เวียดนามเผยเดือนพ.ย. ส่งออกเหล็กพุ่ง

ข้อมูลจากสมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) รายงายว่ายอดส่งออกเหล็กของเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.52 จากช่วงเดียวกันเดือนก่อน และร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยปริมาณมากกว่า 478,300 ตัน ในขณะที่ การผลิตเหล็กทุกชนิดสูงถึง 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็ก ยอดขายและการส่งออก ยังคงอยู่ในระดับทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะการผลิตเหล็กในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับยอดขายลดลงราวร้อยละ 1 และการส่งออกลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ เศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ขณะเดียวกัน การดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้าและการบริโภค ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันตลาดเหล็กไปข้างหน้า

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/steel-exports-surge-in-november/193498.vnp

เวียดนามก้าวเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่อันดับที่ 6 ไปสหราชอาณาจักร

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ อันดับที่ 6 ไปยังตลาดสหราชอาณาจักร (UK) มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของส่วนแบ่งการตลาดนำเข้า เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ซึ่งเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในระยะเวลา 5 ปีจากภาษีปัจจุบันร้อยละ 2-10 ทั้งนี้ ความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้ของเวียดนามมีอยู่สูง เนื่องจากเทรนด์ของสินค้าดังกล่าวขายได้ดีในตลาดสหราชอาณาจักร สาเหตุสำคัญมาจากมีความสามารถทางด้านราคาในระดับสูงและเป็นสินค้าคุณภาพดี

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-becomes-sixth-largest-furniture-exporter-to-the-uk-825611.vov

เวียดนามนำเข้ารถยนต์เดือนพ.ย. ลดลง 11%

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 12,237 คัน เป็นมูลค่า 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นำเข้าจากไทย อินโดนีเซียและจีน มีจำนวน 5,927 , 3,823 และ 1,204 คัน ตามลำดับ ในขณะที่ ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 92,261 คัน ลดลงร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตามตัวเลขสถิติของสำนักงานข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าในเดือนพฤศจิกายน เวียดนามนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นมูลค่า 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเกาหลีใต้ 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาไทย 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ญี่ปุ่น 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 36,359 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยจำนวนทั้งหมด 246,768 คัน

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-car-imports-down-11-in-november-315439.html

โควิด-19 ทุบอุตสาหกรรมการบินของเวียดนาม ทรุดหนัก

ตามรายงานของสำนักการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ระบุว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังทั่วโลกและสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง ทำให้จำนวนผู้โดยสารในปีนี้ทรุดลงหนัก โดยในปี 2563 สายการบินเวียดนามรองรับจำนวนเที่ยวบิน 340,000 เที่ยวบิน หดตัวร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขประมาณการผู้โดยสารในปีนี้ อยู่ที่ 66 ล้านคน ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 43.5 ทั้งนี้ ในปี 2564 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อยังคงร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการสายการบินในประเทศและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินขั้นตอนขององค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการสายการบินแห่งชาติ ‘Vietnam Airlines’ รวมถึงสายการบินเอกชน ‘Vietjet’ และ ‘Bamboo Airlines’ ได้ร้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาลและการกู้เงินรีไฟแนนซ์ โดยสายการบินดังกล่าว ประเมินถึงสถานการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2566 อย่างเร็วที่สุด

ที่มา : http://hanoitimes.vn/covid-19-takes-a-heavy-toll-on-vietnam-aviation-industry-in-2020-315448.html

‘แบงก์ชาติ’ โต้สหรัฐ เวียดนามบิดเบือนค่าเงิน

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) แถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ว่าการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการเงินแบบทั่วไป มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และไม่สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลข้างต้นนั้น เพื่อโต้กระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ระบุว่าเวียดนามกับสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน ทั้งนี้ ทางธนาคารกลางเวียดนาม เปิดเผยว่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง อีกทั้ง ประเด็นในการการเข้าซื้อสกุลเงินต่างชาติ ธนาคารกลางเวียดนามมีเป้าหมายเพื่อให้ตลาดเงินตราต่างประเทศมีความราบรื่น มีส่วนช่วยในการรักษาเสียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและการสำรองเงินตราต่างประเทศ

  ที่มา : https://vietreader.com/business/27250-vietnam-rejects-currency-manipulator-label.html

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283

อุตสาหกรรม ICT ของเวียดนาม ทำรายได้ราว 126 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) เปิดเผยว่าจำนวนธุรกิจเวียดนามที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) มีทั้งสิ้น 45,500 ราย รวมถึงบริษัทลงทุนจากต่างชาติ ที่ทำรายได้รวมประมาณ 126 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เวียดนามติด 1 ใน 20 ประเทศที่ใช้ถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ประมาณ 68.17 ล้านคน (70% ของประชากรรวม) ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ร้อยละ 94 ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ ใช้งานเฉลี่ยสูงสุด 6 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่จำเป็นกับทุกคนและชาวเวียดนามมองเห็นประโยชน์ในการใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากอินเทอร์จะก้าวข้ามเข้าสู่ระบบนิเวศเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ของเวียดนามอยู่ที่ 86 ดีขึ้น 2 อันดับ และได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและโลก ขณะที่ ปัจจุบัน ผลการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่อันดับที่ 6 รองจากฟิลิปปินส์ บรูไน ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/27149-vietnam-ict-industry-reaches-estimated-us126-billion-revenue-in-2020.html

เวียดนามเผยยอดขายรถยนต์เดือนพ.ย. บรรลุเป้าหมายการขายของปี

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์เดือนพ.ย. มีทั้งสิ้น 36,359 คัน นับว่าสูงที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม โดยตัวเลขยอดขายข้างต้นนั้น สูงกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 22 ส่งผลให้เดือนพ.ย. เป็นเดือนที่ 3 ที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการขายในปีนี้ หลังจากเดือนก.พ. และต.ค. อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัส ส่งผลให้ยอดขายดิ่งลงในเดือนอื่นๆ ทั้งนี้ รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนร้อยละ 79 ของยอดขายทั้งหมด ในขณะที่ รถยนต์เชิงพาณิชย์มีสัดส่วนราวร้อยละ 20 และรถที่มีวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับส่วนที่เหลือ นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากในเดือนเม.ย. และสิ.ค. ได้รับความเสียหายจากการระบาดครั้งใหญ่

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/november-auto-sales-achieve-year-record-4207319.html