สินค้าผ่านด่านมูเซลดลงถึงหนึ่งในสาม

จากการเข็มงวดของจีนเกี่ยวกับการค้าที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนมูเซซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รวมถึงข้อห้ามที่ในการนำเข้าสินค้าเกษตรส่งผลกระทบต่อการส่งออกชายแดนของเมียนมา จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกลดลง 28.4% เป็นมูลค่า 2.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวันที่ 1 ต.ค.61 ถึง 2 ส.ค ปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วการนำเข้าเพิ่มขึ้น 6.5% มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การค้ารวมผ่านด่านมูเซมีมูลค่าถึง 4.42 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ข้อจำกัดอีกอย่างคือสินค้าเกษตรอย่างข้าวและข้าวโพด เมื่อปี 61 ที่ผ่านมายอดส่งออกลดลงเพราะจีนปราบปรามการส่งออกที่ผิดกฎหมาย และเพื่อบรรเทาการส่งออกที่ลดลงรัฐบาลเมียนมาได้หารือกับจีนเพื่อแลกเปลี่ยนโควต้าสินค้าโดยได้ทำข้อตกลงกับจีนในการซื้อข้าว 100,000 ตันผ่านการค้าชายแดน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/exports-through-muse-down-third.html

ยอดการส่งออกข้าวเมียนมาลดลงกว่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามูลค่าจากการส่งออกข้าวและข้าวหักมีมูลค่า 597.369 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 ถึง 2 ส.ค.62 ของปีงบประมาณ 61-62 มีรายรับ 597.369 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวและข้าวหัก 1.978 ล้านตัน ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีรายรับ 950.661 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าว 1.801 ตันและข้าวหัก เมียนมาส่งออกข้าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปและแอฟริกาผ่านทางทะเลและไปยังจีนผ่านด่านการค้าชายแดน จากการขยายตลาดในปี 60-61  สามารถส่งออกข้าวได้เกือบ 3.6 ล้านตัน เป็นการทำลายสถิติในรอบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา การนำเข้าที่หดตัวเพราะแนวโน้มนำเข้าของทั้งจีนและอียูลดน้อยลง

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/rice-export-earnings-decline-by-over-350-m-usd

ข้อจำกัดของ SMEs สปป.ลาวที่ขัดขวางการดำเนินธุรกิจ

จากการสำรวจองค์กรธนาคารโลกพบว่าการเข้าถึงการเงินในสปป.ลาวทำได้ยากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปัญหานี้เกิดจากการผสมผสานของปัจจัยที่มีอยู่ เช่น ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากขึ้นของภาคธนาคาร เป็นต้น การปฏิบัติของคู่แข่งในภาคนอกระบบ เช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ไม่ดี อีกทั้งการจัดหาไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SMEs  ซึ่งการจัดการกับข้อจำกัดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของ SMEs สามารถทำได้โดยการปรับปรุงขีดความสามารถของ SMEs ในการวางแผนธุรกิจการจัดการทางการเงินและการใช้แนวทางการบัญชีที่เหมาะสม สองควรมีการกระจายผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของธนาคารและสถาบันที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ควรปรับปรุงข้อมูลความครอบคลุมสินเชื่อของสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแล การปรับปรุงประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายของกระบวนการราชการอย่างเป็นทางการ และการลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครือข่ายการกระจายพลังงานและการเชื่อมต่อไฟฟ้า การปรับปรุงประสิทธิภาพและโอกาสของ SMEs เป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มรายได้และคุณภาพของงานขณะเดียวกันก็ช่วยให้รัฐบาลเข้าใกล้เป้าหมายที่จะเพิ่มลาวให้พ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

ที่มา :  http://annx.asianews.network/content/constraints-lao-smes-obstruct-business-operations-101968

IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสปป.ลาวยังคงสดใส

IMF คาดการณ์แนวโน้มที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ถึงแม้จะมีปัญหาในปัจจุบัน IMF ได้คาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง การส่งออกไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและความสำเร็จของการรถไฟสปป.ลาว – ​​จีน จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 7% ในระยะปานกลาง การขยายตัวของจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ 6.3% ในปี 61 ลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 60 การชะลอตัวนั้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ในปีนี้รัฐบาลได้ระงับโครงการลงทุนสาธารณะใหม่และกำหนดงบการเงินรวม และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะยังคงอยู่เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการนำเข้า การสนับสนุนจากความพยายามในการปรับปรุงการบริหารรายได้และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายและแผนการของรัฐบาลในการลดการรับสมัครงานกับข้าราชการพลเรือน การใช้จ่ายเงินทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ แต่แม้จะมีแนวโน้มที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง สปป.ลาวยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยระหว่างประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos184.php

กัมพูชาและมาเลเซียหารือเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พบกับเอกอัครราชทูตมาเลเซียในกรุงพนมเปญเพื่อพิจารณาการจัดตั้งโรงงานหลายแห่งในกัมพูชาเพื่อผลิตชิ้นส่วนจักรยาน โดยเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกจักรยานถึง 1.52 ล้านคัน ไปยังสหภาพยุโรปมูลค่ารวมกว่า 331 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามรายงานของธนาคารโลก ซึ่งในปี 2560 กัมพูชาได้กลายเป็นซัพพลายเออร์รถจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปแซงไต้หวัน ซึ่งโฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าการมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิตจักรยานและเป็นการปรับห่วงโซ่อุปทาน โดยทางกัมพูชาได้แก้ไขกฎหมายการลงทุนและยังคงทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจในประเทศด้วยความคิดริเริ่มหลายประการรวมถึงการแนะนำแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการลงทะเบียน ความคิดริเริ่มเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50633656/cambodia-malaysia-discuss-bike-parts-manufacturing/

การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกจากรายงานของสภาธุรกิจแห่งกัมพูชา (TBCC) โดยเผยการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงครึ่งปีแรกสูงถึง 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกไปยังไทยมูลค่า 685 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52% ในทางตรงกันข้ามนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 1% โดยกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่นข้าวโพด ,มันสำปะหลัง และถั่วเหลือง ส่วนนำเข้าจะเป็นจำพวกเครื่องจักร ,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ,น้ำมันเตา ,วัสดุก่อสร้าง ,เครื่องสำอางและเครื่องใช้ในบ้าน จากประเทศไทย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วทั้งสองประเทศได้ลงนามใน “ยุทธศาสตร์การขยายตัวของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน” เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน โดยกัมพูชาและไทยได้ตกลงที่จะขยายการค้าทวิภาคีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50633275/cambodia-thailand-trade-sees-steady-growth/

“ดัชนีหอการค้าไทย” เผย ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 จากระดับ 47.1 ในเดือนมิถุนายน โดยเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน และมีดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.2 จากระดับ 48.7 ในเดือนมิถุนายน โดยมีความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศจีน ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออก สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรทำให้เกิดความเสียหาย และการส่งออกของประเทศไทยในเดือนมิถุนายนและในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังคงมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หอการค้าไทยจึงต้องการให้ภาครัฐดูแลปัญหาในเรื่องของค่าเงินบาทในปัจจุบันที่เริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลง ให้อ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ ต้องการให้พัฒนาเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นพร้อมกับแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาสินค้า ออกมาตรการและวางแผนในการเฝ้าระวังเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในประเทศเพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินให้ได้อย่างทั่วถึง

ที่มา : https://www.facebook.com/ThaiChamber/

ค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนบูม

จากการเสนา “CLMV Cross-Border Digital Trade” โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าในปัจจุบันตลาดซื้อขายออนไลน์ของไทยโตขึ้นปีละ 30% มูลค่ากว่า 2 แสนล้านต่อปี เป็นรูปแบบ business-to-consumer (B2C) การขายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นของธุรกิจในลักษณะนี้ โดยผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่ม Startup ต้องเน้นเจาะตลาดกลุ่มพฤติกรรมที่ชื่นชอบผ่าน 3 ชองทางที่มาแรง ได้แก่ ผ่านโซเชียล (50%) ,e-Market place (30%), Online Platform (20%) โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ กลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ตลาด CLMV ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาระบบ ซึ่งตลาดรวมยังน้อยกว่าไทย ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ไปลงทุนเป็นโซเลียลมีเดีย โดยปัจจุบันตลาดอินโดนีเซียน่าสนใจไม่แพ้เวียดนาม เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ ทั้งนี้ นโยบายปั้นสตาร์อัพที่ภาครัฐผลักดันถือว่ามาถูกทาง แต่ควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และผู้ประกอบการต้องสร้างอัตลักษณ์ตัวตนให้ชัดเจน สิ่งสำคัญ คือรัฐ และเอกชนต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 15-18 ส.ค. 2562

ศุลกากร : เวียดนามมีดุลการค้าเกินดุล 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562

จากคำแถลงการณ์ของกรมศุลกากรเวียดนาม (The Customs Department) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เปิดเผยว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมของปี 2562 เวียดนามเกินดุลการค้าอยู่ที่ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่มีมูลค่าเกินดุลการค้า 1.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านการส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 22.979 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 22.936 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว โดยสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน สมาร์ทโฟน และเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และผ้า (Fabric) ยังคงเป็นสินค้านำเข้าสำคัญของเวียดนาม

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20190813/vietnam-s-trade-surplus-plunges-to-43-mln-in-july-customs/50963.html

เวียดนามคาดว่าการส่งออกกุ้งจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 62

จากรายงานของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (The Viet Nam Association of Seafood Exporters and Producers) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกกุ้งอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าของตลาดต่างประเทศลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เป็นต้น แต่ทางสมาคมฯ มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ตลาดต่างประเทศจะนำเข้ามากขึ้น เป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยตลาดสำคัญอย่างประเทศจีน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 233.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของคู่แข่ง ได้แก่ อินเดีย และเอกวาดอร์ เป็นต้น รวมไปถึงนโยบายการค้าที่เข็มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ผลของข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป จะช่วยส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเล ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/523927/shrimp-exports-expected-to-pick-up-in-2nd-half.html#f2UkmlJLouYgI0R1.97