันที่ 29 แต่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กลับจากต่างประเทศ 24 ราย
  • วันนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามแถลงผลการประชุมคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนี้
    • ที่ประชุมได้หารือแนวทางการรับมือชาวเวียดนามที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นคนกลุ่มดังกล่าว
    • ขอให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับชุมชน และหากมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศและชายแดนทางบกในอนาคต
    • ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเวียดนามจะอำนวยความสะดวกการเดินทางกลับเข้าเวียดนาม สำหรับผู้เชี่ยวชาญ แรงงานที่มีทักษะสูง และนักลงทุน

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับใช้

  • ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่องเพื่อมิให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • บุคคลที่เดินทางเข้าเวียดนามจะถูกกักตัว 14 วัน

ประเด็นอื่นๆ

  • ผู้นำเวียดนามได้หารือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อแสดงหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยร่วมมือกับอาเซียน สหประชาชาติ และกลไกต่างๆ

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 06.05.2563

เวียดนามไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในระดับชุมชน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สถานทูตไทยเตรียมส่งคนไทยกลับวันเสาร์นี้

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามยังไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชนติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว (Local Transmission)
  • นายกรัฐมนตรีเวียดนามสั่งการให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ร้อยละ 5 (ซึ่งมากกว่าที่ IMF คาดการณ์ว่า วน.ไว้ที่ร้อยละ 2.7) เพื่อลดแรงกดดันจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มุ่งสร้างงาน ขจัดความยากจน และสนับสนุนประกันสังคม
  • บริษัท VABIOTECH ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Bristol สหราชอาณาจักรเพาะ antigen ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตวัคซีนได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้ทดลองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหนูและอยู่ระหว่างประเมินผล

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับ

  • รัฐบาลเวียดนามขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมมือ มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • รักษาระยะห่างทางสังคม 1 เมตร
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามยังจะถูกกักตัว 14 วัน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 28.04.2563

สอท. ณ กรุงฮานอย สถานะ ณ วันที่ 28 เมษายน 2563 ระบุว่าผู้ติดเชื้อ 270 (+2) ราย, รักษาหาย 222 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต

พัฒนาการที่สำคัญในวันนี้

  • เวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในระดับชุมชนติดต่อกัน 11 วันแล้ว (Local Transmission)
  • รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้เปิดบริการการค้าส่งการค้าปลีก การขายสลากกินแบ่ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ และเมืองหลักต่างๆแล้ว โดยปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย
  • อนุญาตการให้บริการคมนาคมขนส่ง ทั้งนี้ คนขับรถและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัย
  • เวียดนามร่วมมือกับ National Institute of Hygiene and Epidemiology และ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นในการพัฒนาชุดตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 95 และราคาถูกกว่าชุดตรวจจากต่างประเทศ

มาตรการสำคัญที่ยังบังคับใช้

  • รัฐบาลเวียดนามขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมมือ มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • แนะนำให้ประชาชนหมั่นล้างมือ สวมหน้ากาก
  • รักษาระยะห่างทางสังคม 1 เมตร
  • งดกิจกรรมเฉลิมฉลอง พิธีกรรมทางศาสนาและมหกรรมกีฬา
  • ยังไม่อนุญาตให้ธุรกิจอื่นที่ไม่จำเป็น (สถานบันเทิง ร้านทำผม ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด บาร์และไนท์คลับ) เปิดให้บริการ
  • ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามยังจะถูกกักตัว 14 วัน

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย