สื่อนอกชี้ความท้าทาย ครม.ใหม่ เศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดในอาเซียน

เดอะ นิคเคอิ เอเชียน รีวิว สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานนำเสนอมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสภาวะ “เปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนขุนพลกลางสนามรบ” ผ่านบทความ Thailand’s rulers must act fast to reverse COVID-19 economic damage ที่เขียนโดยวิลเลียม พีเซค (William Pesek) สื่อมวลชนที่คร่ำหวอด ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสุดโหดและเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ใครจะเข้ามาเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทย หรือ โผคณะรัฐมนตรีใหม่ (ครม.) จะมีใครบ้าง จะไม่สำคัญเท่ากับการที่ไทยจะต้องปรับตัวเองให้ไว ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มไว้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด การไหลออกของรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ รวมทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนว่าเหตุผลส่วนหนึ่งจะมาจากผลการทำงาน เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ ซึ่งเป็นปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนรัฐนาวามาครบ 1 ปี จะหดตัวที่ร้อยละ -8.1 ทำให้เป็นไปได้ที่ไทยจะกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า ในอีกแง่หนึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ น่าจะเป็นความพยายามสร้างความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/world/442806

FTA ดันอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นแท่นเบอร์ 4 ของโลก

พาณิชย์ เผยเอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก พร้อมหนุนผู้ประกอบการพัฒนาอาหารสุขภาพ-ปลอดสารพิษ -อาหารแคลอรี่ต่ำ อาหารมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ รับเทรนด์โลก โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง และมีมูลค่าส่งออกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน โดยในปี 62 ไทยส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าสูงถึง 1,693 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น  4% เมื่อเทียบกับปี 61 เป็นการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่า 954 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 56% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปทั่วโลก เป็นอาหารสำหรับสุนัขและแมว สัดส่วน 82% และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ สัดส่วน 18% มีประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับเอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เพราะช่วยขจัดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรในประเทศคู่ค้าทำให้ได้แต้มต่อในการแข่งขัน โดยปัจจุบันสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศที่ ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง มีเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/763801

กรมการค้าต่างประเทศ เดินสายประชาสัมพันธ์ข้าวไทย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เข้าร่วมงานงานแสดงสินค้า Gulfood 2020 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยรวมทั้งสร้างความรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานข้าวไทยและศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยได้นำตัวอย่างข้าวคุณภาพดีของไทย ชนิดต่างๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวเหนียว ไปจัดแสดงร่วมกับการจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรฐานข้าวไทยนอกจากนี้ยังได้นำเสนอข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษของไทยและข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวกล้องแดง ข้าว กข 43 และข้าว กข 79 ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนการจัดให้ชิมตัวอย่างข้าวไทยชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัสรสชาติของข้าวไทยที่มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และผู้สนใจทั่วไป ได้มีการสอบถามรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องคุณลักษณะและมาตรฐาน รวมถึงเรื่องราคาข้าวรวมทั้งยังได้นำผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมเข้าร่วมจัดแสดงและประชาสัมพันธ์ด้วย โดยผู้นำเข้าทั้งจากตะวันออกกลางและจากทั่วโลกกว่า 100 ราย อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ บาห์เรน จอร์แดน ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้  ได้ให้ความสนใจสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร  ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ กระเทียมดำ โยเกิร์ตจากมะพร้าว น้ำนมข้าวยาคู ผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นเทียมจากส่วนผสมธรรมชาติ และอาหารสำหรับทารก

ที่มา :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870189?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

ไฮ-คูล รุกตลาดลุ่มน้ำโขง จ่อขึ้นเบอร์1ฟิล์มกรองแสง

ไฮ-คูลลั่น ปีนี้โกยรายได้ทะลุ 700 ล้าน เตรียมรุกหนักตลาด CLMV เล็งเปิดสาขา ในเวียดนามเพิ่มเท่าตัว หวังขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งลุ่มน้ำโขงใน 3 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ลีวณิชย์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงไฮ-คูล เปิดเผยว่าแนวโน้มตลาดฟิล์มกรองแสงโดยรวมปีนี้อยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจ และตลาดรถยนต์ ที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ แต่สำหรับไฮ-คูลกลับมีผลการดำเนินธุรกิจสวนกระแสภาวะตลาด มียอดขายของบริษัทปีนี้เติบโต 8-9% จากรายได้ที่ ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ 700 ล้านบาทแบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายในประเทศ 95% และต่างประเทศ 5% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกลยุทธ์การตลาดที่วางไว้ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดฟิล์มกรองแสงในประเทศไทย ประกอบกับการเดินหน้ารุกตลาดในประเทศไทยต่อเนื่อง และการเดินหน้าเปิดตลาดฟิล์มกรองแสงไปยังประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ CLMV  โดยเฉพาะตลาดเวียดนามถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และกลุ่มพันธมิตรที่เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายฟิล์มกรองแสงไฮ-คูล ในปีที่ผ่านมาถึง 70 ราย และปี 63 จะเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวเป็น 160 ราย ทั้งนี้บริษัทจะต้องก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ภายใน 3 ปี หลังจากในปีที่ผ่านมา สามารถก้าวขึ้นเป็นฟิล์มกรองแสงที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 3 ในประเทศเวียดนามได้แล้ว

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 – 15 ธ.ค. 2562

หนุนอีเพย์เมนต์อาเซียน

ประธานสำนักระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าในปี 63 มีแผนสนับสนุนธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศภายในอาเซียน ภายใต้แผน 3 ปีโครงการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการให้บริการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะเริ่มเห็นการให้บริการดังกล่าวชัดเจนขึ้นช่วงกลางปี 63 ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับบริการนี้แล้ว ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารเตรียมให้บริการธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น ทั้งการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด หลังจากที่ผ่านมาได้เปิดใช้คิวอาร์โค้ดระหว่างไทยกับสิงคโปร์ไปแล้ว ในปีนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการเพิ่มเติมระหว่างไทยและกัมพูชา และเปิดให้บริการระหว่างไทยและสปป.ลาวในไตรมาส 1 ปี 63 ทั้งนี้ ธนาคารยังได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกลางเมียนมา ให้เป็นผู้ชำระราคาระหว่างเงินบาทและเงินจ๊าด ซึ่งธนาคารจะขยายธุรกรรมการโอนเงินและการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดระหว่างไทยกับเมียนมาต่อไป นอกจากนี้ธนาคารมีแผนขยายการให้บริการไปทั่วอาเซียนและอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะเน้นตลาดสิงคโปร์และ CLMV เป็นหลัก ตามความพร้อมและโอกาสทางธุรกิจ โดยการโอนเงินระหว่างประเทศจะเน้นประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานในไทยและต้องการส่งเงินกลับบ้าน ส่วนการใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดจะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวและร้านค้าเป็นหลัก

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2562 (กรอบบ่าย)

5 อาการน่าเป็นห่วง 4 มิติท้าทาย ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การเมือง การคลัง พลังนำประเทศ” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้มุมมองแง่คิดที่น่าสนใจ ที่ผู้เขียนขออนุญาตสรุปมา ณ ที่นี้ 5 อาการน่าเป็นห่วงของประเทศไทย อาการแรก “ศักยภาพเศรษฐกิจถดถอย” อาการที่สอง “ความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง” อาการที่สาม “การก้าวสู่สังคมคนชราเต็มรูปแบบ” อาการที่สี่ “เทคโนโลยีป่วนโลก” อาการสุดท้าย “การเมืองในม่านหมอก” 4 มิติ การเมือง-การคลังกับการพัฒนาเพื่ออนาคต มิติแรก ประเทศไทยที่เท่าเทียม มิติที่สอง ประเทศไทยที่แข่งขันได้ มิติที่สาม ประเทศไทยที่ทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรม มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการเมืองและสังคมที่เสรีเปิดกว้าง เป็นรากฐานสำคัญ มิติที่สี่ ประเทศไทยที่ยั่งยืน ท่านสรุปไว้ว่า มองไปในอนาคต ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทายในหลายมิติ แต่การเมือง-การคลังที่มีศักยภาพจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง โดยมิติสำคัญที่รัฐบาลควรดำเนินการหรือคำนึงถึง คือ 1.สร้างความเท่าเทียมในสังคม 2.เพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกระดับ 3.ปรับกลไกภาครัฐให้ทันสมัย เปิดกว้าง เป็นธรรม และ 4.มีกรอบการดำเนินการด้านการคลังที่คำนึงถึงคนเจเนอเรชันต่อไปอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/854237

จุดพลุเอฟทีเอ “ไทย-ฮ่องกง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา “THAILAND 2020 # ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปถึงปี 64 โดยปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรก เกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เสร็จสิ้นลงถือว่าประเทศต่างๆได้มีข้อตกลง และความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสให้กับไทยในการดึงดูดการลงทุนของจีนเข้ามา เพื่อนำเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยของจีนเข้ามาต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยมี 5 เรื่องสำคัญๆที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศและต้องทำให้ได้ เช่น อีอีซี, การเปิดประมูล 5 จี ในปีหน้า เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องอาศัยความได้เปรียบในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ที่เชื่อมต่อนโยบายของจีนผ่านความร่วมมือผ่านเส้นทางสายไหม สู่อีอีซี โดยมี Greater bay area : GBA ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง กวางตุ้ง มาเก๊า เป็นหัวหอกที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญรองรับนโยบายการย้ายฐานการผลิต ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับ CLMV  ซึ่งจากการหารือกับนางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มีความประสงค์จะเดินทางมาไทย โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี ไทย-ฮ่องกอง เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนฮ่องกง ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยและเชื่อมโยงตลาดทุนร่วมกัน ภายในสิ้นปีนี้.

ไทยหล่นดัชนีแข่งขันโลก

คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้ประกาศดัชนีขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกของสภาเศรษฐกิจโลก วัดความสามารถทางการแข่งขันจาก 141 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปีนี้ประเทศไทยมีค่าดัชนีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นจาก 67.5 คะแนนในปีที่ผ่านมา มาที่ 68.1 คะแนนในปีนี้ แม้คะแนนจะดีขึ้น แต่อันดับของไทยก็ลดลง 2 อันดับมาอยู่ที่ 40 จากปีที่ผ่านมาที่อยู่อันดับ 38 เนื่องจากมีประเทศอื่นๆที่ทำคะแนนได้ดีกว่าและขยับแซงหน้าไทย ทำให้อันดับของไทยลดลง ขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนพบว่า มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก หล่นลงมา 2 อันดับ อินโดนีเซีย หล่นลงมา 5 อันดับ รั้งที่ 50 ของโลก ขณะเดียวกันก็ได้ยกให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจสูงที่สุดของโลก แซงหน้าสหรัฐฯจากปีที่แล้ว จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดแรงงาน และการพัฒนาระบบการเงิน ส่วนรองลงมาประกอบด้วย สหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ตามลำดับ ขณะที่เวียดนามพบว่าเป็นประเทศในอาเซียนที่มาแรงที่สุด แซงขึ้นมา 10 อันดับ ขึ้นจากอันดับที่ 77 ของปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 67 ของโลก.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1679351

กระทุ้งรัฐดันสกุลเงินบาท

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานกกร. เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐผลักดันสกุลเงินบาท หรือสกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายในอาเซียน หรือเริ่มจากกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค ลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ แต่ต้องมีการหารือปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยให้ได้ ซึ่งปัจจัยจากค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก จึงอยากให้ผลักดันอย่างจริงจังกับการซื้อขายเป็นสกุลเงินบาทเพื่อลดผลกระทบ ได้หารือร่วมกับรมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเห็นตรงกันว่าไทยควรลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งใน อย่างไรก็ตาม กกร. มีมติปรับลดประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจในรอบปี เป็นครั้งที่ 4 โดยปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 62 ลงเหลือ 2.7-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.9-3.3% การส่งออกคาดติดลบ 2% ถึง 0% จากเดิมคาดติดลบ 1 ถึง 1% และเงินเฟ้อคงอยู่ที่ 0.8-1.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแรง เผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า เบร็กซิต และทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบตรงกับการส่งออก เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเดือน ก.ค. และ ส.ค. บ่งชี้ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 อยู่ในภาวะที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก มีปัจจัยถ่วงหลักจากความเสี่ยงในภาคต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว นอกจากนี้อยากให้เร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 63 ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ต.ค. 2562

พ่อค้ากดซื้อ ทุบราคายางดิ่ง รัฐแบกชดเชย

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเสนอเรื่องต่อครม.เพื่อเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะที่ 1 งบประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท โดยยางแผ่นดิบคุณภาพดีประกันรายได้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (DRC 100%) ที่ 57 บาทต่อกก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ที่ 23 บาทต่อกก. โดยจะจ่ายเงินส่วนต่างราคาตลาดกับราคาประกัน เข้าบัญชีเกษตรกรผู้ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในทุก 2 เดือน ซึ่งงวดแรกจะจ่ายในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดีผลพวงที่ตามมาเวลานี้ได้รับเสียงสะท้อนจากเกษตรกรว่าผู้ค้ายางเริ่มกดราคารับซื้อยาง เพื่อหวังฟันกำไร โดยผลักภาระในการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับรัฐบาล หากไทยไม่รีบปรับตัวสร้างนิวบาลานซ์ใหม่โดยใช้ยางในประเทศและส่งออกให้สมดุลกัน อนาคตอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบจะลำบาก เพราะเวลานี้นอกจากไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียที่เป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่แล้ว จีนก็มีการปลูกยางได้เองในมณฑลยูนนาน และยังมาเช่าพื้นที่ปลูกใน CLMV ขณะที่อินเดียก็เร่งขยายพื้นที่ปลูกในประเทศ ซึ่งผลผลิตจะทยอยออกมากขึ้นในทุกปีนับจากนี้ ดังนั้นตลาดจีน รวมถึงตลาดอื่นๆ จะลดการนำเข้ายางพาราจากไทยลงแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 – 28 ก.ย. 2562—