สปป.ลาว เตรียมพร้อมดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เติบโตได้ในปี 2567

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในปี 2567 สปป.ลาว ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวลาวเดินทางท่องเที่ยวในลาวอย่างน้อย 4.6 ล้านคน เพื่อสร้างรายได้ประมาณ 712 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวปี 2567 ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 6 เดือนแรกในปี 2566 ลาว มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้วกว่า 1.7 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย เวียดนาม และจีน

ที่มา : https://english.news.cn/20231022/ab974e5e1aa74b48bbe804b1e4443971/c.html

IMF ชี้การส่งออก-ท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สปป.ลาว โต 4% ในปี 2567

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ปี 2567 แนะให้เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจลาวที่กำลังตกต่ำกลับมาขยายตัวได้ 4% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม IMF แนะเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับสูงมากกว่า 25% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนท้องถิ่นของลาว ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงและความยากจนที่มีมากขึ้น จากผลของราคาสินค้าที่สูงในขณะที่ค่าจ้างเท่าเดิม อีกทั้งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดท้องถิ่นล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/imf-growth-forecast-10232023180356.html

กัมพูชาเรียกร้องบริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติมในกัมพูชา

Sun Chathol รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ประกาศสนับสนุนบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน อย่าง บริษัท บีวายดี (BYD) ให้ติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพิ่มเติม กระจายไปยังจุดต่างๆ ทั่วกัมพูชา หลังจากแนวโน้มการใช้รถไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยรองนายกฯ ได้จัดทำข้อเสนอในระหว่างการประชุมร่วมกับ Liu Kading รองประธานบริษัท BYD ในประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) สำหรับ ณ เดือนมกราคม 2023 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในกัมพูชามีมากกว่า 700 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นที่จะลดมลพิษ ด้วยการสนับสนุนการใช้ยานพาหนะพลังไฟฟ้าอย่างน้อยถึงร้อยละ 40 ของยานพาหนะทั้งหมด และให้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 70 ของรถจักรยานยนต์ ภายในปี 2050 อีกทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก หวังดึงดูดการลงทุนในภาคส่วนดังกล่าวเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380198/cambodia-asks-chinese-ev-company-to-install-more-charging-stations/

กัมพูชาดันพลังงานหมุนเวียนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในประเทศ

กัมพูชาเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานทดแทนมาขับเคลื่อนภาคพลังงานกัมพูชา ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการนำแนวคิดพลังงานสีเขียวมาร่วมปรับใช้ในภาคพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันทางการได้ให้ความสำคัญกับความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งโครงสร้างประชาชนและภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้เชี่ยวชาญและองค์กรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IREA) ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันระบบพลังงานสีเขียวมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งบางประเภทสามารถทดแทนการผลิตพลังงานในรูปแบบดังเดิมได้อย่างเต็มสมบูรณ์แบบ ขณะที่กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกล่าวเสริมว่าทางการได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานในประเทศด้วยการเพิ่มปริมาณผลผลิตจากปัจจัยการผลิตหลายๆ รูปแบบ ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยปัจจุบันรัฐบาลได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนอย่าง Asean Power Grid (APG) ในการกำหนดเป้าหมายระดับอนุภูมิภาคในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในกัมพูชา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 432 MW ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาไปสู่ 1,000 MW ภายในปี 2030 และสูงสุดถึง 3,155 MW ภายในปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380196/kingdom-focusing-on-renewables-to-boost-energy-efficiency/

คณะผู้แทนรัสเซียเข้าพบนักธุรกิจที่ UMFCCI

คณะผู้แทนนำโดย Mr. Grigoriev Evgeny Dmitrievich ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ภายนอก สมาชิกของรัฐบาลเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสหพันธรัฐรัสเซีย เข้าพบนักธุรกิจที่สำนักงานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) ในย่างกุ้ง เมื่อ 22 ตุลาคม 2566 โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัสเซียและเมียนมาร์ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางทะเล ผลิตผลทางการเกษตร และภาคการส่งออกอื่นๆ ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจ รวมทั้งยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และการผลิตชารัสเซีย ภาคไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็ก และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานได้หารือประเด็นทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้แจงถึงภาคส่วนที่จะเชื่อมโยงกับภาคการส่งออกข้าว ภาคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การขนส่งและวิชาการ ภาคประมงทะเลน้ำลึก และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russian-delegation-meets-businesspersons-at-umfcci/#article-title

กระทรวงพาณิชย์ได้ออกใบรับรอง Form E กว่า 400 ฉบับ ที่เขตการค้าของมูเซ ในช่วง 15 วัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุว่าที่เขตการค้า 105th-mile ของมูเซ มีมูลค่าการค้ารวม 31.706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 14.317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 17.389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยชายแดนมูเซ มีรถบรรทุกส่งออก 776 คัน และรถบรรทุกนำเข้า 1,191 คัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ถึง 15 ตุลาคม 2566 และมีการออกใบรับรองแบบ Form E ทั้งหมด 414 รายการ สำหรับสินค้าประเภท ปูแช่แข็ง ปู ปลาไหล ฝ้าย ข้าว ข้าวหัก ลูกพลัมแห้ง งาดำ และคารายากัม ในปัจจุบันสกุลเงินหยวน และดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกใช้เป็นสกุลเงินหลักอย่างเป็นทางการสำหรับการทำธุรกรรมการค้าชายแดน ระหว่างจีน-เมียนมา ในเขตการค้าดังกล่าว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กรัมเขียว หัวหอม ฝ้าย ปลาไหล ถั่วลิสง แร่สังกะสี คารายากัม ข้าวโพด ปูแช่แข็ง ปู ข้าวหัก ข้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งา และพลัม ส่วนสินค้านำเข้าหลักประเภทยานพาหนะและเครื่องจักร ได้แก่ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ น้ำมัน นิกเกิล เหล็ก แบตเตอรี่ แผงวงจรแบตเตอรี่ รองเท้า และผงคาร์บอน ที่ อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกสามารถขอ Form E (ใบรับรองการค้าเสรีอาเซียน-จีน) การลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าส่งออกบางรายการของเมียนมา ตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับ นอกจากนี้ ยังสามารถขอใบอนุญาตส่งออก/นำเข้าได้ผ่านทางแพลตฟอร์ม Tradenet 2.0 หรือด้วยตนเองที่ด่านชายแดน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-issues-over-400-form-e-certificates-at-muse-trade-zone-within-15-days/#article-title

‘อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนาม’ จะกลับมาฟื้นตัวในปี 67

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) เปิดเผยว่าผลผลิตเหล็กในเดือนกันยายน จำนวนรวมทั้งสิ้น 2.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และลดลง 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การบริโภคเหล็ก ปริมาณ 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยผลผลิตเหล็กในเดือนดังกล่าวได้รับแรงกระตุ้นมาจากนโยบายของภาครัฐฯ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอขวดและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ตลอดจนเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนสาธารณะ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่ง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/steel-industry-expected-to-recover-in-2024/270051.vnp

‘การค้าเวียดนาม-ยูเค’ พุ่ง 16.6%

จากข้อมูลของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าการค้าระหว่างเวียดนามและสหราชอาณาจักรมีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลทางสถิตืแสดงให้เห็นว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในชวงไตรมาสที่ 4 จนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 6.7 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณ 8.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเวียดนามและสหราชอาณาจักรที่มีความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความพยายามในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหราชอาณาจักร (UKVFTA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.64 นอกจากนี้ การลงนามอย่างเป็นทางการล่าสุดของสหราชอาณาจักร คือ ข้อตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าให้กับสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1605565/viet-nam-uk-trade-surges-16-6-per-cent-in-one-year.html

คาดการท่องเที่ยวสีเขียวจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญของระบบเศรษฐกิจเวียดนาม

ท่ามกลางเทรนด์การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ที่เพิ่มขึ้น หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางการเวียดนามได้ออกนโยบายและกลยุทธ์ รวมถึงมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เกิดขึ้นจากทั้งนักท่องเที่ยว ด้านผู้เชี่ยวชาญเสริมว่ารูปแบบการท่องเที่ยวของเวียดนามจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งเน้นไปที่ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีอยู่เป็นหลัก โดยการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวและเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคม จึงเป็นหนทางเดียวสำหรับการผลักดันการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศในอนาคต ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อจะนำความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวนำมาพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/green-sustainable-tourism-becomes-major-trend-in-vietnam-2204088.html