ประธานาธิบดี สปป.ลาว แนะฉงฉิ่งส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด เสนอให้ สปป.ลาวและเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ร่วมมือกันขนส่งสินค้าโดยใช้ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน โดยการใช้ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะถือเป็นการเปิดตลาดให้กับ สปป.ลาว ไปยังพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดียังขอให้ทางการฉงชิ่งสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของ สปป.ลาว รวมถึงการเข้ามาลงทุนยัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ด้าน Yuan Jiajun ผู้ว่าการมณฑลฉงฉิ่งกล่าวเสริมว่าความสำเร็จในความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และเทศบาลนครฉงชิ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือทวิภาคีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้การรถไฟฯ ได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปแล้วกว่า 600,000 เมตริกตัน รวมถึงขนส่งสินค้านำเข้ากว่า 510,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ตามรายงานจาก China Railway Kunming Group

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_President119.php

คาด “Belt and Road Initiative” ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว

โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ สปป.ลาว กล่าวโดยรองประธานรัฐสภา นาง Sounthone Xayyachack และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for Land-Sea Interconnected Development ซึ่งได้จัดขึ้น ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการ Belt and Road Initiative มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ สปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการด้านการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ทั้งในแง่ของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Belt96.php

ประชาชนเข้าใช้บริการรถไฟข้ามแดนระหว่าง สปป.ลาว-จีน เพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว กล่าวว่า มีผู้คนมากกว่า 4,300 คน เดินทางข้ามพรหมแดนโดยใช้รถไฟสาย สปป.ลาว-จีน บนเส้นทางระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิง ในช่วงระหว่างวันที่ 13-23 เม.ย.

โดยในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นชาวจีนจำนวน 2,086 คน เดินทางไปยัง สปป.ลาว ซึ่งรถไฟสายดังกล่าวให้บริการเส้นทางข้ามพรหมแดนระยะทางรวมกว่า 1,035 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้โดยสารที่เดินทางจาก สปป.ลาว ไปยังจีนต้องได้รับวีซ่าจีนก่อนออกเดินทาง สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยหนังสือเดินทางราชการไม่จำเป็นต้องได้รับวีซ่า แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงที่ตนสังกัด ซึ่งเส้นทางดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านแดน และคาดว่าจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าต่อไปในอนาคต ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 831,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากไทย เวียดนาม จีน และเกาหลีใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten87_More_y23.php

นายกฯ สปป.ลาว เล็งดึงเม็ดเงินลงทุนเพิ่มจากจีน

นายกฯ สปป.ลาว ได้ร้องขอความร่วมมือจากผู้นำมณฑลยูนนาน ในการส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติจีนเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น โดยกล่าวขึ้นในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ซึ่งคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างระหว่างประเทศ ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว เนื่องจากมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน ซึ่งในปี 2021 มีบริษัทจีนกว่า 300 แห่ง แสดงความสนใจที่จะลงทุนในภาคการเกษตรและป่าไม้ใน สปป.ลาว โดยคาดว่าเงินลงทุนรวมจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจัยสนับสนุนในด้านต่างๆ ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี 2018-2022 มีมูลค่ารวมถึง 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.63 ต่อปี ในแง่ของการลงทุนระหว่างประเทศจีนก็ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ด้วยมูลค่าการลงทุนของจีนในเขตสัมปทานและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมูลค่าถึง 13.67 พันล้านดอลลาร์ กระจายอยู่ใน 921 โครงการ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten64_PM_y23.php

สปป.ลาว ลงนาม MoU เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางผ่านแดน

บริษัทของทั้ง สปป.ลาว และไทย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจไตรภาคี (MoU) ซึ่งได้ลงนาม ณ เวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟระหว่าง สปป.ลาว-ไทย และ สปป.ลาว-จีน โดยข้อตกลงนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Multimodal Logistics, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pan-asia Silk Road และประธานบริษัท Kaocharoen Train Transport ซึ่ง LNR จะประสานงาน อำนวยความสะดวก ซึ่งตั้งเป้าหมายในการขนส่งทุเรียนและผลไม้อื่นๆ อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเดือน จากไทยไปยังตลาดจีน โดยหลังจากทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ความต้องการทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 417,400 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 256.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 647,700 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 320

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten57_Deal_y23.php

รถไฟไทยในฝันเชื่อม4ประเทศ ลาว-จีน(คุนหมิง)-มาเลย์-สิงคโปร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ร่วมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รมว.โยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน (ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์) รวมทั้งร่วมทดลองนั่งรถไฟลาว-จีน เส้นทางนครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม. ทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เริ่มงานก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 แต่เดิมวางเป้าหมายเปิดบริการในปี 66 จนถึงขณะนี้ได้ผลงานก่อสร้าง 15.49% ทั้งนี้ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/1562449/

ไทย-สปป.ลาว เดินหน้าเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมหารือกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่ง การค้าการลงทุนของสปป.ลาว เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยมี น.ส.จิรัสยา พีรานนท์ อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมร่วมกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมสำคัญที่ทั้งประเทศไทย และ สปป.ลาว เห็นชอบร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดย นายอนุทิน กล่าวชื่นชมรัฐบาล สปป.ลาว ต่อการเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว–จีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิง ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่าง สปป.ลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/182029

บริษัทขนส่งเร่งเจรจาขอจีนขยายเส้นทางเดินรถไฟเชื่อมมายังกัมพูชา

บริษัทขนส่งในกัมพูชากว่า 30 แห่ง ร่วมกับสมาชิกของสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชา เร่งเจรจาค้นหาความเป็นไปได้สำหรับการให้บริการด้านการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนและกัมพูชา ที่เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และไทย โดยมีคณะผู้แทนจากเวียดนาม ไทย และ สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงระหว่างจีน เวียดนาม สปป.ลาว ไทย และกัมพูชา ในหัวข้อใน ASEAN Trans-Rail Link ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับภาคการขนส่ง เพราะหากโครงการเกิดขึ้นจริงจะช่วยเสริมการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าจากกัมพูชาไปยังจีน ในขณะที่ปัจจุบันการขนส่งทางน้ำระหว่างกัมพูชาและจีน ใช้เวลาระหว่าง 10 ถึง 15 วัน ในขณะที่รถไฟปัจจุบันของกัมพูชาวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดจำกัดอยู่ที่เพียง 30 กม. ต่อชั่วโมง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501099313/logistics-firms-seek-china-cambodia-train-connection/

บริษัท รถไฟลาว-จีน จำกัด (LCRC) ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

บริษัท รถไฟลาว-จีน จำกัด (LCRC) ได้สรุปปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขเกี่ยวกับการดำเนินงานรถไฟ โดยประเด็นดังกล่าวกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาในระหว่างการเยือนของรองนายกรัฐมนตรี ดร.โซนเซย์ สิปันโดน หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือความจำเป็นในการเร่งการอนุมัติการนำเข้าสินค้าปลอดภาษีที่ LCRC ต้องการ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขอให้ธนาคารแห่ง สปป. ลาวจัดให้มีการขายตั๋วรถไฟ ค่าขนส่ง และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ชำระเป็นสกุลเงินต่างประเทศให้เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนของตลาด นับตั้งแต่รถไฟเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนธันวาคม ผู้คนมากกว่า 113,800 ได้เดินทางโดยรถไฟ ในแต่ละวันมีผู้เดินทางอย่างน้อย 1,700 คน ในขณะที่บางวันมีจำนวนเกิน 2,800 คน สร้างรายได้มากกว่า 12 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 21 พันล้านกีบ นอกจากนี้ทางรถไฟยังมีการขนส่งสินค้ามากกว่า 139,000 ตัน สร้างรายได้มากกว่า 48 ล้านหยวน (86 พันล้านกีบ)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Rail28.php

การรถไฟฯ ‘เวียดนาม’ แนะส่งเสริมบริการโลจิสติกส์

ในเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว การรถไฟเวียดนาม (VNR) ได้เพิ่มการเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟใหม่จากเวียดนามไปยังเบลเยียม โดยออกเดินทางจากสถานีเยนเวียน (Yen Vien) กรุงฮานอย ไปยังเมืองลีเอเจ้ (Liege) ที่ประเทศเบลเยียม ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ เวียดนามกำลังเร่งเปิดบริการรถไฟบรรลุสินค้าจากเวียดนาม-จีน-รัสเซีย-ยุโรป-อาเซียน-กลุ่มประเทศแถบเอเชียกลาง เพื่อรองรับการให้บริการโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ นาย Vu anh Minh หัวหน้าการรถไฟเวียดนาม กล่าวว่าการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านทางรถไฟ ใช้เวลาราว 18-20 วัน ในขณะที่การขนส่งทางทะเล ใช้เวลาราว 40-45 วัน และได้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันสำหรับการขนส่งทางรถไฟ โดยเฉพาะสินค้าที่เหมาะสมกับสภาพการจัดเก็บที่ดีและจัดส่งได้รวดเร็ว ตลอดจนธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันหันมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์แทนการขนส่งทางทะเลมากขึ้น อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟในเวียดนามอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก ทำให้ความสามารถในการขนส่งอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1141763/vnr-should-seek-ways-to-promote-logistics-services.html