GDP เวียดนามไตรมาส 2 โต 6.61% อานิสงค์การส่งออกเติบโต

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 6.61% ซึ่งขยายตัวมากกว่าไตรมาสแรกที่ 4.65% แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการค้าโลกกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจมหภาคในประเทศยังคงรักษาระดับเสถียรภาพได้ ในขณะที่ การผลิตและการค้ายังคงเติบโตได้ดี ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้วยมูลค่า 157.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://tienphongnews.com/vietnam-q2-gdp-growth-quickens-to-6-61-y-y-on-robust-exports-181429.html

ยอดส่งออกไม้ของเวียดนามทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 15-16 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบโควิด-19 จากข้อมูลของกรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและส่งเสริมตลาด ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออก 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 61.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับยอดคำสั่งซื้อจนถึงสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน สหรัฐฯ เป็นตลาดรายใหญ่ที่สุด คิดเป็น 60.4% ของยอดการส่งออกรวม รองลงมาจีน (9.9%) ญี่ปุ่น (9.5%) และเกาหลีใต้ (9.5%) ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ มองว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการที่แพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ของโลก มีแนวโน้มที่จะกระจายตลาดที่มีความหลากหลายและค้นหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย ดังนั้น เวียดนามจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสครั้งนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-wood-exports-to-rise-to-new-record-level/203750.vnp

ส่งออกกัมพูชาโตร้อยละ 17 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

สถานภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชายังคงทรงตัว แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ในเขตเมืองหลวง กรุงพนมเปญและจังหวัดกันดาลในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 ในหมวดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จักรยาน แผงโซลาร์เซลล์ และสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 52 สะท้อนถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ทางกัมพูชาทำการส่งออกมากขึ้น ช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ซึ่งจากรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชากล่าวเพิ่มเติมว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของกัมพูชาในช่วงไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 4.428 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าเกษตรและเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50881810/17-percent-increase-in-cambodian-exports-in-first-five-months-of-the-year/

ราคาถั่วดำในประเทศพุ่งถึง 1.1 พันล้าน จัตต่อตัน

รายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมเขตย่างกุ้ง (Bayintnaung Commodity Depot) เผยราคาถั่วดำในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1,110,000 จัตต่อตัน แม้ราคาในวันที่ 1 พฤษภาคม 64 จะอยู่ที่ 888,500 จัตต่อตัน แต่พุ่งไปถึง 1,110,000 K จัตตันในวันที่ 17 มิถุนายน 64 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 221,500 จัตต่อตัน ตั้งแต่ปี 60 อินเดียได้กำหนดโควตานำเข้าถั่ว ซึ่งรวมถึงถั่วดำและถั่วแระ ภายใต้นโยบายการค้าต่างประเทศ ปี 58-63 ขณะที่สวนปลูกถั่วดำให้ผลผลิตประมาณ 400,000 ตันต่อปี ด้านถั่วแระมีผลผลิตประมาณ 50,000 ตันต่อปี ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังอินเดีย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/domestic-black-bean-price-rises-to-k-1-1-bln-per-tonne/

กระทรวงเกษตรฯ กัมพูชาวางแผนเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน

กระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงมีแผนที่จะส่งเสริมการผลิตทุเรียนโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงงานด้วยการสร้างมาตรฐานและจัดตั้งสมาคมชาวสวนทุเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งราคาทุเรียนที่ปลูกในท้องถิ่นนั้นสูงกว่าราคาที่ทำการนำเข้ามาส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากสวนทุเรียนที่ 10,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ต่อปี โดยภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ กำลังวางแผนและกำหนดวัตถุประสงค์ในการขยายการปลูกทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในตลาดในประเทศและในต่างประเทศ รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านเทคนิคการปลูกให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำได้มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่ปลูกทุเรียน 5,289 เฮกตาร์โดยมีผลผลิตต่อปี 36,656 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50865112/ministry-of-agriculture-plans-to-increase-durian-plantations/

เวียดนามเผย 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกพุ่ง 30.7%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยว่ายอดการส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 130.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากตัวเลขทั้งหมดนั้น มาจากธุรกิจในประเทศ ประมาณ 33.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อยู่ที่ 97.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว มีสินค้าส่งออก 22 รายการที่มีมูลค่าการส่งออกแต่ละชิ้นกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 87.3% ของยอดการส่งออกรวม ทั้งนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหนักและแร่ธาตุ เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุด ประมาณ 70.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมาสินค้าอุตสาหกรรมเบาและหัตถกรรม (33%), สินค้าเกษตรและป่าไม้ (13.5%) และสินค้าประมง (12%) ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 37.6 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอาเซียน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/export-turnover-grows-307-percent-in-five-months/202264.vnp

กัมพูชาพยายามรักษาปริมาณการค้าระหว่างเกาหลีใต้

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ยังคงเติบโตในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาที่กำลังฟื้นตัวและจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 124 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ส่วนกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้รวม 194 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีรวม 318 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าที่เกี่ยวกับเดินทาง เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากเกาหลี ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858257/cambodia-maintains-exports-to-south-korea/

เวียดนามคาดยอดส่งออกปี 64 แตะ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ายอดตัวเลขการส่งออกของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าตัวเลขการส่งออกจะมีมูลค่าแตะ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 นาย Tran Thanh Hai รองผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) กล่าวว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการรักษาการเติบโตทางการส่งออกในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) สร้างความได้เปรียบแก่ผู้ส่งออกในประเทศและช่วยให้ผู้ประกอบการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ นอกจากนี้ กระทรวงมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปสถาบันและการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ตลอดจนให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการส่งออก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-eyes-us600-billion-in-export-turnover-in-2021-858058.vov

กัมพูชากำหนดแผนล่วงหน้า หากต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า

รัฐบาลกัมพูชากำลังเร่งกำหนดกลยุทธ์และนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายหลังจากการเข้าถึงสิทธิพิเศษสำหรับการส่งออกที่อาจจะลดลงในอนาคต ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าภายในประเทศ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดขึ้นโดย WTO, UN DESA, UNCTAD และ ITC ซึ่งในการสัมมนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการที่กัมพูชาจะถูกปรับเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด สู่ประเทศที่กำลังพัฒนา อาจมีผลต่อสิทธิพิเศษทางการค้า การดึงดูดการลงทุน และความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาในหลายภาคส่วน โดยทางรัฐบาลกัมพูชาเพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้กระทรวงได้เตรียมนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับกัมพูชาเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเน้นการกระจายความหลากหลายของตลาดส่งออก ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ทางการค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50854075/cambodia-formulates-way-forward-if-trade-privileges-are-lost/

“ไอโฟน” เสียตำแหน่งท็อป 5 ตลาดสมาร์ทโฟนในเวียดนาม

แอ๊ปเปิ้ล (Apple) หลุดจากรายชื่อแบรนด์สมาร์ทโฟนชั้นนำ 5 อันดับแรกในเวียดนาม ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนแบ่งการตลาดที่มียอดขายสูงสุดในเวียดนาม ได้แก่ ซัมซุง (Samsung), ออปโป้ (Oppo), เสียวหมี่ (Xiaomi) และวิโว่ (Vivo) และวินสมาร์ท (VinSmart) ทั้งนี้ ความต้องการ ไอโฟน (iPhone) ลดลงในช่วงต้นปี เนื่องจากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ลในเทศกาลช็อปปิ้งช่วงปลายปี ในขณะเดียวกัน กลุ่มสมาร์ทโฟนแอนดรอย (Android) จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดที่หลากหลาย และผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากกว่าไอโฟน นอกจากนี้ กรมศุลกากร เผยว่ายอดการส่งออกสินค้าสูงสุดของเวียดนาม คือ โทรศัพท์และชิ้นส่วน มีมูลค่า 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนเป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาสหภาพยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/iphone-loses-position-in-top-five-in-vietnam-31428.html