กัมพูชา-เวียดนาม ตัวเลือกลงทุนแทนเมียนมา

ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อในเมียนมาขณะนี้ ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มคิดที่จะถอนการลงทุนออกจากประเทศนี้ ขณะที่มีบริษัทบางแห่งประกาศยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพให้เห็นบ้างแล้ว และหันไปมองประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่าอย่างกัมพูชาและเวียดนาม ข้อมูลจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ระบุว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ)ที่ไหลเข้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว 6.3% ในปี 2562 โดยเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ1 ในแง่ของมูลค่าการลงทุนที่ 16,100 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา เคยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเอฟดีไอสูงสุดที่ 55.9% แต่เมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1ก.พ.ที่ผ่านมา กระแสเอฟดีไอในเมียนมาก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย

ทั้งนี้ ฟิลด์ พิคเกอริง หัวหน้าหน่วยงานด้านการลงทุนจากวัลเพส อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมน กล่าวว่าความไม่สงบเรียบร้อยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเมียนมาอาจเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และเข้าไปสร้างธุรกิจให้เติบโตในดินแดนอื่นภายในภูมิภาคอาเซียน เท่ากับว่าเป็นความสูญเสียของเมียนมาแต่เป็นการได้ประโยชน์ของประเทศอื่นๆในภูมิภาคแทน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925213

อาเซียนเตรียมจัดประชุมพรุ่งนี้ หารือวิกฤตการเมืองเมียนมา

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เตรียมจัดการประชุมพิเศษในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในเมียนมา การประชุมดังกล่าวถือเป็นการประชุมครั้งแรกของอาเซียน นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนต่างแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม ขณะที่มีการเชิญนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนอาจเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ขณะที่บางส่วนอาจเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ การประชุมดังกล่าวมีขึ้น หลังมีการจัดการเจรจา 3 ฝ่ายที่กรุงเทพฯ ระหว่างนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา, นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางด้านนายฮิชแชมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า อาเซียนควรมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา นอกจากนี้ นายฮิชแชมมุดดินยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรง หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงการก่อรัฐประหารในเมียนมาถึง 18 รายเมื่อวานนี้ “เรามีความกังวลต่อการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในเมียนมา” นายฮิชแชมมุดดินกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนบูรไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2021/68604

โพลชี้ถึงจุดต้องเลือกข้าง ‘อาเซียน’ หนุนสหรัฐ มากกว่าจีน

ผลจากการสำรวจความคิดเห็นประจำปีซึ่งจัดทำโดยสถาบัน ISEAS Yusof-Ishak ของสิงคโปร์ ชี้ว่า ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ตอบแบบสำรวจ 61.5% เห็นด้วยกับการสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากกว่าจีน ในกรณีที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนถูกบีบบังคับให้เลือกข้าง ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 53.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเด็นเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 76.3% ยอมรับว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 49.1% มีความเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านการเมืองและยุทธศาสตร์มากที่สุด ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจกว่า 1,000 คนจากทั้ง 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยผู้ตอบแบบสำรวจมีทั้งกลุ่มเจ้าพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจ รวมไปถึงนักวิเคราะห์จากแวดวงวิชาการ คลังสมอง และสถาบันวิจัยอีกมากมาย 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/922856

การส่งออกเวียดนาม ปี 63 เติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ‘เจโทร’ (JETRO) เปิดเผยว่าภาวะการส่งออกของ 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม หดตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 ด้วยมูลค่าการส่งออกรวมที่ 1.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เจโทรระบุว่าการส่งออกของเวียดนามไปยังญี่ปุ่น ลดลง 5.2% แต่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25.7% และจีน 18% อย่างไรก็ตาม การเกินดุลการค้าของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ และการที่เวียดนามเข้ามาแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ชี้ว่านับเป็นครั้งแรกของเวียดนามที่เป็นประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน นอกจากนี้ เมื่อแยกเป็นประเทศในอาเซียน พบว่าไทยเกินดุลการค้าพุ่ง 144.5% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่เพิ่มขึ้น 83.5%, สิงคโปร์ 43.9% และมาเลเซีย 25.6%

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-records-impressive-export-growth-in-2020/196297.vnp

พาณิชย์เผยกัมพูชาปิดท้ายร่วม FTA อาเซียน-ฮ่องกงมีผลครบทุกชาติ 12 ก.พ.

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN – Hong Kong Free Trade Agreement : AHKFTA) มีผลบังคับใช้ระหว่างฮ่องกงและประเทศสมาชิกอาเซียนบางส่วน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยกัมพูชา เป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ จึงได้แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าพร้อมที่จะเริ่มใช้ความตกลง AHKFTA แล้ว ซึ่งการดำเนินการของกัมพูชา จะส่งผลให้ความตกลง AHKFTA มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์กับทุกประเทศสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง มีมูลค่า 13,298 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก มูลค่า 11,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า มูลค่า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และข้าว สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย เงินแท่งและทองคำ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/64964

ชูโมเดลบีซีจีทางรอดบนเวทีท่องเที่ยวอาเซียน

นาย​พิพัฒน์​ รัช​กิจประการ​ รมว.​การ​ท่องเที่ยว​และ​กีฬา​ เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าผู้แทนประเทศไทย​ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า ประเทศไทยเห็นด้วยกับการทบทวนถึงวาระของแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวอาเซียน ปี 64-68 เพื่อให้แผนงานมีความทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการจัดลำดับและให้ความสำคัญกับกิจกรรมและโครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกอย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนประสบผลสำเร็จ และเพื่อความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียนในระยะยาว “จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในวงกว้างมากที่สุด ทำให้ไทยทบทวนว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ทรัพยากรสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากร โดยใช้งบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหา อีกทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะทำมากได้น้อย เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้วันนี้ไทยได้พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า บีซีจี เพื่อแก้ปัญหา จึงถึงเวลาแล้วที่การท่องเที่ยวของอาเซียนต้องเริ่มต้นใหม่กับรูปแบบใหม่ และวิถีใหม่ เหมือนเป็นการเซตซีโร่เพื่อการท่องเที่ยวที่ดีกว่าเดิม”

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/823332

เปิดทิศทางความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ปี 2021

ความร่วมมือ “จีน-อาเซียน” ในปี 2021 เปิดโอกาสใหม่ในการปรับปรุงรวมทั้งยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน และการขยายความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับความร่วมมือจีน – อาเซียนจะดำเนินไปอย่างไรในปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) ตอนที่ ๑ เช่น ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “ภายใต้สถานการณ์ใหม่จีนถือว่าอาเซียนเป็นทิศทางลำดับความสำคัญของการทูตเพื่อนบ้านและการก่อสร้างร่วมกันที่มีคุณภาพสูงของพื้นที่สำคัญ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (ข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” “Belt and Road Initiative : BRI) สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนสนับสนุนตำแหน่งศูนย์กลางของอาเซียนในความร่วมมือเอเชียตะวันออกและ สนับสนุนอาเซียนในการสร้างโครงสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุมมีบทบาทมากขึ้น” และ “จีนจะขยายการเปิดสู่โลกภายนอกอย่างไม่หยุดยั้ง เพิ่มผลการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศและขับเคลื่อนการฟื้นตัวร่วมกันของโลกด้วยการฟื้นตัวของตนเองและทุกประเทศในโลกรวมทั้งอาเซียนจะได้รับประโยชน์” เป็นต้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/columnist/467241

“สุชาติ”ชี้ไทยเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าทุกประเทศในอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจริญเติบโต คือ (1) รัฐบาลมาจากเผด็จการทำให้ขาดความเชื่อมั่น จึงไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง ที่มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรมเป็นที่ตั้งด้วยเหตุนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้ย้ายหนีจากประเทศไทย ไปประเทศที่มีระบบการปกครองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เป็นต้น (2) มาตรการทางการเงิน ที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก มาตรการด้านการเงินแบบล้าหลัง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) จนต่ำเกินไปมาก หลายครั้งติดลบ ประชาชนและเอกชน ค้าขายไม่ได้กำไร หลายแห่งขาดทุน จนต้องลดการผลิต (ซึ่งลดรายได้หรือ GDP ลงด้วย) ดูได้จากการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของไทย ปี 2563 (Capacity utilization rate) เพียง 66% เกือบต่ำที่สุดในโลก และ(3) พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้การแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลกลาง กทม.และจังหวัด สั่งปิดสถานที่ต่างๆ

ที่มา  https://www.posttoday.com/politic/news/643895

พัฒนาการของไทย สู่ ‘ฮับ’ ยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

ยานยนต์ไฟฟ้า ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างจริงจังในประเทศไทยเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะ “อุตสาหกรรมใหม่” และในฐานะ “หนทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ของประเทศ หลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่เฉพาะแต่เพียงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย แตกแขนงออกไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรถบัสโดยสาร รถตุ๊กตุ๊ก รถขนาดเล็ก 4 ที่นั่งสำหรับใช้งานในเมือง บริการเช่ารถไฟฟ้า แอพพลิเคชั่นสำหรับเช่ารถไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงเรือใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว โดยทั้งหมดนั่นเริ่มต้นจากพื้นฐานของการเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น” ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในเวลานี้ “โรดแม็ป” ของไทยในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ราวร้อยละ 30 ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศในปีหนึ่งๆ หรือราว 750,000 คัน ต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าภายในสิ้นทศวรรษนี้ จัดสรร “แรงจูงใจ” เชิงภาษีให้เพื่อดึงดูดบรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ให้เข้ามาร่วมอยู่ในโครงการนี้

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/column/article_390875

บรูไนเจ้าภาพประชุมอาเซียนนัดแรก ผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์ ฟื้นฟู-ดิจิทัล-ยั่งยืน

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยประเทศบรูไนดารุสซาลาม ทำหน้าที่ประธานอาเซียน บรูไน ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ภายในปี 2564 จำนวน 10 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการฟื้นฟู 2.ด้านการเป็นดิจิทัล และ 3.ด้านความยั่งยืน  สำหรับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมมาตราการค้าเสรี การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา 2. ด้านการเป็นดิจิทัล จัดทำแผนงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน 3. ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม  ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3191228