กัมพูชา-ญี่ปุ่น จัดการเจรจาค้นหาโอกาสด้านการลงทุน

คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีและนักธุรกิจระดับทวิภาคีจากทั้งญี่ปุ่นและกัมพูชาได้จัดประชุมเมื่อต้นเดือน ก.พ. ณ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เพื่อเปิดมุมมองใหม่สำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในการลงทุน ในกัมพูชา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขยายการลงทุนและเป็นส่วนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางด้านธุรกิจในกัมพูชา โดยในการประชุมได้พูดถึงภายใต้กรอบความตกลงระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ว่าด้วยการเปิดเสรี การส่งเสริม และการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เมื่อ 14 ม.ย. 2007 ที่ผ่านมา โดยได้ยกหัวข้อขึ้นมาอภิปราย ได้แก่ ผลประโยชน์ทางภาษี การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบการขนส่งโลจิสติกส์ ลดอัตราค่าไฟฟ้า และการนำเข้ารถยนต์โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในกัมพูชา ซึ่งในเดือน ม.ค. เพียงเดือนเดียว สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติและจดทะเบียนโครงการลงทุน 147 โครงการ ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501028593/cambodia-and-japan-hold-high-level-talks-to-explore-investment-opportunities/

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา ให้คำมั่นส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชา

Sok Chenda Sophea รัฐมนตรีผู้แทนนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) และ Masahiro MIKAMI เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมกัมพูชา ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ณ สภาพัฒนากัมพูชา โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการรักษาระดับการลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีผู้แทนนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเพิ่งได้รับการอนุมัติและประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2021 ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานทางกฎหมายด้านการลงทุนสำหรับกัมพูชา ในการดึงดูดการลงทุนและช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501028646/the-japanese-ambassador-to-cambodia-committed-to-continue-efforts-to-promote-japanese-fdi-inflow-into-cambodia/

มกราคม 2022 กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 288 ล้านดอลลาร์

กรมภาษีอากร (GDT) หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่มีมูลค่าแตะ 288.23 ล้านดอลลาร์ ในเดือนแรกของปี โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในที่ประชุมประจำเดือนภายใต้การนำของอธิบดี H.E. Kong Vibol ซึ่งรายได้ที่ได้รับคิดเป็นร้อยละ 10.22 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501028271/tax-revenues-reaches-288-million-in-january-2022/

RCEP-FTA กุญแจสำคัญดึงการลงทุนมายังกัมพูชา

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี (FTA) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังกัมพูชาในยุคหลังโควิด-19 โดย RCEP และ FTA กัมพูชา-จีน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะที่เขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้คาดว่าจะมีผลในอนาคตอันใกล้ ซึ่ง Vongsey Vissoth ปลัดกระทรวงการคลังกัมพูชา ได้กล่าวเสริมว่าข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะยาว โดยเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 2021 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการพื้นตัวของภาคการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และการเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501027994/rcep-bilateral-ftas-key-to-attract-investments-to-cambodia-in-post-pandemic-era/

CMA และ CBC ลงนาม MoU สนับสนุนภาคบริการทางการเงินกัมพูชา

ระบบทางการเงินกัมพูชาได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของกัมพูชา ประจำปี 2019-2025 ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) และเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ภายใต้โครงการระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีครั้งที่ 16 และการประชุมประจำปีครั้งที่ 2 ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของภาคส่วนการเงินรายย่อยในกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนกัมพูชา รวมถึงเสริมสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเงินรายย่อย ด้วยการสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทันท่วงที ตามข้อกำหนด ภายใต้ความสามารถในการชำระคืน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501026477/cma-and-cbc-ink-mou-to-prop-up-cambodias-

สปป.ลาว กัมพูชา เติบโตอย่างก้าวกระโดดในด้านการค้า การลงทุน

มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสปป.ลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 การเติบโตทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้นเปิดเผยเมื่อนายสะเล็มไซ คมสิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญ กระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวระบุว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคีเติบโตขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการขายไฟฟ้าของลาวให้กับกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทกัมพูชา 30 แห่งที่ลงทุนในลาวด้วยทุนจดทะเบียน 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สปป.ลาวและกัมพูชายังคงสานสัมพันธ์ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง การศึกษา กีฬา และความพยายามในการต่อสู้กับการค้ายาเสพติดในระดับท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao_Cambodia_33.php

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าแตะ 11.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาเปิดเผยว่ายอดการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวการเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ที่มูลค่า 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยกัมพูชาได้รับปัจจัยบวกหลังจากประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาทิเช่น เมียนมาร์ บังกลาเทศ และเวียดนาม ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ในทางกลับกันกัมพูชาและจีนได้จัดหาวัตถุดิบในการผลิตไว้อย่างเพียงพอแล้ว จึงทำให้ประเทศผู้ซื้อหันมาสั่งซื้อสินค้ากับทางกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกัมพูชายังมีสิทธิพิเศษทางด้านการค้า อาทิเช่น EBA และGSP เป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกเสื้อผ้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025229/cambodias-garment-export-nets-11-3-billion-in-2021/

“กัมพูชา-ไทย” วางแผนเปิดพรมแดนใหม่ กระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยว

ทางการกัมพูชาและไทย วางแผนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่ ในช่วงจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชาที่เชื่อมต่อกับจังหวัดตราดของประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงอาคารตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และสรรพสามิต ตลอดจนที่จอดรถ โกดังสินค้า และสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในด้านของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ามากถึง 7.97 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.37 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการนำเข้าจากไทย ได้แก่ สินค้าเกษตร รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารและวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศมีความหวังสูงสุดที่จะผลักดันการค้าทวิภาคีให้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025053/new-cambodia-thai-border-set-to-boost-mutual-trade-and-tourism-say-experts/