‘กรมเจรจาฯ’ เผยไทยครองแชมป์ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เบอร์ 1 อาเซียน เชื่อ FTA และ ITA ช่วยสร้างแต้มต่อและดึงดูดการลงทุนได้จริง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและขยายการส่งออกในตลาดโลกได้ โดยในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อันดับที่ 6 ของโลก ทั้งนี้ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มูลค่าสูงถึง 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 37 ฮ่องกง, อาเซียน, สหภาพยุโรปและจีน เป็นต้น หากจำแนกรายสินค้า พบว่า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่ม สำหรับการเปิดเสรีทางการค้าถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของไทยเติบโต นอกจากนี้ “ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรวางแนวทางปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก”

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3125668

กรมเจรจาฯ เผยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยมาแรงในตลาดอาเซียน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แนะใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ประชาชนลดการเดินทางและอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารแห้ง และอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งแนวโน้มความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเร่งผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียน มูลค่า 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกไปอาเซียน ตามด้วยเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำคัญที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับนิยมรสชาติอาหารที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ติดอันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูง 15 อันดับแรกของโลก ส่งผลให้การส่งออกไปอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอาเซียนมูลค่า 119.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31 จากปี 2561 นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรในอาเซียนยังมีความนิยมรสชาติอาหารที่คล้ายกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่ติดอันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงสูด 15 อันดับแรกของโลก รวมทั้งยังได้รับแรงหนุนจากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ส่งออกจากไทยด้วย

ที่มา : https://dtn.go.th/th/

‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการเพิ่มแปรรูปผลไม้พร้อมใช้เอฟทีเอช่วยขยายตลาดช่วงวิกฤตโควิด-19

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าผลไม้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิต โดยเน้นการผลิตและส่งออกผลไม้แปรรูปมากขึ้น ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทย ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพ รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้ แปรรูปของไทยเติบโตได้ในตลาดโลก โดยปัจจุบัน 13 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว เหลือเพียง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย ปีก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 35 จนถึงปัจจุบัน การส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 190 ประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และ จีน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น และในช่วงที่สินค้าผลไม้สดกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกชะงักงันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มการแปรรูปสินค้าผลไม้สด เป็นผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3111542

กัมพูชาและรัสเซียวางแผนส่งเสริมการค้าทวิภาคีผ่าน FTA

รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้พบกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ โดยกัมพูชาและรัสเซียให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการค้าและการลงทุนทวิภาคี เนื่องจากกัมพูชามีเป้าหมายที่จะกระจายตลาดผ่านการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย (EAEU) ซึ่งรัสเซียเป็นสมาชิกร่วมกับอาร์เมเนีย  เบลารุส คาซัคสถานและคีร์กีซสถานมีขนาดประชากรถึง 183 ล้านคน โดยมูลค่ารวม GDP อยู่ที่ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วการค้าทวิภาคีมีมูลค่าสูงถึง 55.39 ล้านเหรียญสหรัฐและกัมพูชาหวังว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขณะนี้กัมพูชากำลังเจรจาเรื่องบันทึกความเข้าใจ (MoU) ครั้งที่ 14 โดยคาดว่าจะได้รับการลงนามในไม่ช้า สิ่งเหล่านี้จะเน้นไปที่การท่องเที่ยว การศึกษา กฎหมายและการพัฒนาเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งในปี 2559 กัมพูชาและ EAEU ได้ลงนามใน MoU เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า อย่างไรก็ตามเนื่องจากกัมพูชายังคงอยู่ในการจัดอันดับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา 46 รายการ สามารถเข้าสู่ตลาดปลอดภาษี EAEU ได้ภายในสามปีถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50705867/cambodia-russia-to-boost-bilateral-trade-looking-at-fta/

FTA ดันอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นแท่นเบอร์ 4 ของโลก

พาณิชย์ เผยเอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก พร้อมหนุนผู้ประกอบการพัฒนาอาหารสุขภาพ-ปลอดสารพิษ -อาหารแคลอรี่ต่ำ อาหารมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ รับเทรนด์โลก โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง และมีมูลค่าส่งออกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในปี 62 ไทยส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าสูงถึง 1,693 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น  4% เมื่อเทียบกับปี 61 เป็นการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่า 954 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 56% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลก เป็นอาหารสำหรับสุนัขและแมว สัดส่วน 82% และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ สัดส่วน 18% มีประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับเอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เพราะช่วยขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรในประเทศคู่ค้าทำให้ได้แต้มต่อในการแข่งขัน โดยปัจจุบันสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศที่ ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง มีเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/763801

FTA ระหว่างกัมพูชาและจีนใกล้ประสบผลสำเร็จ

กัมพูชาและจีนกำลังวางแผนที่จะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีในช่วงปลายปีนี้ โดยความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งคู่ปิดการเจรจารอบแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินเป็นผู้จัดประชุมหารือ โดยผลการเจรจารอบแรกของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดหลักการแนวทางให้กับทีมเจรจาเพื่อให้พวกเขามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการอภิปรายรอบต่อไปที่มุ่งสู่การหาข้อสรุป ซึ่งหากหาผลสรุปได้เขตการค้าเสรีนี้จะเป็นกลไกใหม่ที่ส่งเสริมและกระจายศักยภาพทางเศรษฐกิจและวิสัยทัศน์ของทั้งสองประเทศ โดยข้อตกลงทางการค้านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายการค้าการลงทุน การบริการและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 6.04 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ตามตัวเลขของรัฐบาล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50691647/cambodia-china-closer-to-fta-signing-deal

แนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามปี 63 เติบโตสูงขึ้น

ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามปี 2563 คาดว่าจะยกระดับความก้าวหน้าอุตสาหกรรม เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และปัจจัยอื่นๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีลบังคับใช้ในปีนี้ รวมไปถึงแบรนด์ต่างชาติรุกเจาะตลาดเวียดนาม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอฯมีความโดดเด่นในเรื่องกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นด้ายและการย้อมสีผ้าที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม ระบุว่าผลผลิตเส้นด้ายมากกว่า 2.5 ล้านตันในปี 2562 ขณะที่ ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรม/แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพและวิธีการดำเนินงานที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเวียดนามยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงงาน ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมฯ มองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นกุญแจสำคัญต่อกระบวนการผลิตและควรส่งเสริมการฝึกอบรมให้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/592061/viet-nams-garment-textile-expects-boom-in-2020.html

อุตสาหกรรมรองเท้าเวียดนามมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายปีนี้

จากข้อมูลของรองประธานกรรมการและเลขาธิการสมาคมหนังและรองเท้าเวียดนาม (Lefaso) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมหนังและรองเท้าในประเทศยังคงอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดีที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายภายในปีนี้ ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 11 และอัตราผลผลิตในท้องถิ่น (Localisation Rate) ร้อยละ 60 สำหรับยอดการส่งออกรองเท้าและกระเป๋าคาดว่าอยู่ในระดับ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยความขัดแย้งของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้านั้นมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ขณะที่ เศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คำสั่งซื้อรองเท้าและกระเป๋าได้เปลี่ยนคำสั่งซื้อจากจีนมายังเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสุลกากรจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ดังนั้น ทางสมาคมคาดว่าความต้องการของผลิตภัณฑ์รองเท้าในตลาดส่งออกหลักจะเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ประกอบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านผลผลิตและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรองเท้าขยายตัวได้ดีมากขึ้น แต่ว่าอุตสาหกรรมรองเท้ายังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งทางธุรกิจจะต้องพัฒนาหรืออบรมพนักงานที่ไม่ได้มาจากอาชีวศึกษา

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/591790/footwear-industry-likely-to-hit-goals-this-year.html

การเจรจาทางการค้ารอบแรกระหว่างกัมพูชาและจีน

กัมพูชาและจีนได้สรุปการเจรจารอบแรกเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยส่งผลในเชิงบวก ซึ่งทั้งสองประเทศจะหารือกันต่อไปในการเจรจารอบสองที่จะจัดขึ้นในประเทศกัมพูชา จากการเจรจาเอฟทีเอรอบแรกที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งประเทศจีน โดยมีการประชุมเพื่อติดตามผลหลังจากที่เขตการค้าเสรีทวิภาคีได้ริเริ่มโดยผู้นำของทั้งสองประเทศในปี 2562 ซึ่งการเจรจานำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ โดยโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับ สินค้า การลงทุน และบริการ ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 5.16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 6.04 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 และ 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ตามลำดับ โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายที่จะทำทำการค้าทวิภาคีให้ถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2566

ที่มา :https://www.khmertimeskh.com/50684889/cambodia-china-wrap-up-first-round-of-trade-talks

พาณิชย์เปิดเจรจาการค้าไทย-บังกลาเทศ

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย – บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7 – 8 ม.ค. 63 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การขยายการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตร ประมงและปศุสัตว์ บริการสุขภาพและสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน และความเป็นไปได้ในการจัดทำ เอฟทีเอ ไทย – บังกลาเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนสองฝ่ายให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในอนาคต ซึ่งบังกลาเทศเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดที่ 6-8% ต่อปี มีประชากรกว่า 160 ล้านคน มีทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และถ่านหิน มีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน โดยบังกลาเทศได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีฝ่ายเดียว หรือ จีเอสพี จาก 47 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี กว่า 57 ประเทศ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น…

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/750275