ครม.ส่งต่อเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี ไฮสปีด 3 สนามบิน-อู่ตะเภา ให้รัฐบาลใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) มีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้วรวม 5 โครงการ โดยทุกโครงการมีความก้าวหน้า 2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC มี 2 รูปแบบ 3.แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd 5.การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC-OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ 6.การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบิน-โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล บนแนวคิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว 7.การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ 8.แผนงานบูรณาการ EEC ขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ สานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 9.ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผน และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC อาทิ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G 10.กองทุนพัฒนาอีอีซี มีการดำเนินการ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบโครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเป็นต้น และ 11.ระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบข้อบังคับประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC มีผลบังคับใช้แล้วรวม 10 ฉบับ

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1272541

ครม. เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนหลังโควิด-19 พร้อมแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยเรื่องแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การรับรองผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน  โดยผลการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก 1.สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการฟื้นฟูและการปรับตัว 2.ฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ 3.สร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักการของความยั่งยืนและมีความครอบคลุม 4.นำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน 5.สนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาว และการเตรียมความพร้อมในภาวะวิกฤติ

ที่มา : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/38489

ครม. ไฟเขียวยืดเวลาศึกษาการเข้าร่วม “CPTPP” อีก 50 วัน

ครม. ไฟเขียว กนศ. ขยายระยะเวลาศึกษา CPTPP อีก 50 วัน ก่อนกลับมาให้ ครม. พิจารณา ชี้หากเดินหน้าเจรจาจะกำหนดท่าทีและข้อสงวนในการเจรจาให้เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยสูงที่สุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาลออกไปอีก 50 วันจากเดิมที่สิ้นสุดกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้การขยายระยะเวลาในการศึกษาเนื่องจากคณะทำงาน 8 คณะที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับกรณีเข้าร่วม CPTPP ยังต้องการระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครอบคลุมรอบด้านในทุกประเด็นก่อนที่จะเสนอข้อมูลให้ ครม. และนายกรัฐมนตรีรับทราบ

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/652097

ตั้ง 8 อรหันต์ CPTPP “ประยุทธ์” ขีดเส้น ส่งการบ้านกลางเดือนเมษาฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการดำเนินการจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร โดยหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่องรวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง CPTPP รายประเด็น จำนวน 8 คณะ ซึ่งทั้ง 8 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ จะเร่งจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงาน การดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมหรือความไม่พร้อมและเงื่อนไขในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปภายในกลางเดือนเมษายน 2564

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-627018

จุรินทร์ ชี้ไทยได้ประโยชน์จากซีพีทีพีพี หลังร่วมลงนามอาร์เซ็ป-แต่ยังเหลือขั้นตอนทำสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์​ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ จะยังไม่มีการนำเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าหารือ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ซึ่งหลังจากลงนามาร่วมกันเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลบังคับใช้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ สำหรับประเทศไทยต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ จึงจะสามารถแจ้งให้กับทางเลขาธิการอาร์เซ็ปทราบ ซึ่งตนจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็ว และให้ทันในสมัยประชุมนี้ มีระยะเวลาอีกเพียง 4 เดือนคือ พ.ย.2563-ก.พ.2564

ที่มา : https://www.naewna.com/business/532311

สื่อนอกชี้ความท้าทาย ครม.ใหม่ เศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดในอาเซียน

เดอะ นิคเคอิ เอเชียน รีวิว สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานนำเสนอมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสภาวะ “เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนขุนพลกลางสนามรบ” ผ่านบทความ Thailand’s rulers must act fast to reverse COVID-19 economic damage ที่เขียนโดยวิลเลียม พีเซค (William Pesek) สื่อมวลชนที่คร่ำหวอด ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสุดโหดและเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ใครจะเข้ามาเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทย หรือ โผคณะรัฐมนตรีใหม่ (ครม.) จะมีใครบ้าง จะไม่สำคัญเท่ากับการที่ไทยจะต้องปรับตัวเองให้ไว ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มไว้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด การไหลออกของรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ รวมทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนว่าเหตุผลส่วนหนึ่งจะมาจากผลการทำงาน เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ ซึ่งเป็นปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนรัฐนาวามาครบ 1 ปี จะหดตัวที่ร้อยละ -8.1 ทำให้เป็นไปได้ที่ไทยจะกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า ในอีกแง่หนึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ น่าจะเป็นความพยายามสร้างความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/world/442806

ครม.เห็นชอบแถลงการณ์ร่วม รมต.อาเซียน-จีนเสริมสร้างการขนส่งสู้โควิด-กระตุ้นศก.

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ราบรื่นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ รมว.คมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ด้วยระบบการประชุมทางไกล ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ก.ค.นี้ แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวแสดงออกถึงความมุ่งมั่นระหว่างอาเซียนและจีนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การเดินทางและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การคมนาคม และการบริการด้านอื่นๆ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานและตลาดการเงินหยุดชะงัก สาระสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าที่จำเป็นข้ามพรมแดน รวมถึงอาหาร ยาและเวชภัณฑ์สำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าและบริการอื่นๆ อำนวยความสะดวกในการเข้า ออก และผ่าน ของวัสดุและสินค้า ให้ความสำคัญต่อการเดินเรืออย่างปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้ามพรมแดน และลดความเสี่ยงของกลุ่มที่นำเชื้อโรคเข้าประเทศ รวมทั้ง อาเซียนและจีน จะอำนวยความสะดวกในการเตรียมการเดินทางโดยค่อย ๆ ลดข้อจำกัดด้านการเดินทางแต่ยังคงเคารพซึ่งการป้องกันสุขภาพ โดยอาเซียนและจีนเห็นพ้องถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-b451b842b5809ae67c3bef48c86fe410

ครม.เห็นชอบไทยเข้าร่วมข้อตกลงสินค้าเกษตรอาเซียน

ครม. กำหนดกรอบการเจรจาความตกลงด้านมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้า รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ตามที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดท่าทีของประเทศไทยที่จะไปตกลงในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสาระสำคัญคือ 1.กำหนดหรือพิจารณามาตรฐานของอาเซียนด้านระบบการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง ในระดับฟาร์ม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน 2.กำหนดขอบข่ายและเงื่อนไขในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 3.พัฒนากลไกการประสานงานของอาเซียนและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิก โดยกำหนดกลไกในการดำเนินการให้การยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเงื่อนไขในการตกลงในการนำเข้าและส่งออกในภูมิภาค 4.ประเด็นอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติความตกลงนี้ เช่น การระงับข้อพิพาท ความโปร่งใส การเพิ่มบทบาทของอาเซียนและของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร การมีผลใช้บังคับ และการแก้ไขความตกลง รวมทั้งประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อไทย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886351

ครม.โยนเผือกร้อน CPTPP ให้สภาพิจารณา

ครม.โยนเผือกร้อนให้สภาฯ ส่ง “พุฒิพงษ์” หารือสภาฯตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ถกผลดี ผลเสีย ไทยเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี ก่อนส่งกลับ ครม.อีกครั้ง ขณะที่ “จุรินทร์” เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ระบุลดความขัดแย้ง น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกกรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขึ้นมาหารือ และเห็นร่วมกันว่าควรจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อการศึกษาผลบวกและลบ ที่ไทยจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยกับกลไกดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ประสานสภาเพื่อจัดตั้งคณะกรรรมการวิสามัญฯ ขึ้นมาแล้วหาข้อสรุปร่วมกัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882379

ครม.เคาะแผนพัฒนาแปรรูปอาหาร 6.6 พันลบ.หวังติด TOP10 ผู้ส่งออกอาหารโลก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (62-70) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณประจำปี 63-66 ในการดำเนินการ 6,671 ล้านบาท และการสนับสนุนจากเอกชน 2,224 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนในปี 70 และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก ในด้านเศรษฐกิจคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากกลุ่มอาหารจะเติบโตขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท รายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี และจะเกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ 0.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี สำหรับโครงการนี้ มีวิสัยทัศน์ คือ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ส่วนสินค้าเป้าหมาย อาทิ ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ เป็นต้น

ที่มา : https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=dFpiMHdKelpvbXM9