‘วีเอ็นจี’ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากเวียดนาม ยกเลิกแผนเข้าสู่ตลาดโลก

จากรายงานทางการเงินของบริษัทวีเอ็นจี (VNG) เปิดเผยว่าบริษัทขาดทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 291 พันล้านดอง นับเป็นการขาดทุนไตรมาสที่สามติดต่อกัน และหากพิจารณาทั้งปีจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนรวมกันทั้งสิ้น 756 พันล้านดอง รวมถึงการขาดทุนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง ‘Tiki’ สูญเสียเงินกว่า 510 พันล้านดอง ถึงแม้ว่าทางบริษัทขาดทุนอย่างมาก แต่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากธุรกิจหลักของบริษัทจากเกมส์ออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนราว 75% ของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ บริษัทวีเอ็นจีได้วางแผนที่จะระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 จากการเสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และมีแผนจดทะเบียนในตลาด Nasdaq Global Market

อย่างไรก็ดี ต่อมาได้ขอแจ้งถอนการเสนอขายหุ้น IPO โดยนักวิเคราะห์คาดว่าสาเหตุที่ถอนการเสนอขายดังกล่าวมาจากสถานะในปัจจุบันของตลาดหุ้นโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/tech-giant-vng-cancels-plan-to-enter-global-market-but-keeps-ambitious-goals-2247956.html

‘เวียดนาม’ เผยตลาดรถจักรยานยนต์อ่อนแอ ก่อนเทศกาลเต็ด

ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงเทศกาลเต็ด (ตรุษจีน) เผชิญกับสถานการณ์ที่ผิดปกติ โดยแทนที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า กลับกันผู้แทนจำหน่ายปรับลดราคาสินค้าพร้อมกัน เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะปรับลดราคาลง แต่สถานการณ์ของตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามยังคงอ่อนแอ

ทั้งนี้ คนวงในของอุตฯ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ทั้งจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และยอดขายรถจักรยานยนต์ที่ลดลง ทำให้ธุรกิจต่างๆ ใช้กลยุทธ์การลดราคา เพื่อกระตุ้นการซื้อ

นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 อยู่ที่ 2,516,212 คัน ลดลง 16.21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแบรนด์ฮอนด้า (Honda) ยังคงมีสัดส่วนของยอดขายมากที่สุดกว่า 83% ของยอดขายทั้งหมดในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/domestic-motorcycle-market-sees-poor-demand-before-tet-2248076.html

อัตราแลกเปลี่ยนจ๊าด-ดอลลาร์ในตลาดลดลงอยู่ที่ 3,500 จ๊าด

ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจ๊าดเทียบกับดอลลาร์ชะลอตัวลงที่ประมาณ 3,500 จ๊าดที่ตลาดซื้อขายที่เคาน์เตอร์อย่างไม่เป็นทางการหลังจากแตะ 3,560 จ๊าด เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) เข้ามาแทรกแซงตลาดสกุลเงินโดยการอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในตลาดฟอเร็กซ์ โดยในวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา CBM อัดฉีดเงินตราต่างประเทศ รวมมูลค่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 250 ล้านบาท ในแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของธนาคารกลางเมียนมาที่กำหนดไว้อยู่ที่ 2,100 จ๊าด/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ธนาคารกลางแห่งเมียนมาได้อนุญาตให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ธนาคารเอกชน) ดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างอิสระตามอัตราตลาดที่กำหนดโดยกลไกของตลาดอุปสงค์และอุปทาน นอกจากนี้ CBM ยังได้แจ้งว่าการโอนเงินไปต่างประเทศจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyat-dollar-exchange-rate-dips-to-k3500-in-market/#article-title

MRF เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นทะเบียนโกดังข้าว หนุนเสถียรภาพตลาด

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) รายงานว่าโกดังเกือบ 300 แห่งได้ลงทะเบียนบนแพลตฟอร์ม MyRO (Myanmar Rice Online) ซึ่งช่วยในการคำนวณอุปทานข้าวที่เหลืออยู่ในประเทศ ทั้งนี้ สหพันธ์ระบุว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในท้องถิ่นโดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของข้าวสำรอง และยังคาดว่าจะแก้ไขปัญหาการเก็งกำไรราคา อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าจะต้องลงทะเบียนใน MyRO หากเก็บข้าวได้มากถึง 50 ตันหรือตะกร้าข้าว 5,000 ตะกร้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ตามประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มกราคมกรมกิจการผู้บริโภคยังได้ออกการแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า สั่งให้จดทะเบียนโกดังถ้าขายข้าวในศูนย์การค้า นอกจากนี้ สหพันธ์ได้ประกาศข้อกำหนดให้ลงทะเบียนในวันที่ 12 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mrf-launches-online-platform-for-rice-warehouse-registration-bolstering-market-stability/

คนรุ่นใหม่ใน สปป.ลาว ให้ความสนใจภาษาจีนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน

คนรุ่นใหม่ใน สปป.ลาว ให้ความสนใจในการเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น โดยตระหนักโอกาสในการทำงานในอนาคต ท่ามกลางการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนชาวจีนจำนวนมาก ในปีการศึกษา 2566-2567 การลงทะเบียนเรียนที่สถาบันขงจื้อ ซึ่งเป็นสถาบันภาษาจีนที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลเผยให้เห็นว่าจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในเวลาเพียง 2 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 193 คน ในปี 2564 เป็น 562 คน ในปี 2566 นอกจากนี้ นักศึกษาลาวเริ่มลงทะเบียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติ โดยสาขาวิชาภาษาจีนกลายเป็นวิชาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยมีนักศึกษาลงทะเบียนมากกว่า 2,000 คน นี่เป็นจำนวนที่สูงที่สุดในบรรดาวิชาทั้งหมดสำหรับปีการศึกษานี้ ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงความสนใจทางวิชาการในหมู่เยาวชนของ สปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/02/08/rising-interest-in-chinese-language-reflects-future-job-prospects-for-lao-youth/

นายกฯ สปป.ลาว แนะเจ้าหน้าที่แขวงบ่อแก้ว ลดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว แนะนำให้ทางการปฏิบัติตามมติของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมถึงวิธีการบริหารสมัยใหม่ แขวงบ่อแก้วควรปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนงบประมาณของรัฐ และแผนสกุลเงิน ปี 2567 โดยแนะนำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเม็ดเงินที่เข้ามาสู่แขวงบ่อแก้วและการชำระเงินโดยทั่วไป จะถูกชำระผ่านบัญชีธนาคารมากขึ้น เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบธนาคาร การจัดการสกุลเงินจะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการควบคุมเงินที่นำเข้าเพื่อการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย นอกจากนี้ ทางการควรลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_28_PM_y24.php

ADB ตกลงสนับสนุนผู้ประกอบการ MSMEs กัมพูชา

ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งกัมพูชา (FTB) เข้าร่วมโครงการการเงินการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (TSCFP) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อส่งเสริมทางด้านการเงิน การค้า สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) ในกัมพูชา โดยเป็นการลงนามระหว่าง Dith Sochal ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FTB และ JyotsanaVarma ผู้อำนวยการ ADB ประจำกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะเติมเต็มช่องว่างให้กับผู้ประกอบการ MSEMs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านธนาคารพันธมิตร ด้าน MSMEs คิดเป็นกว่าประมาณร้อยละ 99 ขององค์กรทั้งหมดในกัมพูชา ขณะที่ TSCFP ได้ให้สินเชื่อและค้ำประกันแก่ธนาคารพันธมิตรมากกว่า 200 แห่งในหลายประเทศ เพื่อสนับสนุนการค้า ส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435837/cambodia-adb-agree-to-support-micro-small-and-medium-sized-enterprises/

2023 มูลค่าการส่งออก-นำเข้า ผ่าน SSEZ กัมพูชา แตะ 3.36 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมูลค่าการค้าผ่าน SSEZ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 7.18 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ถือเป็นโครงการเรือธงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งร่วมลงทุนโดยนักลงทุนจีนและกัมพูชา ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดพระสีหนุ โดยเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของขนาดและจำนวนผู้ประกอบการในเขต ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรและบริษัทเอกชนรวมกว่า 180 แห่ง จากทั้งทางฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ และจากภูมิภาคอื่นๆ สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501435871/ssezs-export-import-valued-at-3-36-billion-in-2023/