ภาคเอกชนพร้อมหนุนการเติบโตด้านการท่องเที่ยวกัมพูชา

ภาคเอกชนกัมพูชาพร้อมส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมที่มีการจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับ Hor Sarun รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และChhay Sivlin ประธานสมาคมการท่องเที่ยวกัมพูชา (CATA) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทนภาคเอกชนมากกว่า 100 คน ซึ่งกระทรวงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาให้มีความทัดเทียมในระดับนานาชาติ ร่วมกับการพิจารณาถึงความท้าทายที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ ผ่านแผนการยกระดับภาคบริการให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และพัฒนาขั้นตอนในการข้ามพรมแดนมายังกัมพูชา เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดียและจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366904/private-sector-crucial-to-tourism-growth/

รัฐบาล ปัดฝุ่น FTA ไทย-อินเดีย เปิดตลาดยา เวชภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งนี้ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.06% โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/577107

‘เวียดนาม’ เลื่อนขั้นดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น

สถาบันเฟรเซอร์ (Fraser Institute) จากประเทศแคนาดา เปิดเผยดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของโลก พบว่าเวียดนามขยับขึ้นมา 4 อันดับ อยู่ในอันดับ 106 จาก 165 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการพิจารณาทั้งนโยบายและสถาบันของประเทศนั้นๆ ที่สนับสนุนเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วยตัวชี้วัด 5 ประการ ได้แก่ ขนาดของรัฐบาล ระบบกฎหมายและทรัพยสิทธิ ความมมีเสถียรภาพของสกุลเงิน เสรีภาพทางการค้าระหว่างประเทศและกฎระเบียบ ทั้งนี้ สิงคโปร์ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมาฮ่องกง (จีน) สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าอันดับของมาเลเซียร่วงลงมา 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 56 ในส่วนของไทยอันดับดีขึ้น 8 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 64 และฟิลิปปินส์ร่วงลง 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 70

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-rise-up-economic-freedom-rankings-post1048468.vov

‘ตลาดการบินเวียดนาม’ ส่งสัญญาฟื้นตัว

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เปิดเผยว่าตลาดธุรกิจการบินของเวียดนาม ค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วง 9 เดือนแรก ด้วยจำนวนผู้โดยสารต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น และจากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่าเวียดนามต้อนรับผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 89 ล้านคน รวมถึงชาวต่างชาติ 23.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% และ 266.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดธุรกิจการบินของเวียดนามยังคงสามารถรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของตลาดดั้งเดิม และตลาดใหม่ที่มาจากเอเชียกลาง อาทิเช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถาน นอกจากนี้ สายการบินเวียดนามยังได้ขยายเส้นทางบินในบางเส้นทางไปยังอินเดียและออสเตรเลีย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/international-aviation-market-shows-signs-of-recovery/268567.vnp

‘เมียนมา’ ชี้ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก จีน-ไทย โกยเงิน 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ผ่านชายแดนท่าขี้เหล็ก มีมูลค่าการค้ารวม 77.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วง 5 เดือนแรกและช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-19 ก.ย. ด่านการค้าชายแดน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 30.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 47.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กระเทียม ตะกั่วซัลไฟด์และเศษพลาสติกอัดก้อน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tachilek-border-trade-with-china-and-thailand-valued-at-us77-698-mln/#article-title

การขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

8 เดือนแรกของปีนี้ เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ได้มีการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 138 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ บริษัท สปป.ลาว-จีน เรลเวย์ จำกัด (LCRC) โดยคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของ สปป.ลาว จาก จีน ที่ปริมาณ 344,700 ตัน ในขณะที่สินค้าส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังจีน มีปริมาณรวมกว่า 2.7 ล้านตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ผลไม้, แป้งมัน, ข้าวบาร์เลย์, ยาง, เบียร์, แร่เหล็ก, หิน, และปุ๋ยเคมี สำหรับทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นอภิมหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จีนใช้เชื่อมโลก เป็นเหมือนภาคต่อของเส้นทางสายไหม สำหรับเส้นทางสาย สปป.ลาว-จีน ได้เริ่มให้บริการในช่วงเดือนธันวาคม 2021 โดยเส้นทางสายดังกล่าวมีระยะทางรวม 1,035 กิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงทางต้อนใต้ของจีน เข้ากับเมืองเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ในการสนับสนุนภาคการขนส่งระหว่าง สปป.ลาว-จีน

ที่มา : https://english.news.cn/20230926/f031f53c3d344c76b65114d370627f4d/c.html

กัมพูชา-ออสเตรเลีย เปิดตัวนวัตกรรมอาหาร หวังดัน SMEs ภาคเกษตรและอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียพร้อมให้ความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนกิจการขนาดย่อม (SMEs) ของภาคการเกษตรและอาหาร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงปรับปรุงสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร และเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านองค์กร Khmer Enterprise และรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือ Cambodia Australia Partnership for Resilient Economic Development (CAPRED) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการนี้ยังร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติกัมพูชาในการช่วยสนับสนุน SMEs นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารผ่านการจัดงานครั้งแรกเรื่อง Agri-Food Innovation Summit โดยนำ SMEs, นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันในการแบ่งปันความรู้และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366475/cambodia-and-australia-launch-food-innovation-partnership-to-support-agri-food-smes/

กัมพูชา-อินเดีย ให้คำมั่นร่วมมือพัฒนาภาคการท่องเที่ยวระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดียได้ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาภาคธุรกิจการท่องเที่ยว หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมระหว่าง Sok Soken รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว และ Dr. Devyani Khobragade ผู้ทรงและที่ปรึกษาพิเศษของสาธารณรัฐอินเดียในกัมพูชา โดยในระหว่างการประชุม Sok Soken ได้ขอขอบคุณรัฐบาลอินเดีย สำหรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น โครงการ Quick Impact Projects 3 ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือเพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน ด้านรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและทูตยังได้กล่าวเสริมถึงแนวคิดในการสร้างแพ็กเกจท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณและศาสนสถาน เพื่อเป็นการชูจุดเด่นของสถานที่และถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศยังตกลงในการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองพนมเปญกับนิวเดลี ผ่านสายการบินกัมพูชาอังกอาร์แอร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียทั้งหมด 34,016 คน เพิ่มจาก 840 คน ที่ได้บันทึกไว้ในปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366506/cambodia-and-india-vow-stronger-cooperation-on-tourism-development/