ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วที่สุด

ธนาคารโลก (WB) เผยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เติบโต 4.5% ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.9% ต่อปี นับว่าเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตและค้าปลีก ยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ด้วยอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนระบาด ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2563 เป็นอีกหนึ่งที่ผลการดำเนินงานอยู่ในทิศทางที่ดี สาเหตุมาจากอัตราการขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักของการนำเข้า (23.1%) และการส่งออก (17.8%) ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าเวียดนามชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เรื่องการอนุมัติและการเปิดตัววัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในปี 2564 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและสายการบิน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-one-of-fastest-growing-economies-wb/194979.vnp

เวียดนามเอาชนะจีน อินเดีย ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตถัดไป

ตามรายงานของ Economist Intelligence Unit (EIU) เผยว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลางทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเอเชีย หลังออกจากจีนและอินเดีย ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงเป็นศูนย์กลางการผลิตด้วยต้นทุนต่ำในห่วงโซ่อุปทานของเอเชีย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเติบโตของประเทศนั้น ได้แก่ ข้อเสนอให้กับบริษัทระหว่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดตั้งหน่วยงานในการผลิตสินค้าไฮเทค ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นต้น อีกทั้ง หน่วยงาน EIU ระบุว่าเวียดนามมีคะแนนมากกว่าทั้งอินเดียและจีน เกี่ยวกับเรื่องนโนบาย FDI นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ FTA จะแสดงถึงจุดแข็งของความสัมพันธ์ทางการค้าของเวียดนาม และช่วยลดต้นทุนทางด้านการส่งออกอีกด้วย

  ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-beats-china-india-to-become-next-manufacturing-hub-831078.vov

ธนาคารโลกแนะเพิ่มลงทุน ยกระดับสู่ประเทศรายได้สูง

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย” ว่า  หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 และฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิตในในภาคการผลิต โดยจะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยให้ได้มากกว่า 5% ไปจนถึงปี 2568 และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้านี้ จำเป็นที่ต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนจากปัจจุบันที่ 20% ให้ถึง 40% ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องรักษาการเติบโตในอัตรานี้ในช่วงที่มีค่า GDP ต่อหัวเท่ากับของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ การเพิ่มผลิตภาพจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาวของประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ผลิตภาพ ที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น  เปิดกว้างต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)มากขึ้น และส่งเสริมระบบนิเวศน์ให้กับองค์กรในการสรรค์สร้างนวัตกรรม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/913440

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

ด่งนายหวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุน

คณะกรรมการประชาชนจังหวัด ระบุว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด ในปี 2563-2568 โดยเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้จังหวัดเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และให้ความสำคัญกับโครงการที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานน้อยและผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันกับเจ้าอื่นได้ อีกทั้ง ทางจังหวัดจะเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงานและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงปฏิรูปการบริหาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/dong-nai-hopes-to-attract-fdi-by-improving-investment-climate/193063.vnp

ฮานอยติดอันดับที่ 3 เป็นเมืองน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI สูงที่สุด ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

ตามรายงานของสำนักงานสถิติประจำเมือง ระบุว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังกรุงฮานอย อยู่ที่ราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤศจิกายน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.2 ของมูลค่าการลงทุนรวม FDI ที่จดทะเบียนในเวียดนามปีนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงกรุงฮานอยอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนในปีนี้ กรุงฮานอยมีจำนวน 26 โครงการที่ได้รับการจดทะเบียนใหม่ ด้วยมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง 26 โครงการจากนักลงทุนต่างชาติและอีก 6 โครงการเพิ่มเติม ด้วยมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังการร่วมลงทุนหรือซื้อหุ้นกิจการในประเทศ นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้ กรุงฮานอยมีจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ 24,600 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการอีก 5,774 แห่ง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-ranks-third-in-fdi-attraction-in-11-months/191424.vnp

INFOGRAPHIC : เวียดนามดึงดูด FDI ถึง 26.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 26.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

โดยเงินลงทุนจากโครงการใหม่จำนวน 2,313 โครงการ รวมมูลค่า 13.559 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, จำนวน 907 โครงการที่ปรับเพิ่มเงินทุนมูลค่าจำนวน 1,051 โครงการ  รวมมูลค่า 6.333 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงการที่มีการซื้อหุ้นกิจการจากนักลงทุนต่างประเทศ จำนวน 5,812 โครงการ รวมมูลค่า 6.539 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าเม็ดเงิน 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.05 ของเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศ รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ก๊าซ น้ำและระบบการปรับอากาศ มีมูลค่า 4.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (18.73%), อสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (14.38%), ค้าส่งค้าปลีก ซ่อมยานยนต์ มีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.68%) และอื่นๆ ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fdi-attraction-hits-2643-bln-usd-in-11-months/191282.vnp

เวียดนามเผย COVID-19 ส่งผลต่อการลงทุน FDI ดิ่งลง

จากรายงานของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ระบุว่าเวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวม 26.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยทางกระทรวงฯ กล่าวเสริมว่าเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ นักลงทุนยังไม่สามารถเดินทางได้ จากข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน มีโครงการใหม่กว่า 2,313 โครงการที่ได้รับการจดทะเบียน ลดลงร้อยละ 33.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.6 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าเงินทุน 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์และการค้าส่งและค้าปลีก ตามลำดับ นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนมายังเวียดนามมากที่สุด ด้วยมูลค่าราว 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30.6 ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาเกาหลีใต้และจีน ตามลำดับ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pandemic-drags-down-fdi-attraction/191301.vnp

“บิ่นห์เซือง” ดึงดูดเม็ดเงิน FDI เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้

บิ่นห์เซือง (Binh Duong) เป็นจังหวัดทางตอนใต้ของเวียดนาม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ร้อยละ 19 นายเหงียน ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดบิ่นเซือง กล่าวว่าธุรกิจในท้องถิ่นพยายามอย่างหนัก ในการขจัดอุปสรรคต่างๆ จากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมในปี 2563 ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจังหวัดบิ่นเซือง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5, ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในปีนี้ ในขณะเดียวกัน การเติบโตของ GDP จังหวัด อยู่ที่ราวร้อยละ 6.78 นอกจากนี้ หน่วยงานในท้องถิ่นให้ความสนใจเกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวทางในการดึงดูดการลงทุน เพื่อที่จะตอบสนองกับความต้องการของนักลงทุนที่หลากหลาย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/binh-duong-overfulfills-yearly-fdi-attraction-goal/190251.vnp

หอการค้าฯ เผยเวียดนามควรมีกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสนับสนุน

ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ระลอกใหม่ จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสนับสนุน ดังนั้น หากอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไม่ได้รับการพัฒนาให้ไปอยู่ในระดับสูงขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการแปรรูปสินค้า และถึงแม้ว่าเวียดนามจะสามารถดึงดูดเม็ดเงิน FDI ได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ทั้งนี้ ธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายได้ตัดสินใจเลือกย้ายฐานการผลิตและการทำธุรกิจมายังเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ทางตัวแทนของซัมซุงเวียดนาม ระบุว่ามีการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงฮานอย อีกทั้ง ธุรกิจเวียดนามและสหรัฐฯ ได้มีการลงนามข้อตกลงด้านการลงทุน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ สำนักกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาและสร้างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จึงส่งให้รัฐบาลเพื่อขออนุมัติ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/804469/viet-nam-should-have-law-on-supporting-industry-vcci-chairman.html