เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ รายงานผลประกอบการปีล่าสุดในกัมพูชา
เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSP) รายงานถึงผลประกอบการในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงรายได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 526,666 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน โดย PPSP ดำเนินกิจการด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ขนาด 357 เฮกตาร์ ในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา ซึ่งมีบริษัทต่างชาติมากกว่า 80 แห่ง จาก 15 ประเทศ ทั่วโลก ดำเนินธุรกิจภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ โดยรายรับในช่วง 9 เดือน ลดลงร้อยละ 24 สู่มูลค่า 9,418,774 ดอลลาร์ และขาดทุนจากการดำเนินงานราว 397,489 ดอลลาร์
กัมพูชา อนุมัติโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นรวม 146 โครงการ
สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านการรับการส่งเสริมการลงทุน (QIP) ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการรับรองไปแล้ว 146 โครงการ ณ เดือนตุลาคม ด้วยเงินลงทุนรวม 2,853 พันล้านดอลลาร์ โดยเลขาธิการ CDC กล่าวเสริมถึงการที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนและภาคธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ 66 โครงการที่มีเงินลงทุนสะสมรวม 340 ล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยในปีนี้ CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ผ่าน QIP ไปแล้ว 87 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีเพียง QIP เท่านั้น ที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้
GDT กัมพูชา รายงานถึงยอดการจัดเก็บภาษีในช่วง 10 เดือน
กรมสรรพากร (GDT) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา รายงานถึงรายรับจากการจัดเก็บภาษีในช่วง 10 เดือนแรกของปี มูลค่ารวม 2,315 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ประมาณ 208 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งผลของการจัดภาษีที่ลดลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ โดยยังคงอยู่ในกรอบแผนการจัดเก็บภาษีที่ทางกรมได้กำหนดไว้
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50970032/gdt-earns-2-3-billion-as-tax-revenue-in-10-months/
การขอปรับโครงสร้างสินเชื่อลดลง ผลจากเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัว
โฆษกสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) กล่าวว่าในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2021 ยอดการขอปรับโครงสร้างสินเชื่อลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 100-500 คนต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ที่มีผู้ขอสินเชื่อมากถึง 10,000 รายต่อสัปดาห์ โดยมองว่าการลดลงของยอดการขอปรับโครงสร้างสินเชื่อนี้บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศเริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม ลูกค้าจำนวน 378,198 ราย ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างเงินกู้ในสถาบันที่เป็นสมาชิกสมาคมทั้งหมด 115 แห่ง รวมถึงสถาบันย่อยที่มีเงินฝากทั้งหมด 66 แห่ง สถาบันที่ไม่รับฝากเงินรายย่อย 10 แห่ง บริษัทลีสซิ่ง 12 แห่ง สถาบันสินเชื่อในชนบท 23 แห่ง และธนาคาร 4 แห่ง ซึ่งมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 356,775 ราย คิดเป็นร้อยละ 94 ของลูกค้าสินเชื่อ ได้รับการอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้สินได้ หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.720 พันล้านดอลลาร์
ในช่วง 10 เดือน กัมพูชาส่งออกข้าวมูลค่ารวมกว่า 957 ล้านดอลลาร์
กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณรวมมากกว่า 3.1 ล้านตัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. สร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศราว 957.3 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกข้าวสารจำนวน 460,169 ตัน มูลค่ารวม 323.47 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสหพันธ์ข้าวกัมพูชาระบุว่ามากกว่าร้อยละ 79 ถูกส่งออกไปยัง 5 ประเทศสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส กาบอง มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์ ข้าวหอมคิดเป็นเกือบร้อยละ 79 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด โดยในเดือนต.ค. เพียงเดือนเดียว กัมพูชาส่งออกข้าวสารรวมกว่า 49,471 ตัน ซึ่งสูงกว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้วร้อยละ 4 ซึ่งประเทศจีนยังถือเป็นตลาดส่งออกข้าวสารรายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งทำการนำเข้าข้าวจากกัมพูชามากกว่า 23 ล้านตัน ตามการรายงานของสถานทูตจีน คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา ทางด้านข้าวเปลือกกัมพูชาได้ทำการส่งออกปริมาณเกือบ 2.7 ล้านตัน มูลค่ารวมเกือบ 634 ล้านดอลลาร์
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50968599/rice-exports-top-957-million-in-first-10-months-of-2021/
บริษัท BCP ประเทศไทย มองหาโอกาสการลงทุนในกัมพูชา
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) ของประเทศไทยกำลังแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศกัมพูชา คาดว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน กล่าวโดยประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กรและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของ BCP หลังเข้าพบกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันกำลังศึกษาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกำลังมองหาโอกาสการลงทุนสำหรับธุรกิจน้ำมันและพลังงานสีเขียวในกัมพูชา โดยเอกอัครราชทูตได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา มีความยืดหยุ่น ความโปร่งใส และสิ่งต่างๆที่สร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการขยายธุรกิจมายังกัมพูชา ซึ่งโดยเฉพาะสิทธิพิเศษทางการค้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนมายังกัมพูชา
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50968827/thailands-bcp-seeks-investment-opportunities-in-cambodia/
กัมพูชา-สโลวีเนีย วางแผนส่งเสริมด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน
กัมพูชาและสาธารณรัฐสโลวีเนีย เห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิเช่น ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ด้านสุขภาพ และภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และ นายกรัฐมนตรี ยาแน็ส ยานชา นายกรัฐมนตรีของสโลวีเนีย ผ่านการประชุมทางวิดีโอ โดยผู้นำของทั้งสองยังเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของการแลกเปลี่ยนและการมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศทำงานร่วมกัน ในการผลักดันทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาวางแผนที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับโควิด-19 และส่งเสริมการเจรจาการค้าระหว่างอาเซียนและยุโรป เป็นสำคัญ