‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนสหรัฐฯ

จากงานสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นโดย ‘Asia Group’ เปิดเผยว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดของนักลงทุนสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จุดมุ่งหมายของงานสัมมนาครั้งนี้เพื่อแบ่งปันโอกาสทางธุรกิจและข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนแนวโน้มทางเศรษฐกิจเวียดนาม โดยมีผู้ร่วมงานที่เป็นตัวแทนบริษัทสหรัฐฯกว่า 40 คน มาจากกลุ่มพลังงาน การเงิน เทคโนโลยีและการผลิต อาทิ Blackstone Group, Google, Facebook , Ford, UPS และ Walmart เป็นต้น ทั้งนี้ นาย ฮา กิม หง็อก เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ กล่าวถึงความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนามและแจ้งข้อมูลเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนสหรัฐฯ เวียดนามดำเนินการร่วมมือทางหุ้นส่วนการค้าและเครือข่ายความตกลงการค้าเสรี จะช่วยให้กิจกรรมของประเทศดีขึ้น

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11255702-vietnam-remains-attractive-destination-for-us-investors.html

FDI กัมพูชาขยายตัวร้อยละ 22 มูลค่าแตะ 4.35 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021

ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กัมพูชาสามารถดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้จำนวน 4.35 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีน สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งภายหลังรัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ประจำปี 2021-2023 โดยมีเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การกู้คืน การปฏิรูป และการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎหมายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการดำเนินการตามกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501037592/cambodia-fdi-inflows-zoom-22-percent-at-4-35-billion-in-2021/

เมียนมา ชี้ มันสำปะหลัง ต้องการลงทุนเพิ่ม เพื่อเจาะตลาดส่งออกมากขึ้น

องค์การส่งเสริมการค้าเมียนมา เผย เมียนมาส่งออกมันสำปะหลังได้เพียงเล็กน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันปริมาณการส่งออกค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 50 ตันต่อเดือน และมีการพยายามส่งออกไปยังจีนให้มากขึ้น โดยมันสำปะหลังหนึ่งตันมีมูลค่าประมาณ 200-250 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังต่ำ ส่วนใหญ่มีการปลูกอยู่ในเมือง Kyonpyaw, Yekyi, Ngathainggyoung, Kyaunggon และ Thaboung ในเขตอิรวดีโดยมีพื้นที่มากกว่า 30,000 เอเคอร์ทั่วภูมิภาค มีผลผลิตต่อเอเคอร์ประมาณ 3,500 viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงและราคามันสำปะหลังที่ลดลงในปีงบประมาณ 2563-2564 นอกจากนี้ ตลาดยังขึ้นอยู่กับผู้บริโภคในท้องถิ่นและโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ ราคามันสำปะหลังลดลงจาก 103 จัต มาอยู่ที่ 80 จัตต่อ viss ในปัจจุบัน ในทำนองเดียวกันราคาแป้งมันสำปะหลังก็ปรับลดลงจาก 850 จัตมาเป็น 500-550 จัตต่อ โดยเมียนมามีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเมียนมาตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มประเทศผู้ซื้อมันสำปะหลังรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่มีความต้องการคิดเป็น 90% ของความต้องการทั้งโลก ดังนั้นควรเพิ่มปริมาณการปลูกให้มากขึ้น ทั้งนี้มันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ทดแทนแป้งสาลี ยารักษาโรค อาหารสัตว์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศมีการบริโภคไม่มากนักเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tapioca-needs-market-promotion-to-penetrate-more-foreign-markets/

กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการขายปลีก ปตท. มองหาพันธมิตรกัมพูชา สำหรับการดำเนินธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการขายปลีก ปตท. (PTT&PTTOR) ของไทยกำลังมองหาพันธมิตรในท้องถิ่น ในพื้นที่ตลาดอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น กัมพูชา สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ สำหรับการร่วมทุนให้มีศักยภาพ ซึ่ง PTTOR วางแผนตั้งกรอบการลงทุนไว้ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ของบริษัท ซึ่งประมาณร้อยละ 42 ของรายจ่ายฝ่ายทุนจะถูกนำไปใช้เพื่อขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน รวมถึงเพิ่มร้านกาแฟและร้านอาหารมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งของการลงทุนจะนำไปใช้กับเทคโนโลยีเพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและระบุโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ โดยแผนการลงทุนพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันและธุรกิจในต่างประเทศ และลดการมีบทบาทของสถานีบริการน้ำมันลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501029495/thailands-ptt-oil-and-retail-business-pttor-looks-for-cambodian-partners-for-operations-here/

สปป.ลาว กัมพูชา เติบโตอย่างก้าวกระโดดในด้านการค้า การลงทุน

มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสปป.ลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 การเติบโตทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้นเปิดเผยเมื่อนายสะเล็มไซ คมสิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญ กระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวระบุว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคีเติบโตขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการขายไฟฟ้าของลาวให้กับกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทกัมพูชา 30 แห่งที่ลงทุนในลาวด้วยทุนจดทะเบียน 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สปป.ลาวและกัมพูชายังคงสานสัมพันธ์ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง การศึกษา กีฬา และความพยายามในการต่อสู้กับการค้ายาเสพติดในระดับท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao_Cambodia_33.php

การลงทุนของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกัมพูชา

ในช่วงปัจจุบันมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากบริษัทสัญชาติจีนในกัมพูชา สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชา จะได้รับการส่งเสริมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง กัมพูชา หลังจากได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัมพูชาและจีน ระหว่างการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชา ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพสินค้า และความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009066/chinese-investment-to-drive-presence-of-cambodian-agricultural-products-in-international-markets/

‘ค้าปลีกไทยยักษ์ใหญ่’ เดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจในเวียดนาม

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เซ็นทรัล รีเทล ได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! ที่เมืองท้ายบิ่ญ (Thai Binh) ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ นายคริสเตียน โอลอฟสัน ประธานฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่าถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทที่จะเปิดห้างสรรพสินค้าที่สวยงาม ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พร้อมกับดูแลความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคและพนักงานทุกคน ทั้งนี้ นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เปิดเผยว่าการขยายตัวทางธุรกิจของศูนย์การค้า GO! ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเวียดนามและไทย นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน พ.ย. อยู่ที่ราว 17.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สาเหตุสำคัญมาจากกำลังซื้อของคนในพื้นที่กลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://vir.com.vn/thai-retail-giant-continues-expansion-in-vietnam-89960.html

สถานภาพความร่วมมือทางด้านการสนับสนุนและการลงทุน กัมพูชา-จีน

ตั้งแต่ปี 1992 ถึงปี 2020 จีนได้ให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนแก่กัมพูชามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และการลงทุนรวมของจีนภายในกัมพูชาอีกประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์ โดยเรื่องนี้ถูกกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจัดโดยสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา โดย Sok Chenda Sophea เลขาธิการ CDC และ Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีนักธุรกิจชาวจีนประมาณ 300 คนเข้าร่วมด้วย ในการปราศรัยของเขา เลขาธิการ CDC ได้สรุปว่าจนถึงปี 2020 จีนได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับกัมพูชาถึง 4,655 ล้านดอลลาร์ และปริมาณการลงทุนของจีนในประเทศสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนตุลาคม โดยคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคการค้าและจากข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีอื่นๆ กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50980054/china-has-provided-over-4-billion-in-grants-and-27-billion-in-investment-from-1992-to-2020/

‘ธุรกิจยุโรป’ มีมุมมองที่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองในแง่ดีต่อสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเวียดนาม หลังจากยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และการค้า การลงทุนกลับเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ ตามรายงานของดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (BCI) ในไตรมาสสามของปีนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 18.3 จุด ถือเป็นการขยับเพิ่มขึ้นสามจุดจากที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ระดับ 15 จุด ในช่วงการเกิดการระบาดระลอกที่ 4 จากโควิด-19 เดือน ก.ย. ถึงแม้ว่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ดัชนี BCI มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจเวียดนาม ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจ พบว่าสมาชิกหอฯส่วนใหญ่ 49% คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้าและมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม สมาชิหอฯ ยังคงกังวลต่อการลงทุนและผลกำไรในอนาคต

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/european-businesses-optimistic-about-vietnams-business-environment/

‘เวียดนาม’ เผย 10 ด. ปีนี้ การเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ แตะ 55.8%

กระทรวงการคลัง รายงานว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะ ณ เดือน ต.ค. มีมูลค่ากว่า 257.3 ล้านล้านดอง (11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็น 55.8% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวเลขข้างต้นนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (67.25%) ทั้งนี้ ตามตัวเลขสถิติชี้ว่ากระทรวงจำนวน 7 แห่งและหน่วยงานท้องถิ่น 20 แห่ง มีการเบิกจ่ายงบกว่า 65% อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการนำเข้า ขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ล้วนส่งผลกระทบต่อการประเมินโครงการ ตลอดจนปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเร่งการเบิกจ่าย ทางกระทรวงจึงขอให้หน่วยงานปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่ 63 ฉบับที่ 7036/CD-VPCP เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสและการเร่งเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐฯ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/public-investment-capital-disbursement-reaches-558-percent-in-10-months/211896.vnp