บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT
โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว
สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม
ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น
อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ
ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก
1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป